สำหรับคนที่ชื่นชอบการถ่ายภาพแล้ว สถานตากอากาศบางปู หรือที่เรียกติดปากสั้น ๆ กันว่า “บางปู”  เป็นโลเกชันยอดฮิตสำหรับการถ่ายภาพหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายภาพบุคคล (Portrait Photography) ภาพแต่งงาน (Wedding Photography) ภาพวิวทิวทัศน์ (Landscape Photography) โดยเฉพาะภาพพระอาทิตย์ตก รวมไปถึงการถ่ายภาพนก (Bird Photography) ซึ่งมีทั้งนกชายเลนขาประจำ และนกอพยพในช่วงฤดูหนาว

ในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นของฤดูหนาว เหล่านกอพยพจากซีกโลกเหนือจะเริ่มอพยพลงใต้มาหาพื้นที่ที่อุ่นกว่า และหาอาหารง่ายกว่า บางส่วนจะอพยพมายังประเทศไทยและอยู่ยาวตลอดหน้าหนาว และบางส่วนจะอพยพผ่านลงใต้ไปอีกไปจนถึงมาเลเซีย อินโดนีเซียหรือไกลกว่านั้น

ภาพนกนางนวลขณะบินถ่ายด้วยเลนส์เทเล ซูมที่ระยะ 450 มิลลิเมตร
ความเร็วชัตเตอร์ 1/800 วินาที ใช้ระบบโฟกัสต่อเนื่องแบบติดตามดวงตา (AI Servo + Eye Focus)

นกขาประจำที่เราสามารถพบเห็นได้ที่บางปูเกือบตลอดปี บ้างมากน้อยบ้าง นั่นก็คือ “นกนางนวล” และ “นกนางนวลแกลบ” จุดที่สามารถรอถ่ายภาพนกได้ ก็คือ “สะพานสุขตา” ที่ทอดยาวไปในทะเลนั่นเอง นกส่วนใหญ่จะบินวนไปมาข้างสะพาน รออาหารจากนักท่องเที่ยว ซึ่งก็คือกากหมูและหนังไก่ทอดนั่นเอง ซึ่งการที่นกบินวนไปมาในลักษณะนี้เหมาะแก่การฝึกถ่ายภาพนกบิน (Birds in Flight) อย่างยิ่ง

ภาพนกกระเต็นหัวดำทั้งสามภาพ ถ่ายด้วยเลนส์เทเลโฟโตทางยาวโฟกัส 500 มิลลิเมตร ร่วมกับเทเลคอนเวอร์เตอร์ 1.4X เพิ่มทางยาวโฟกัสเป็น 700 มิลลิเมตร โดยนั่งอยู่ในบังไพร ซึ่งห่างจากตัวนกประมาณ 8 เมตร

นอกจากเหล่านกนางนวลจำนวนนับพันแล้ว ยังมีนกชายเลนและนกอพยพชนิดอื่นอีกหลายร้อยชนิด ซึ่งภาพที่ผมเอามาแบ่งปันในครั้งนี้จะเป็นภาพนกกระเต็นหัวดำ (Black-capped Kingfisher) ซึ่งเป็นนกอพยพเข้ามายังประเทศไทยในช่วงต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และนกกินเปี้ยว (Collared Kingfisher) ซึ่งก็เป็นหนึ่งในตระกูลนกกระเต็นเหมือนกัน แต่ไม่ได้อพยพมากับเจ้าหัวดำ เพราะบ้านเขาอยู่ที่นี่ และที่ชื่อกินเปี้ยว ก็เป็นเพราะมันกิน “ปูเปี้ยว” ปูขนาดเล็กในป่าชายเลนเป็นอาหารหลักนั่นเอง

ภาพนกกินเปี้ยวทั้งสองภาพถ่ายด้วยเลนส์ระยะเดียวกับภาพนกกระเต็นหัวดำ แต่อยู่ห่างออกไปมาก ด้วยความที่นกมีสัญชาตญาณในการระแวดระวังภัยสูงมาก และที่เห็นปากของนกเลอะคราบโคลนอยู่ก็เพราะโฉบกินปูเปี้ยวที่เดินอยู่บนพื้นโคลนในป่าชายเลนนั่นเอง

ช่วงเลนส์ที่ใช้สำหรับการถ่ายนก แน่นอนว่าต้องเป็นช่วงเทเลโฟโต เพราะนกไม่เข้ามาใกล้เราแน่นอน ในกรณีการถ่ายภาพนกบิน เราสามารถใช้เลนส์ช่วง 100-300 มิลลิเมตรหรือสูงกว่านั้นได้ ซูมเลนส์เข้าออกให้เหมาะสมกับระยะห่างจากตัวนก โดยใช้โหมดโฟกัสแบบต่อเนื่อง (AI Servo หรือ AF-C แล้วแต่ค่าย) สำหรับกล้องรุ่นใหม่ ๆ บางรุ่นจะมีระบบโฟกัสดวงตา (Eye Focus) ซึ่งกล้องจะวิเคราะห์หาดวงตาของนก และจับโฟกัสเอาไว้ ช่วยทำให้การถ่ายภาพนกบินง่ายขึ้น ส่วนความเร็วชัตเตอร์ก็ต้องเลือกให้สูงหน่อย อย่างที่ 1/500 วินาทีขึ้นไป เป็นต้น

คลิปวิดีโอแอคชันน่ารัก ๆ ของเจ้านกกระเต็นหัวดำ

ในกรณีการถ่ายภาพนกเกาะคอน (นกเกาะนิ่ง ๆ) เราอาจต้องใช้บังไพรช่วยในการพรางตัว เพื่อให้สามารถเข้าใกล้นกได้มากขึ้น ร่วมกับขาตั้งกล้องที่มั่นคง จะทำให้ได้ภาพที่คมชัดและฉากหลังละลาย เนื่องจากนกมีสัญชาตญาณในการป้องกันตัวสูง ไม่ยอมให้เราเข้าใกล้ได้ง่าย ๆ 

ขอให้สนุกกับการกินปูแล้วดูนกนะครับ

เรื่องและภาพโดย จุลล์ จูงวงศ์

สถานตากอากาศบางปู 

ที่ตั้ง: 164 ถนนสุขุมวิท ตำบลบางปูใหม่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ
Google Map: https://goo.gl/maps/fWpBcfyL4vdFt5vv7
GPS Coordinates: 13.517436737853483, 100.654926782521