Grid Brief

  • ทาลลินน์ เมืองหลวงของประเทศเอสโทเนีย ได้รับการประกาศให้เป็นเมืองหลวงสีเขียวของยุโรปประจำปี 2566
  • นับเป็นครั้งแรกที่เมืองทาลลินน์ได้รับตำแหน่งให้เป็นเมืองหลวงสีเขียวของยุโรป หลังจากเข้าร่วมประกวดมาทุกปี
  • วัว แมลงผสมเกสร และการสนับสนุนให้ชาวเมืองปั่นจักรยาน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เมืองทาลลินน์ได้รับตำแหน่งครั้งนี้

เมื่อไม่นานมานี้ “ทาลลินน์” เมืองหลวงของประเทศเอสโทเนีย ได้รับการประกาศจากคณะกรรมาธิการยุโรปให้เป็นเมืองหลวงสีเขียวของยุโรปประจำปี 2566 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่เมืองนี้เอาชนะคู่แข่งมาแรงอย่างเมืองคราคูฟ ประเทศโปแลนด์ เมืองโซเฟีย ประเทศบัลแกเรีย และเฮลซิงบอรย์ ประเทศสวีเดนได้สำเร็จ

เมืองที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้บุกเบิกด้านความยั่งยืน

ก่อนหน้านี้ชื่อของ “ทาลลินน์” เป็นที่รู้จักในฐานะเมืองท่องเที่ยวของเอสโทเนีย และเป็นเมืองเก่าที่องค์การยูเนสโกประกาศให้เป็นเมืองมรดกโลก เนื่องจากมีสถาปัตยกรรมตั้งแต่ยุคกลาง แต่นับจากปีหน้าเป็นต้นไป ชื่อของ “ทาลลินน์” จะกลายเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นในด้านของการเป็นเมืองที่มุ่งมั่นรักษาสิ่งแวดล้อม และเป็นผู้บุกเบิกด้านความยั่งยืน จนได้รับเลือกให้เป็นเมืองหลวงสีเขียวของยุโรปประจำปี 2566 ซึ่งก่อนหน้านี้เมืองที่ได้รับตำแหน่งดังกล่าว เช่น สตอกโฮล์ม ฮัมบูร์ก ออสโล และลิสบอน 

ข้อมูลจากเว็บไซต์ของคณะกรรมาธิการยุโรประบุว่า หลักในการตัดสินให้เมืองทาลลินน์ได้รับเลือกตำแหน่งมีทั้งหมด 12 เรื่อง ได้แก่ การปกป้องพื้นที่สีเขียว การลดมลพิษทางเสียง การปรับปรุงคุณภาพน้ำ การปรับปรุงคุณภาพอากาศ การจัดการด้านขยะ การรักษาธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ การใช้ที่ดินและการจัดการดินอย่างยั่งยืน การขยายตัวของพื้นที่สีเขียวและนวัตกรรมเชิงนิเวศ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ : การบรรเทาสาธารณภัย และการปรับตัวการขับเคลื่อนเมืองอย่างยั่งยืน การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และสุดท้ายคือการยึดหลักธรรมาภิบาล

สำหรับพื้นที่สีเขียวในเมืองทาลลินน์ได้เชื่อมโยงถึงกันด้วย “Pollinator Highway” หรือทางหลวงสำหรับเหล่าแมลงผสมเกสร ซึ่งมีความยาวราว 13 กิโลเมตร ตลอดเส้นทางมีต้นไม้เรียงรายเป็นแถวยาวอันแสนร่มรื่น

วัว แมลงผสมเกสร และการปั่นจักรยาน

วัว แมลงผสมเกสร และการปั่นจักรยาน เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ทาลลินน์ กลายเป็นเมืองหลวงสีเขียวของยุโรปในปี 2566 ทั้งนี้ ในปัจจุบันบริเวณชายขอบของเมืองยังเป็นพื้นที่สำหรับให้ฝูงวัวพันธุ์ Scottish Highland มาเล็มพืชในเขตอนุรักษ์ธรรมชาติ Paljassaare ซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ รวมไปถึงการขยายพื้นที่สีเขียว การสนับสนุนให้มีสวนสาธารณะ และการรักษาเขตอนุรักษ์ธรรมชาติให้ยังคงสภาพเป็นป่า เพื่อส่งเสริมให้เกิดการผสมเกสรของเหล่าแมลง ต่าง ๆ เหล่านี้ ล้วนมีส่วนช่วยสร้างระบบนิเวศธรรมชาติให้เมืองเล็ก ๆ ที่มีจำนวนประชากรเพียง  445,000 คน กลายเป็นเมืองเขียวชอุ่มและน่าอยู่อีกแห่งหนึ่งของยุโรป

สำหรับพื้นที่สีเขียวในเมืองทาลลินน์ได้เชื่อมโยงถึงกันด้วย “Pollinator Highway” หรือทางหลวงสำหรับเหล่าแมลงผสมเกสร ซึ่งมีความยาวราว 13 กิโลเมตร  ตลอดเส้นทางมีต้นไม้เรียงรายเป็นแถวยาวอันแสนร่มรื่น ทั้งยังเปิดให้ผู้คนใช้เส้นทางดังกล่าวนี้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ รัฐบาลยังเปิดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะได้โดยไม่เสียค่าโดยสารมาตั้งแต่ปี 2556 ทั้งยังรณรงค์ให้ชาวเมืองเลือกปั่นจักรยานแทนที่จะใช้รถยนต์เพื่อลดการปล่อยมลพิษ โดยตั้งเป้าให้ใช้จักรยานในการเดินทางเพิ่มขึ้น 11% ภายในปี 2570 อีกด้วย

เมืองต้นแบบที่ใส่ใจสภาพแวดล้อม

แผนการดำเนินงานของรัฐบาลทาลลินน์นั้น เป็นการวางแผนกลยุทธ์ระยะยาวที่เรียกว่า “ทาลลินน์ 2030” ตั้งเป้าจัดการสภาพแวดล้อมของเมืองที่ดีต่อสุขภาพประชากร ลดการปล่อยมลพิษลง 40% และสนับสนุนการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนภายในปี 2573 รวมไปถึงวางแผนที่จะพัฒนาให้เมืองมีความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ภายในปี 2593 

จะว่าไปแล้วก็น่าอิจฉาชาวเมืองทาลลินน์อยู่ไม่น้อย ที่รัฐบาลให้ความสำคัญและใส่ใจด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังจนสามารถขยับขึ้นมาสู่การเป็นเมืองหลวงสีเขียวของยุโรปได้สำเร็จ ซึ่งในอนาคตเชื่อว่า ทาลลินน์จะกลายเป็นอีกเมืองในโลกที่น่าอยู่สำหรับประชากรและน่าไปเยือนสำหรับนักท่องเที่ยวต่างแดน

Cover Illustration โดย ANMOM