Grid Brief

  • ของใกล้ตัวในชีวิตประจำวันหลายอย่างสามารถนำไปรีไซเคิลเพื่อใช้งานใหม่ เช่น กระดาษหนังสือพิมพ์ ขวดพลาสติก แม้กระทั่งถุงพลาสติกอาหารสัตว์ที่ปัจจุบันนำมาทำเป็นบล็อกปูพื้นได้
  • การนำของเก่ากลับมาใช้ใหม่เป็นวิธีช่วยประหยัดพลังงานในการผลิตใหม่ได้ดีที่สุด อีกทั้งยังประหยัดทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งแก้ปัญหาเรื่องการฝังกลบ การเผา และการทิ้งขยะลงทะเลได้อีกด้วย

ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า แต่ละปีในสหรัฐอเมริกามีหนังสือพิมพ์อย่างน้อย 10 ล้านตันที่แปรสภาพกลายเป็นขยะ  ในขณะที่ต้นไม้ราว 75,000 ต้นนั้นถูกนำไปใช้ผลิตนิตยสาร Sunday New York Times เพียงแบรนด์เดียวเท่านั้น

ข้อเท็จจริงดังกล่าว ทำให้เราตระหนักถึงความสำคัญของการรีไซเคิลสิ่งของบางอย่าง แทนที่จะทิ้งลงถังเมื่อใช้งานเสร็จ แต่หากใช้เวลาพินิจพิเคราะห์สักนิด ของเหล่านั้นอาจนำไปรีไซเคิลเพื่อใช้งานได้ใหม่ ลองมาสำรวจกันว่า ของใกล้ตัวในชีวิตประจำวันมีสิ่งไหนที่ควรเก็บไปรีไซเคิลต่อได้บ้าง  

Credit: AbsolutVision 

กระดาษหนังสือพิมพ์

กระดาษหนังสือพิมพ์เป็นหนึ่งในวัสดุที่นำไปรีไซเคิลได้ง่ายที่สุด และยังช่วยประหยัดพลังงานการผลิตหนังสือพิมพ์ฉบับใหม่ได้ถึง 60% ซึ่งขั้นตอนของการรีไซเคิลกระดาษหนังสือพิมพ์เริ่มตั้งแต่การกำจัดหมึกพิมพ์ออกและตีกระดาษให้เปื่อยยุ่ยจนกลายเป็นเยื่อกระดาษ

อย่างไรก็ตาม ข้อดีของกระดาษหนังสือพิมพ์คือนำไปรีไซเคิลได้หลายครั้ง เพราะสามารถเติมเยื่อกระดาษใหม่เข้าไปเพิ่มได้ หากรีไซเคิลจนเหลือเยื่อกระดาษบาง ๆ แล้ว โดยสัดส่วนของเยื่อกระดาษรีไซเคิลกับเยื่อกระดาษใหม่จะมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับประเภทของกระดาษที่จะผลิต 

นอกจากนี้ กระดาษหนังสือพิมพ์ในปัจจุบันยังนิยมนำไปประดิษฐ์เป็นชิ้นงานดีไซน์และเฟอร์นิเจอร์ในบ้านที่ใช้งานได้จริงด้วย เช่น เก้าอี้ โต๊ะ แจกัน ของตกแต่งบ้าน เป็นต้น 


Credit: SCG News Channel

กล่องพัสดุและลังกระดาษ

ในยุคที่หลายคนหันมาช็อปปิ้งออนไลน์ โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้หลายบ้านเต็มไปด้วยกล่องพัสดุและลังกระดาษมากมาย แต่เชื่อไหมว่า เจ้ากล่องขยะเหล่านี้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ อาทิ นำไปแปรรูปเป็นเตียงกระดาษสำหรับรองรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในโรงพยาบาลสนาม หรือทำเป็นโต๊ะ เก้าอี้ เฟอร์นิเจอร์ ฯลฯ  

ทั้งนี้ กล่องพัสดุและลังกระดาษเหล่านี้ หากไม่นำไปรีไซเคิ จะต้องถูกกำจัดทิ้งด้วยการเผาหรือฝังกลบ แต่เมื่อนำไปรีไซเคิลจะช่วยประหยัดพื้นที่ฝังกลบได้มากกว่า 9 ลูกบาศก์หลา และประหยัดพลังงานในการผลิตกล่องกระดาษใหม่ 24% 


Credit: Teslariu Mihai 

ขวดพลาสติก

ขวดพลาสติก PET (Polyethylene Terephthalate) หรือโพลีเอทิลีน เทเรฟทาเลต เป็นวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่นิยมใช้บรรจุเครื่องดื่ม ข้อดีของพลาสติก PET คือนำกลับมาผลิตซ้ำใหม่ และแปรสภาพให้เป็นผลิตภัณฑ์ได้หลากหลายประเภทที่นอกเหนือไปจากขวดน้ำดื่ม เช่น แปรสภาพเป็นใยสังเคราะห์สำหรับผลิตเสื้อผ้า แผ่นกรอง ผ้าบุเฟอร์นิเจอร์ พรม ตลอดจนบรรจุภัณฑ์ในรูปแบบต่าง ๆ

