Grid Brief

  • กว่า 100 ประเทศทั่วโลกได้หารือและหาแนวทางร่วมกัน เพื่อแก้ปัญหาที่ทะเลและมหาสมุทรต้องเผชิญจากการกระทำของมนุษย์
  • องค์กรธุรกิจภาคเอกชนและแบรนด์ต่าง ๆ ทั่วโลกตั้งเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา กระแสรักษ์โลกกลายเป็นเทรนด์ที่มาแรงอย่างกว้างขวาง หลายหน่วยงาน ทั้งองค์กรภาคเอกชน แบรนด์สินค้า รวมไปถึงผู้บริโภค เริ่มตระหนักและหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น รวมไปถึงเรื่องราวดี ๆ ที่สะท้อนให้เห็นถึงความรัก (ษ์) โลกจากผู้คนทั่วโลก

กว่า 100 ประเทศให้คำมั่นว่าจะปกป้องมหาสมุทร

ทะเลและมหาสมุทรกำลังอยู่ภาวะเสี่ยง เนื่องจากต้องเผชิญสารพัดปัญหาจากการกระทำของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นมลพิษ การประมงเกินขนาด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือความเสียหายที่เกิดจากการท่องเที่ยวแบบมวลชน (Mass Tourism) แต่ข่าวนี้อาจทำให้เรายิ้มออกได้บ้าง เมื่อผู้นำระดับโลกรวมตัวในงานประชุม One Ocean Summit ณ ประเทศฝรั่งเศส โดยมีเป้าหมายเพื่อช่วยกันแก้ปัญหาที่ทะเลและมหาสมุทรต้องเผชิญ 

ผลการประชุมสรุปว่า กว่า 100 ประเทศทั่วโลกให้คำมั่นที่จะออกมาตรการใหม่ ๆ ในการอนุรักษ์ ปกป้องทะเลและมหาสมุทร เช่น สหภาพยุโรปจะเพิ่มเงินสนับสนุนในโครงการ Clean Oceans Initiative เป็น 4 พันล้านยูโรในปี 2025จากปัจจุบันที่ได้รับเงิน 2 พันล้านยูโร เพื่อให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการที่มุ่งลดปัญหามลพิษในแม่น้ำและทะเลอันเกิดจากพลาสติก  ขณะที่สหรัฐอเมริกาสนับสนุนการเจรจาภายใต้กรอบของสหประชาชาติ เพื่อบรรลุข้อตกลงระหว่างประเทศในการต่อสู้กับปัญหามลพิษจากพลาสติก ซึ่งเกิดขึ้นจากขยะพลาสติกจำนวน 8.3 พันล้านตัน ที่มีมายาวนานนับตั้งแต่ทศวรรษ 1950


แคนาดาเสนอร่างกฎหมายเพื่อสิ่งแวดล้อมฉบับใหม่

แคนาดาเป็นชาติที่มีการนำเข้าหูฉลามนอกเอเชียรายใหญ่ที่สุดของโลก แต่ในปี 2019 กลับเป็นชาติแรกในกลุ่มประเทศ G-20 ที่ออกกฎหมายห้ามนำเข้า-ส่งออก รวมถึงการจำหน่ายและบริโภคหูฉลามตั้งแต่วันที่ 21 มิถุนายน 2019 เป็นต้นมา ล่าสุดในปี 2022 นี้ รัฐบาลแคนาดายังได้เสนอให้ปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมของประเทศใหม่ โดยผลักดันให้ชาวแคนาดาสมควรได้อยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ต้องสัมผัสกับสารเคมีอันตรายอย่างไม่เหมาะสม 

สตีเวน กิลโบลต์ รัฐมนตรีกระทรวงสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเทศแคนาดา ได้กล่าวไว้ว่า

“ชาวแคนาดาทุกคนคาดหวังและสมควรได้รับสภาพแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ ร่างกฎหมายนี้เป็นก้าวย่างสำคัญสู่การเสริมสร้างความเข้มแข็งในการปกป้องสุขภาพของชาวแคนาดาและสุขภาพของทะเลสาบ แม่น้ำ ดินแดน และป่าไม้”

ไอซ์แลนด์เตรียมยุติการล่าวาฬเชิงพาณิชย์ในปี 2024

การล่าวาฬและโลมาเป็นประเพณีเก่าแก่ในหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งในสมัยก่อนนิยมล่าวาฬเพื่อนำไขมันไปใช้ และนำเนื้อมาบริโภคเป็นอาหาร แต่ปัจจุบันหลายประเทศได้ต่อต้านการล่าวาฬแล้ว ขณะที่บางประเทศยังคงมีการล่าวาฬอยู่ เช่น ญี่ปุ่นและนอร์เวย์ ส่วนไอซ์แลนด์แม้เป็นประเทศที่ยังมีการล่าวาฬเชิงพาณิชย์อยู่ แต่ล่าสุดได้ออกมาประกาศว่าจะยุติการล่าวาฬภายในปี 2024 โดยจะไม่มีการออกใบอนุญาตให้ล่าวาฬได้อีกหลังจากปี 2023 


Credit: HSBC

HSBC มุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี 2050 

ธนาคารใหญ่อย่าง HSBC ประกาศเจตนารมณ์ที่จะลดการปล่อยก๊าซในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซลง 34% ภายในปี 2030 สอดคล้องกับเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ไม่เพียงแต่กลุ่ม HSBC เท่านั้นที่มีนโยบายจะลดการปล่อยก๊าซ แต่ภาคธุรกิจเอกชนทั่วโลกต่างร่วมใจกันที่จะดำเนินธุรกิจเพื่อลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 เช่นเดียวกัน อาทิ นิสสัน มอเตอร์ กำหนดเป้าหมายลดคาร์บอนเป็นศูนย์จากกระบวนการผลิตทั้งระบบและวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ของบริษัท ซึ่งส่งผลให้รถยนต์นิสสันทุกรุ่นที่จะออกสู่ตลาดภายในช่วงต้นทศวรรษ 2030 จะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 100% ทั้งหมด ในขณะที่บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ “Net Zero” ในปี 2022 เป็นต้น