หน้าหนาวเป็นช่วงเวลาที่ไม้ดอกหลาย ๆ ชนิด โดยเฉพาะไม้ดอกเมืองหนาวที่สามารถปลูกได้ในบริเวณพื้นที่สูงในภาคเหนือเริ่มออกดอก ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งใกล้ไกลให้ไปชื่นชม เชื่อว่าใครหลาย ๆ คนกำลังวางแผนออกไปเที่ยวรับลมหนาว สูดอากาศบริสุทธิ์ และแน่นอนว่าจะต้องอยากได้ภาพสวย ๆ เอาไว้เช็กอินด้วย เราจึงมีสวนดอกไม้บรรยากาศดีมาแนะนำ รับรองจะไม่ทำให้คุณผิดหวัง

ไฮเดรนเยียเป็นพืชพื้นเมืองในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออก แต่ก็สามารถนำมาปลูกในบางพื้นที่ของไทยเราได้ ภาพนี้ถ่ายด้วยเลนส์ระยะ 85 มิลลิเมตร รูรับแสง f/2.8 จะได้ดอกไม้เด่นออกมาจากฉากหลังที่เบลอ
ที่ไร่ไฮเดรนเยียจะมีตะกร้าสานสะพายหลังให้เราได้เอาไปเป็นพร็อพถ่ายรูปด้วย ภาพนี้ถ่ายด้วยเลนส์ 85 มิลลิเมตรเช่นกัน ตั้งค่ารูรับแสงที่ f/2.2

ขอเริ่มต้นด้วย “ไร่ไฮเดรนเยีย” ตำบลขุนแปะ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เชื่อว่าทุกคนคงรู้จักและหลงรักความเรียบง่ายไม่ฉูดฉาดของดอกไฮเดรนเยีย ซึ่งในปีนี้จะเบ่งบานต้อนรับนักท่องเที่ยวตั้งแต่ช่วงปลายฝนต้นหนาว ราวปลายตุลาคมไปจนถึงสิ้นกุมภาพันธ์ 2566

ไร่ไฮเดรนเยียที่ขุนแปะนี้มีอยู่หลายแห่ง ปลูกโดยชาวบ้านซึ่งได้รับการส่งเสริมจากโครงการหลวงขุนแปะ ช่วงที่เราไป ไร่ไหนออกดอกสมบูรณ์สุด ชาวบ้านจะพาเราไปชมไร่นั้น โดยเราต้องจอดรถไว้ ณ จุดจอดรถรับส่งนักท่องเที่ยว ตรงข้ามวัดป่าขันติธรรมที่ชุมชนได้เตรียมไว้ และนั่งรถโฟร์วีลที่ชาวบ้านเตรียมไว้ เสียค่าบริการนิดหน่อยเท่านั้นเอง

การเดินทางก็ไม่ยากไม่ง่าย ขับรถผ่านตัวอำเภอจอมทอง มุ่งหน้าอำเภอฮอด ตั้ง GPS ไปวัดป่าขันติธรรม ถนนบ้านขุนแปะ หรือถ้าหาไม่เจอ ให้ตั้งไปที่ไร่ไฮเดรนเยียเบิกบานใจ หรือโครงการหลวงขุนแปะก็ได้ อาจจะไกลเมืองสักนิด แอดเวนเจอร์หน่อย ๆ แต่รับรองว่าจะต้องประทับใจ

ภาพนี้แม้จะใช้เลนส์ 85 มิลลิเมตร แต่กล้องอยู่ห่างตัวแบบราว 6 เมตร จึงต้องเปิดรูรับแสงกว้างสุดที่ f/1.4 เพื่อทำให้ส่วนที่อยู่นอกโฟกัสเบลอมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และได้ความเร็วชัตเตอร์สูงเพื่อให้ได้ภาพกระโปรงที่คมชัด
ภาพนี้ใช้เลนส์ 85 มิลลิเมตรเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือ ใช้แอปแต่งขอบภาพให้มืดลงนิดหน่อย เพิ่มความน่าสนใจ

จุดหมายถัดมาเป็นสถานที่เที่ยวท็อปฮิตของจังหวัดเชียงใหม่เลยก็ว่าได้ นั่นคือ I Love Flower Farm ที่ตั้งอยู่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยพื้นที่ปลูกกว่า 16 ไร่ กับไม้ดอกหลากหลายชนิดที่พร้อมใจกันเบ่งบานแน่นลานปลูก แถมด้วยพร็อพสำหรับถ่ายรูปอีกเพียบ ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมช่วงวันหยุดยาวถึงกับต้องจองคิวล่วงหน้ากันเป็นเดือนเลยทีเดียว เพราะที่นี่รับนักท่องเที่ยวจำกัดเพียงวันละ 200 คนเท่านั้น

