รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามเปลี่ยนผ่านประเทศไปใช้พลังงานหมุนเวียน 50 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2573 และจะใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ภายในปี 2593 ที่ผ่านมาญี่ปุ่นพึ่งพาพลังงานแสงอาทิตย์เป็นส่วนใหญ่มาโดยตลอด แต่ในช่วงหลายปีมานี้ ญี่ปุ่นหันไปลงทุนกับพลังงานลมมากขึ้น

จากสถิติที่ผ่านมา ญี่ปุ่นเจอพายุไต้ฝุ่นและพายุฤดูร้อนประมาณ 26 ลูกต่อปี อีกทั้งนักอุตุนิยมวิทยายังคาดการณ์ว่า ญี่ปุ่นจะต้องเผชิญกับพายุที่รุนแรงและถี่มากขึ้นจากภาวะโลกร้อน ซึ่งพายุเหล่านี้เป็นอุปสรรคในการเก็บกักพลังงานลม เนื่องจากกังหันลมทำงานไม่ได้ภายใต้พายุที่รุนแรง

Atsushi Shimizu ก่อตั้งสตาร์ตอัพ Challenergy ขึ้น หลังจากเกิดเหตุโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ระเบิดที่ฟุกูชิมะเมื่อปี 2554 เพื่อแสวงหาพลังงานหมุนเวียนแบบใหม่ และคิดค้นกังหันลมแบบใหม่ที่ทำงานได้ดี แม้อยู่ท่ามกลางพายุรุนแรง ซึ่งยิ่งทำให้ได้พลังงานลมมากขึ้นไปอีก พายุไต้ฝุ่นในปัจจุบันจึงไม่ใช่ภัยพิบัติทางธรรมชาติเท่านั้น แต่กลายเป็นแหล่งพลังงานธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ กังหันลมโดยทั่วไปจะมีใบพัดยักษ์ยาวหลาย 10 เมตร เมื่อเจอพายุ ใบพัดก็หมดประโยซน์ ทำงานไม่ได้ แต่กังหันลม ‘Magnus Vertical Axis Wind Turbine’ ของ Challenergy แทนที่จะมีใบพัดยื่นยาวออกไปในแนวนอน กลับมีใบพัดที่หุบเข้ามา เหมือนดอกไม้ที่บานออกเล็กน้อย ใบพัดทั้ง 4 ใบจะหมุนในแนวตั้งด้วยแรงลมพายุ ด้วยฐานแข็งแรงเหมือนหอคอย ทำให้ใบพัดยืนหยัดสู้แรงพายุและตักตวงพลังงานลมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากญี่ปุ่นแล้ว จีน ไต้หวัน และฟิลิปปินส์ มักประสบกับพายุไต้ฝุ่นลูกใหญ่บ่อยครั้ง ที่ผ่านมาบริษัท Challenergy สร้างกังหันลมใบพัดแนวตั้งที่เกาะอิชิงากิ ส่วนหนึ่งของเกาะโอกินาวะทางใต้สุดของประเทศญี่ปุ่น เมื่อเดือนสิงหาคม 2564 บริษัทสร้างหอคอยกังหันลมขนาด 10 กิโลวัตต์บนหมู่เกาะบาตาเนส ประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อใช้ประโยชน์จากพลังงานลมจากพายุ แล้วยังดึงพลังงานแสงอาทิตย์และแบตเตอรี่เก็บพลังงานมาใช้ร่วมด้วย เพื่อให้การจ่ายไฟมีความเสถียรยิ่งขึ้นในอนาคต


Credit: Challenergy