ในสหรัฐอเมริกาพบว่า มีการทิ้งขวดพลาสติกจำนวน 2.5 ล้านขวดในทุกชั่วโมง ขณะที่ประเทศไทยผลิตขวดพลาสติก PET เพื่อใช้ภายในประเทศสูงถึง 185,000 ตัน เมื่อ พ.ศ. 2560 และมีขวดจำนวนไม่ถึงครึ่งที่ถูกนำมาเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างเหมาะสม ส่วนที่เหลือนั้นจะถูกนำไปฝังกลบ และบางส่วนก็ถูกทิ้งลงในทะเล 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากขวดพลาสติกทำมาจากน้ำมันดิบ การรีไซเคิลขวดพลาสติก 1 ตัน จึงช่วยประหยัดน้ำมันได้มากถึง 159.11 ลิตร และยังช่วยประหยัดพื้นที่ฝังกลบขยะได้สูงถึง 5.7 ลูกบาศก์เมตร


กระป๋องอะลูมิเนียม

กระป๋องเครื่องดื่มจำนวนมากทำมาจากอะลูมิเนียม ซึ่งเป็นโลหะสีขาว น้ำหนักเบา และมีคุณสมบัติช่วยซึมซับความเย็น กระป๋องอะลูมิเนียมเมื่อใช้งานแล้วนำไป รีไซเคิลต่อได้ โดยโรงงานรีไซเคิลจะนำไปผลิตเป็นกระป๋องใหม่ได้แทบนับครั้งไม่ถ้วนเลยทีเดียว 

โดยกระป๋องอะลูมิเนียมเมื่อถูกส่งเข้าโรงงานรีไซเคิลแล้ว จะถูกบดให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วหลอมด้วยความร้อนเพื่อให้เป็นแท่งแข็ง เมื่อได้อะลูมิเนียมแท่งจะถูกนำไปรีดให้เป็นแผ่นแบน ๆ บาง ๆ เพื่อส่งต่อไปยังโรงงานผลิตกระป๋องสำหรับนำกลับมาใช้ใหม่ หรือการรียูสเป็นกระป๋องอะลูมิเนียมใบใหม่

การรีไซเคิลกระป๋องอะลูมิเนียมจะทำให้ประหยัดพลังงานความร้อนได้ถึง 20 เท่า และช่วยลดมลพิษทางอากาศได้สูงถึง 95% ของการผลิตกระป๋องใหม่


Credit: Green Road

ถุงอาหารสัตว์

พลาสติกจำนวนมากสามารถนำไปรีไซเคิลเพื่อใช้งานต่อได้ แต่ถุงพลาสติกอาหารสัตว์จำนวนมากนั้นกลับไม่สามารถรีไซเคิลได้ เพราะผู้ผลิตนิยมใช้พลาสติกผสมหลายชนิด ทำให้นำไปรีไซเคิลได้ใหม่ได้ยาก อาทิ ใช้โพลีโพรพีลีน กระดาษแข็งโพลีเอสเตอร์ และโพลีเอทิลีน เพื่อให้บรรจุภัณฑ์มีความทนทานและน้ำหนักเบาในการบรรจุอาหารเม็ด 

ทว่า ล่าสุดทางศูนย์เรียนรู้โรงไฟฟ้าขนอมสามารถรีไซเคิลขยะถุงพลาสติกจากอาหารแมวได้สำเร็จ และเปิดรับบริจาคถุงอาหารแมวในโครงการที่ชื่อว่า Green Road เพื่อนำไปทำบล็อกปูพื้นที่ผลิตจากถุงอาหารแมวรีไซเคิล 100% และไม่ใช้ขยะพลาสติกประเภทอื่นผสมเลย 

Credit: Green Road

การรีไซเคิลถุงอาหารแมวจะใช้วิธีบดย่อยพลาสติกให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ ขนาดประมาณ 2.5 ซ.ม. จากนั้นเทลงในเครื่องหลอมขยะพลาสติก (Extruder Machine) ที่อุณหภูมิ 200 – 220 องศาเซลเซียส เมื่อถุงพลาสติกหลอมละลายดีแล้ว จะใส่ลงในแม่พิมพ์เหล็กรูปแมว อัดให้แน่นด้วยเครื่องอัดไฮดรอลิก ทิ้งไว้ให้บล็อกเย็นตัว จึงแกะแม่พิมพ์เหล็กออก แล้วจึงนำบล็อกไปใช้งานต่อ 

สำหรับบล็อกแมวรักษ์โลก 1 ตัว สามารถกำจัดขยะพลาสติกได้ 4.4 ก.ก. (ใช้ถุงอาหารแมว 44 ถุง) หากต้องการต่อ 1 ตร.ม. จะต้องใช้ถุงอาหารแมวถึง 44 ก.ก.

ร่วมบริจาคถุงอาหารแมวได้ที่ : โครงการกรีนโรด 148/3 หมู่ที่ 19 ต.มะเขือแจ้ อ.เมือง จ.ลำพูน 51000 โทร. 08-8684-3104 หรือเพจ : GREEN ROAD