ปี 2565-2566 นี้ ที่ฟาร์มนำไม้ดอกเมืองหนาวต่าง ๆ มาปลูก ดังนี้ คือ Echinacea สายพันธุ์นำเข้าจากเนเธอร์แลนด์ กลิ่นหอม สีสันสดใส เขาบอกว่าเป็นสวนเดียวในประเทศตอนนี้ที่ปลูกได้เลยทีเดียว ถัดมาเป็น Garliadia and Black-eyed Susan ไม้ดอกพันธุ์ยุโรปที่ว่าปลูกยากมาก ดอกสีส้มสลับกับสีเหลืองของแบล็คอาย ซูซาน และ Celosia หรือดอกสร้อยไก่ญี่ปุ่น ที่มีดอกสีแดงจัดและสีชมพู นอกจากดอกไม้จริงแล้ว เขายังนำเอาดอก Allium ที่เป็นดอกไม้ประดิษฐ์มานำเสนอด้วย เพราะดอกไม้ชนิดนี้ไม่สามารถปลูกที่บ้านเราได้

การเดินทางง่ายมาก ขับรถออกจากเมืองเชียงใหม่มุ่งหน้าแม่ริม ตั้ง GPS ไปที่ “ลานจอดรถชุมชน i love flower farm” ได้เลย ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ไม่ถึง 20 กิโลเมตร

ดอกกุหลาบภาพนี้ถ่ายด้วยเลนส์ 85 มิลลิเมตร เปิดรูรับแสง f/1.8 ห่างจากดอกกุหลาบประมาณ 1 เมตร ฉากหลังก็คือดอกกุหลาบที่อยู่ห่างออกไปในแปลงปลูก
“หน้าเบลอ” ภาพนี้ใช้เลนส์ 85 มิลลิเมตร และเปิดรูรับแสง f/1.8 อีกเช่นกัน ตัวแบบอยู่ห่างออกไปราว 4 เมตร ส่วนของฉากหน้าที่เป็นดอกกุหลาบที่อยู่นอกโฟกัสอยู่ใกล้กล้องมาก จึงเบลอมาก

อีกจุดหมายในเชียงใหม่ที่อยากแนะนำสำหรับท่านที่รักกุหลาบ ก็คือ แปลงปลูกกุหลาบบ้านบวกเต๋ย ตั้งอยู่ตำบลโป่งแยง อำเภอแม่ริม ภายใต้โครงการเกษตรแปลงใหญ่ไม้ดอกอำเภอแม่ริม มีพื้นที่ปลูกรวมกว่า 200 ไร่ จากเกษตรกร 30 ราย โดยผลผลิตดอกกุหลาบตัดดอกทั้งหมดจะจำหน่ายให้โครงการหลวง และตลาดไม้ดอกต่าง ๆ

ในช่วงต้นปี 2565 ที่ผ่านมามีการจัดงาน Chiang Mai Blooms หรือเทศกาลเชียงใหม่เบิกบาน ซึ่งเป็นการจัดงานประจำปีที่มีแก่นของงานคือการนำเสนอความงดงามของดอกไม้ ในงานจะมีทั้งการแสดงดนตรี งานศิลป์ งานคราฟต์ งานวิ่ง และกิจกรรมที่เรียบง่ายอย่างการเดินชมแปลงปลูกกุหลาบ ซึ่งแปลงปลูกกุหลาบบ้านบวกเต๋ย ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในสถานที่ชมดอกไม้ในงานนี้ด้วย

การเดินทางไม่ยาก มีขับรถขึ้นเขาบ้าง แต่ก็ไม่ได้ชันและคดเคี้ยวจนน่ากลัว ออกจากเมืองเชียงใหม่ มุ่งหน้าแม่ริม จากนั้นใช้เส้นทางสายแม่ริม-สะเมิง ต่อไปอีกประมาณ 20 กิโลเมตร

ดอกดาวกระจายสีขาวท่ามกลางดาวกระจายสีแสดภาพนี้ ถ่ายด้วยเลนส์ซูม 70-200 มิลลิเมตร ซูมไปที่ 200 มิลลิเมตร เปิดรูรับแสงที่ f/3.2 ส่วนของดอกไม้ที่อยู่นอกโฟกัส ทำให้ได้ภาพที่ดูแปลกตา
ทุ่งดอกคอสมอสหรือดาวกระจายสีชมพู จะเป็นจุดเด่นของไร่จิม ทอมป์สัน เพราะด้วยแปลงปลูกมีขนาดใหญ่ ทำให้เป็นจุดถ่ายรูปที่น่าสนใจที่สุด

