หากใครรู้สึกเบื่อสถานีชาร์จรถไฟฟ้าแบบเดิม ๆ ตามไปดูที่นี่กัน เพราะตอนนี้บริษัทจากประเทศอังกฤษเริ่มพัฒนาสถานีชาร์จไฟรูปทรงใหม่หรือ “ต้นไม้โซลาร์เซลล์”

นอกจากจะเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สร้างพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้แล้ว ยังบังแดดได้ แถมประหยัดพื้นที่ติดตั้งมากกว่าสถานีชาร์จไฟทรงสี่เหลี่ยมทั่วไปอีกด้วย

ต้นไม้โซลาร์เซลล์นี้ เป็นผลงานจาก SolarBotanic Trees บริษัทลูกของโซลาร์โบทานิก (SolarBotanic) บริษัทด้านเทคโนโลยีพลังงานสัญชาติอังกฤษ ที่มุ่งเน้นสร้างนวัตกรรมแผงเซลล์แสงอาทิตย์และสถานีชาร์จรถไฟฟ้า ไปจนถึงที่จอดรถ ห้างสรรพสินค้าและโรงพยาบาล

ที่ผ่านมาทุกคนคงรู้ดีว่า สถานีชาร์จรถไฟฟ้า และแผงพลังงานแสงอาทิตย์ มีให้เลือกหลากหลายรูปทรง สถานีชาร์จรถไฟฟ้ารูปทรงคล้ายต้นไม้เอง ก็มีการใช้งานอยู่ ไม่ใช่แนวคิดใหม่ เช่นที่จัดแสดงภายใน Gardens by the Bay หรือสวนพฤกษศาสตร์ใจกลางประเทศสิงคโปร์ ต้นไม้โซลาร์เซลล์ยักษ์ที่เปิดตัวในงานนิทรรศการนั้นเป็นส่วนหนึ่งของสวนแนวตั้ง (Pavilion) ซึ่งมีพื้นที่มากกว่า 4,000 ตารางเมตร โดยต้นไม้โซลาร์เซลล์จากบริษัทโซลาร์โบทานิก ทรีส์ ย่อส่วนขนาดลงมา เหลือความสูงประมาณ 4.5 เมตร ทำให้ใช้พื้นที่น้อยกว่า และติดตั้งในพื้นที่สาธารณะได้ง่ายและหลากหลายกว่า

มีหลักการทำงานเหมือนแผงพลังงานแสงอาทิตย์ทั่วไป โดยตัวต้นไม้จะกักเก็บแสงอาทิตย์ด้วย “ใบไม้” หรือแผงพลังงานด้านบน แล้วเปลี่ยนพลังงานแสงเป็นไฟฟ้า และกักเก็บไว้ในแบตเตอรี่ที่อยู่ข้างในบริเวณลำต้น ก่อนจะนำไปใช้ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าต่อไป ซึ่งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ของต้นไม้โซลาร์เซลล์ ผลิตมาจากแผงพลังงานระบบผลึกนาโน หรือ Nano photovoltaic ซึ่งทำให้ตัวแผงมีความยืดหยุ่น ดัดทรง “ใบไม้” หรือแผงพลังงานด้านบนเป็นหลังคาโค้งได้ตามต้องการ

นอกจากพัฒนาประสิทธิภาพในการชาร์จไฟ โซลาร์โบทานิก ‘ทรีส์’ ยังวางแผนนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยจัดการระบบกักเก็บและการจัดการพลังงานภายในต้นไม้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในอนาคตด้วย เช่น กักเก็บพลังงานไว้ในแบตเตอรี่เพื่อใช้เวลากลางคืน หรือในวันที่ไม่มีแสงแดด