หลายคนมองว่าคาร์บอนเครดิตเป็นเรื่องไกลตัว แต่จริง ๆ แล้วใกล้ตัวมาก เพราะเกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตทุกชีวิตบนโลก ทุกวันนี้ทั่วโลกเองก็มีการแลกเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตกันมากกว่า 7 พันล้านตัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

‘คาร์บอนเครดิต’ (Carbon Credit) หรือสิทธิการก่อมลพิษที่ซื้อขายได้ เป็นไอเดียที่ได้รับการพัฒนาและลองผิดลองถูกมาแล้วถึง 60 ปี ก่อนจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในหลายวงการ เพราะเรื่องสิ่งแวดล้อมกลายเป็นต้นทุนที่สำคัญมากขึ้น ทั้งระดับบุคคลและเป็นโอกาสใหม่ให้กับหลายธุรกิจ

สำหรับ ‘คาร์บอนเครดิต’ กับ ‘ภาวะโลกร้อน’ (Global Warming) เป็นสิ่งคู่กัน ถ้าต้องเท้าความถึงตัวการหลักที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนจะมีคำว่า ‘ก๊าซเรือนกระจก’ เกิดจากการปล่อยก๊าซต่าง ๆ ออกมา โดยในต่างประเทศ สหภาพยุโรปเป็นกลุ่มประเทศแรก ๆ ที่รณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจัง ด้วยการเก็บภาษีก๊าซเรือนกระจก หรือภาษีคาร์บอน (Carbon Tax)

จากข้อมูลของศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืนหรือ RISC พบว่า คนเราหายใจออกปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ย 0.58 – 1.04 กิโลกรัม/วัน เลยทีเดียว ขึ้นอยู่กับกิจกรรมที่ทำ ถ้าเป็นกิจกรรมที่ใช้พลังงานเยอะ เช่น วิ่ง ออกกำลังกาย จะปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมามากกว่าการนั่ง หรือการนอนหลับถึง 8 เท่า

เมื่อเทียบกับปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยจากกิจกรรมของมนุษย์ทั้งหมดในประเทศไทย พบว่า เมื่อปี 2565 มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศประมาณ 247.7 ล้านตัน แสดงให้เห็นว่าปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์จากการหายใจของมนุษย์ส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนเช่นเดียวกัน และถ้าเรามองจากอาคารที่อยู่อาศัย 1 หลังที่มีผู้อยู่อาศัยประมาณ 500 – 700 คน จะปล่อยปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาไม่ต่างจากภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรมเลยทีเดียว

​มาดูกันว่า กิจกรรมแต่ละวันของคนทั่วไป ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทางไหนได้บ้าง

-หลอดไฟมาตรฐาน (100 วัตต์ 4 ชั่วโมง) ปล่อยคาร์บอน 172 กรัม

-การใช้โทรศัพท์มือถือ (195 นาที/วัน) ปล่อยคาร์บอน 189 กรัม

-เครื่องซักผ้า (0.63 กิโลวัตต์-ชั่วโมง) ปล่อยคาร์บอน 275 กรัม

-เตาอบไฟฟ้า (1.56 กิโลวัตต์-ชั่วโมง) ปล่อยคาร์บอน 675 กรัม

-เครื่องอบผ้า (2.5 กิโลวัตต์-ชั่วโมง) ปล่อยคาร์บอน 1,000 กรัม

-กระดาษชำระแบบม้วน (2 ชั้น) ปล่อยคาร์บอน 1,300 กรัม

-อาบน้ำอุ่น (10 นาที) ปล่อยคาร์บอน 2,000 กรัม

-เดินทางทุกวัน (1 ชั่วโมงโดยรถยนต์) ปล่อยคาร์บอน 3,360 กรัม

-การบริโภคอาหารเฉลี่ยต่อวัน (3 มื้อ 600 แคลอรี่) ปล่อยคาร์บอน 4,500 กรัม

Credit: Freepik

ดังนั้น ถ้าจะช่วยลดคาร์บอนฯ กิจกรรมสิ่งรอบตัวที่ทำได้ คือ เริ่มจากตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกออกกำลังกายในสวนสาธารณะ แทนในห้อง

ฟิตเนสที่ยังอาศัยเครื่องปรับอากาศ หรือลดการใช้กระดาษ หันมาใช้บิลอิเล็กทรอนิกส์ ในวันว่างหรือท่องเที่ยวใกล้ ๆ เลือกการเดิน หรือปั่นจักรยานแทนการนั่งรถยนต์

นอกจากนี้ องค์กร หน่วยงาน หรือภาคธุรกิจการค้าต่าง ๆ ก็เริ่มหันมาให้ความสำคัญกับโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย เช่น เชิญชวนปลูกต้นไม้คืนพื้นที่สีเขียวสำหรับช่วยกรองมลภาวะเป็นการช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชนอีกทาง ในอนาคตความสำคัญของตลาดคาร์บอนจะมีมากขึ้น จากที่เป็นภาคสมัครใจจะต้องกลายเป็น Business Model เพราะถ้าไม่ทำ ธนาคารจะไม่ปล่อยเงินกู้ นักลงทุนไม่ร่วมทุนด้วย และมีต้นทุนรุมเร้าเต็มไปหมด ต้องมีการจัดทำรายงาน หากปล่อยคาร์บอนเกินก็ต้องซื้อเครดิต ถ้าไม่มีคาร์บอนเครดิตมาช่วยก็จะดำเนินธุรกิจต่อไปไม่ได้ เรียกว่า จะเกี่ยวข้องกับเราไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะฉะนั้นเรียนรู้ศึกษาไว้ก่อนไม่เสียหาย


รูปโดย: rawpixel