จุดหมายถัดมาอยู่ภาคอีสาน ไม่ใกล้ไม่ไกลจากมหานครกรุงเทพฯ นัก นั่นก็คือ “ไร่จิม ทอมป์สัน” ตั้งอยู่อำเภอปักธงชัย จังหวัดนครราชสีมานี่เอง ในแต่ละปีจะเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมเพียง 1 เดือนเท่านั้น ซึ่งในปีนี้เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 3 ธันวาคม 2565 ถึง 2 มกราคม 2566 โดยใช้ชื่องานว่า “จิม ทอมป์สัน ฟาร์มทัวร์ 2565” เราจะได้เจอทุ่งคอสมอส ทานตะวัน ดาวกระจาย และทุ่งข้าวฟ่าง ในพื้นที่เกือบ 200 ไร่ นอกจากเดินถ่ายรูปเล่นแล้ว ก็จะมีกิจกรรมอื่น ๆ ให้ได้สัมผัสกันด้วย ขอแนะนำให้ไปเช้า ๆ เพราะที่นี่อากาศค่อนข้างร้อน (มาก)

การเดินทางไปฟาร์มก็ไม่ยาก ตั้ง GPS ไปที่ Jim Thompson Farm หรือ จิม ทอมป์สัน ฟาร์ม ได้เลย ระยะทางจากกรุงเทพฯ ไปประมาณ 200 กิโลเมตรเศษ ใช้เวลาเดินทางประมาณ 3 ชั่วโมง

ภาพดอกทานตะวันภาพนี้ถ่ายด้วยเลนส์กระจก 500 มิลลิเมตร รูรับแสงคงที่ที่ f/8 ด้วยเอกลักษณ์ของเลนส์กระจกคือ ส่วนของภาพที่อยู่นอกโฟกัส หรือโบเก้ จะมีทรงเป็นวงแหวน (Donut Ring) ทำให้ภาพดูแปลกตา
ดอกทานตะวันยิ้มภาพนี้ถ่ายด้วยเลนส์มุมกว้าง 16 มิลลิเมตร และเปิดแฟลชช่วยให้ดอกดูสว่างขึ้น

จุดหมายสุดท้ายที่จะแนะนำสำหรับเพื่อน ๆ สายเหลือง นั่นคือ “ทุ่งทานตะวัน” ในพื้นที่จังหวัดลพบุรี ใกล้ ๆ กรุงเทพฯนี่เอง ที่แรกที่จะแนะนำ คือ ทุ่งทานตะวันเขาจีนแล อยู่ตำบลนิคมสร้างตนเอง อำเภอเมืองลพบุรี มีพื้นที่กว่าพันไร่ และด้านหลังทางด้านทิศเหนือจะเป็น “เขาจีนแล” ถ่ายภาพฉากหน้าเป็นทุ่งดอกทานตะวัน ฉากหลังเป็นเขาจีนแล สวยงามมาก

ปี 2565 นี้จะเปิดให้เข้าชมช่วงวันที่ 15-27 ธันวาคม อีกแห่งที่จะแนะนำ คือ ทุ่งทานตะวันไร่จำรัส ซึ่งอยู่ไม่ไกลกัน เป็นทุ่งดอกทานตะวันอีกแห่งที่แบ็กกราวด์สวยมาก เพราะได้วิวเป็นเขาโด่และเขาจีนแล คล้ายกับทุ่งแรก แต่พื้นที่จะเล็กกว่าอยู่ที่ประมาณ 10 ไร่ และในปีนี้คาดว่าจะบานอวดโฉมประมาณวันที่ 15-30 ธันวาคม

การเดินทางค่อนข้างสะดวก จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางสายเอเชียไปจนถึงอ่างทอง แล้วเลี้ยวขวามุ่งหน้าลพบุรี หรือจะวิ่งไปทางสระบุรีก่อนแล้วต่อไปลพบุรีก็ได้ ระยะทางใกล้เคียงกันที่ประมาณ 140 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง สามารถตั้ง GPS ไปทุ่งทานตะวันทั้ง 2 แห่งได้เลย

เรื่องและภาพโดย: จุลล์ จูงวงศ์