เกาะติลอส ประเทศกรีซ ปรากฏอยู่ในแผนที่หมู่เกาะทะเลอีเจียน มีประชากรอาศัยอยู่ราว ๆ 500 คน เลี้ยงปากท้องด้วยการทำประมงและเลี้ยงแพะ แต่พอถึงฤดูร้อน จำนวนประชากรจะเพิ่มขึ้นเป็น 800 คน จากแรงงานที่มาทำงานรับจ้างตามฤดูกาลและนักท่องเที่ยวที่มาเยือน

การใช้พลังงานไฟฟ้าบนเกาะแห่งนี้อาศัยสายเคเบิลใต้ทะเลที่เชื่อมระหว่างเกาะติลอสกับเกาะคอส ซึ่งเป็นหนทางเดียวที่ทำให้เกาะนี้สว่างไสว แม้ว่าบนเกาะคอสจะมีโรงไฟฟ้าแต่ก็ใช้น้ำมันในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งปริมาณน้ำมันก็มีอยู่อย่างจำกัดจำเขี่ย ปัญหาเรื่องไฟตกหรือไฟดับจึงถือเป็นเรื่องธรรมดาในสายตานักท่องเที่ยวที่ไปเยือนเกาะคอส แต่ปัญหาเดียวกันนี้ ชาวเกาะติลอสกลับรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่น่าอับอาย เพราะนี่มันศตวรรษที่ 21 เข้าไปแล้ว แต่ที่กรีซยังมีการจ่ายกระแสไฟฟ้าที่ไม่เสถียร ทำให้ยังประสบปัญหาไฟติด ๆ ดับ ๆ อยู่อีก 

Tasos Dimalexis และทีมงานจาก Hellenic Ornithological Society องค์กรอนุรักษ์นกป่าหายากในประเทศกรีซ จึงถูกส่งตัวไปยังเกาะติลอสเพื่อหาชัยภูมิเหมาะ ๆ ในการติดตั้งกังหันลมสูง 55 เมตรได้โดยไม่ก่อกวนวิถีชีวิตของนกอินทรีปีกดำ (Bonelli’s Eagle) ซึ่งจะมาพักผ่อนที่เกาะติลอสในช่วงฤดูใบไม้ผลิ

หลังจากทีมนักอนุรักษ์นกปีนป่ายหน้าผาหินขรุขระอยู่หลายแห่ง ก็พบตำแหน่งเหมาะในการติดตั้งกังหันลม โดยที่นกอินทรีพันธุ์หายากนั้นจะยังบินกลับมาที่เกาะติลอสตามเดิม 

ด้วยเหตุนี้ เกาะติลอสจึงเป็นเกาะแรกในยุโรปใต้ที่มีการก่อสร้างสถานีพลังงานไฮบริด โดยจะเป็นต้นแบบเกาะหรือชุมชนห่างไกลทั้งหลายที่ประสงค์จะมีไฟฟ้าใช้ไม่ขาด โดยที่ต้องเป็นพลังงานสะอาดด้วย เกาะไกลปืนเที่ยงเหล่านี้จึงกลายเป็นศูนย์การทดลองเทคโนโลยีพลังงานใหม่ ๆ ของโลกไปด้วย อาทิ หมู่เกาะออร์กนีย์ของสก็อตแลนด์เป็นศูนย์สถานีพลังงานลมและพลังงานน้ำขึ้นน้ำลง ส่วนหมู่เกาะฟิจิที่มีเกาะแก่งกว่า 300 เกาะก็เป็นฟาร์มโซลาร์เซลล์ที่ใหญ่ที่สุดในน่านน้ำแปซิฟิก 

โรงไฟฟ้าพลังงานไฮบริดบนเกาะติลอสสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้จากกังหันลมและแผงโซลาร์เซลล์ โดยเก็บพลังงานไว้ในแบตเตอรีความหนาแน่นพลังงานความจุสูง 2 ก้อน เป็นโรงไฟฟ้าเล็ก ๆ ที่จ่ายไฟให้กับบ้านเรือน 100 หลังบนเกาะติลอส