Grid Brief

  • วงการแฟชั่นมักถูกสังคมตำหนิว่า มีส่วนทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม จากการใช้ทรัพยากรในการผลิตสินค้า และการสร้างขยะจากการสวมใส่ที่ไม่คุ้มค่า
  • แบรนด์แฟชั่นหลายแบรนด์จึงหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อม ด้วยการใช้วัสดุที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแทนการผลิตขึ้นใหม่
  • การผลิตเครื่องแต่งกายได้ก้าวล้ำไปด้วยเทคโนโลยี Spray-on fabric ที่ทำขึ้นจากเสื้อผ้าที่ถูกทิ้ง นำไปรีไซเคิลให้กลายเป็นของเหลว ฉีดพ่นลงบนพื้นผิวใดก็ได้ เมื่อแห้งจะเป็นเนื้อผ้าที่สามารถใส่เป็นเสื้อผ้าได้

ว่ากันว่า อุตสาหกรรมแฟชั่นสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากเป็นอันดับ 2 ของโลก อันเนื่องมาจากการสวมใส่ไม่คุ้มค่า กลายเป็นขยะ และกระบวนการผลิตที่ต้องใช้ทรัพยากรหลายอย่าง เช่น ทรัพยากรน้ำที่ใช้ตั้งแต่กระบวนการปลูกฝ้าย การฟอกย้อม ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปยังทรัพยากรดินที่อาจได้รับสารตกค้างจากปุ๋ยและสารเคมี เป็นต้น 

Credit: econyl

นี่จึงเป็นเหตุผลให้เสื้อผ้าหลายแบรนด์ใส่ใจในด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ด้วยการพยายามหาวัสดุยั่งยืนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาทดแทนการใช้วัสดุใหม่  เช่น วัสดุรีไซเคิล หรือเนื้อผ้าที่ผลิตจากวัสดุเหลือใช้นำมาทอเป็นผ้าผืนใหม่ เพื่อช่วยลดปริมาณขยะและลดการใช้ทรัพยากรในการผลิตใหม่ เช่น Prada ใช้ Econy ไนลอนที่ทำจากพลาสติกจากท้องทะเล เช่น อวน แห เป็นต้น หรือ Stella McCartney และ Balenciaga ที่ทำกระเป๋าและเสื้อผ้าจากเส้นใยไมซีเลียม หรือขยุ้มราที่เป็นปุยใยขาว ๆ ที่อยู่ตามรากเห็ด

นอกจากนี้ ยังมีการปฏิวัติวงการแฟชั่นครั้งใหญ่ในแฟชั่นโชว์ของแบรนด์ Coperi ที่จัดในปารีสแฟชั่นวีกเมื่อต้นเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา เมื่อ Bella Hadid นางแบบชื่อดังยืนกลางแค็ตวอล์ก จากนั้น ‘นักสร้างเนื้อผ้า’ ใช้หัวฉีดสเปรย์พ่นของเหลวสีขาวใส่ตามลำตัวของเธอ เมื่อแห้งแล้วกลายเป็นกระโปรงสีขาวความยาวคลุมเข่าสไตล์มินิมัลที่แนบกับรูปร่าง

Fabrican เป็นบริษัทที่มองหานวัตกรรมแห่งอนาคตเพื่อมายกระดับวงการแฟชั่น และเป็นผู้พัฒนาเทคโนโลยีสร้างเนื้อผ้าที่มีความยั่งยืนที่เรียกว่า Spray-on fabric ทำขึ้นจากเสื้อผ้าและผ้าค้างสต๊อกที่ถูกทิ้ง แล้วนำไปรีไซเคิลให้กลายเป็นของเหลวเพื่อกรอกใส่ปืนฉีดพ่นหรืออุปกรณ์พ่นต่าง ๆ จากนั้นฉีดพ่นลงบนพื้นผิวใดก็ได้ เมื่อทิ้งไว้ให้แห้ง ของเหลวนั้นจะเปลี่ยนเป็นเนื้อผ้าที่สามารถใส่เป็นเสื้อผ้าได้ โดยไม่ต้องเสียเวลาทอเส้นใยใด ๆ และหากเบื่อแล้ว เพียงแค่นำมาละลายกับตัวทำละลาย ก็สามารถนำกลับไปพ่นเป็นเครื่องแต่งกายชิ้นใหม่ได้

 ยิ่งไปกว่านั้นวัตถุดิบของเทคโนโลยี Spray-on fabric ยังมีคุณสมบัติไม่ติดไฟและนำกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือย่อยสลายให้

กลายเป็นโมเลกุลได้ด้วยวิธีการย่อยสลายทางชีวภาพในอุตสาหกรรมที่ใช้กันโดยทั่วไป 

เทคโนโลยีฉีดพ่นสร้างเนื้อผ้านี้ทาง Fabrican คิดค้นขึ้นมาเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้ผู้คนซ่อมแซมหรือสร้างเสื้อผ้าใส่ได้เอง ช่วยยืดอายุการใช้งานของเสื้อผ้าให้ยาวนานขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยลดการผลิตวัตถุดิบใหม่ ช่วยลดขยะจากอุตสาหกรรมแฟชั่น และลดมลพิษจากการเผาและฝังกลบเสื้อผ้าที่ขายไม่ออกปีละหลายล้านตัน

Cover photo: Fabrican