เมื่อการช็อปปิ้งออนไลน์เป็นที่นิยมมากขึ้น ธุรกิจด้านบริการขนส่งก็ยิ่งงอกเงย ถ้าเป็นการขนส่งในระยะทางสั้นๆ ก็สามารถเปลี่ยนไปใช้รถไฟฟ้า (EV) ที่ใช้พลังงานจากแบตเตอรีได้ แต่ถ้าเป็นรถบรรทุกที่ต้องขนส่งในระยะทางไกลๆ ล่ะ จะเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดได้อย่างไร 

ถนนแห่งอนาคต

สภาธุรกิจโลกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (World Business Council for Sustainable Development, WBCSD) ซึ่งเป็นองค์กรที่รวบรวมผู้บริหารธุรกิจชั้นนำจากทั่วโลกหลายร้อยบริษัท ที่มีเป้าหมายให้ภาคธุรกิจร่วมสร้างอนาคตที่ยั่งยืน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ประเมินว่า ระหว่าง พ.ศ.2543-2593 จะเป็นครึ่งศตวรรษแห่งการขนส่งสินค้า ซึ่งทั้งโลกต้องเตรียมรับมือกับการเผาผลาญเชื้อเพลิงและการปล่อยมลพิษจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่จะเพิ่มมากขึ้นเป็นเงาตามตัว หลายประเทศจึงหันมาสร้างถนนไฟฟ้า (Electronic Highways)

Electronic Highways ถนนไฟฟ้า

ถนนชาร์จไฟในตัว

ประเทศแรกที่ตั้งรับวิกฤตพลังงานและสิ่งแวดล้อมจากการขนส่งก็คือ สวีเดน ซึ่งรัฐบาลประกาศว่าจะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใช้ทั้งประเทศภายใน พ.ศ. 2573 และเมื่อ 2 ปีก่อนได้เปิดใช้ถนนไฟฟ้า ‘อีโรดอาร์ลันดา’ (eRoadArlanda) โดยปรับทางหลวงสาย 893 นอกกรุงสตอกโฮล์มให้กลายเป็นถนนฝังรางปล่อยกระแสไฟฟ้า เมื่อแบตเตอรีรถไฟฟ้าเริ่มลดลง ก็ไม่ต้องแวะจอดที่สถานีชาร์จ แค่กดปุ่มปล่อยแหนบรับไฟที่ติดตั้งไว้ใต้ท้องรถออกมาชาร์จแบตเตอรีจากรางบนถนนขณะรถวิ่ง 

ถนนไฟฟ้า ‘อีโรดอาร์ลันดา’ (eRoadArlanda) ที่สวีเดน
Credit : eRoadArlanda

ล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ.2562) เยอรมนีเปิดใช้ถนนไฟฟ้าระยะทาง 4,000 กิโลเมตร ครอบคลุมเส้นทางขนส่งสายหลักของประเทศ ซึ่งหากเป็นรถบรรทุกที่ขนส่งสินค้าทางไกล จะต้องติดตั้งแบตเตอรีลิเธียม-ไอออนจำนวนมหาศาล ถึงจะมีพลังงานเพียงพอให้รถวิ่งไปถึงจุดหมายปลายทาง ซึ่งทำให้ต้นทุนสูงขึ้นมากไปโดยปริยาย 

ทางออกของรัฐบาลเยอรมนีคือ แทนที่จะฝังรางส่งกระแสไฟฟ้าบนพื้นถนนเหมือนถนนไฟฟ้าในสวีเดน ก็เปลี่ยนไปติดตั้งสายส่งไฟเหนือศีรษะแทน วิธีนี้จะทำให้รถบรรทุกไฟฟ้าใช้แบตเตอรีลิเธียม-ไอออนขนาดเท่าแบตเตอรีที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้าเท่านั้น และเพียงติดตั้งแหนบรับไฟเพิ่มไว้ใต้หลังคารถ หากต้องการชาร์จแบตเตอรี ก็กดปุ่มให้แหนบรับไฟเด้งออกมาก็ชาร์จไฟได้โดยไม่ต้องชะลอหรือจอดรถ

การฝังรางส่งกระแสไฟฟ้าบนพื้นถนนของอีโรดอาร์ลันดา
Credit : eRoadArlanda

วิศวกรของโครงการถนนไฟฟ้าในเยอรมนียังกล่าวด้วยว่า สายส่งกระแสไฟเหล่านี้ถูกออกแบบมาให้รื้อถอนและนำไปติดตั้งใช้งานใหม่ได้ ไม่เหมือนเสาไฟฟ้าทั่วไปที่ใช้งานได้ครั้งเดียว 

ถนนลดพลังงาน

อีโรดอาร์ลันดาในสวีเดนลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 80-90% ขณะที่ถนนไฟฟ้าในเยอรมนีช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปีละ 7 ล้านตัน หากรถบรรทุกขนส่งสินค้า 30% เปลี่ยนมาใช้ถนนไฟฟ้า

นอกจากนี้ ถนนไฟฟ้ายังช่วยประหยัดเชื้อเพลิงให้รถบบรรทุกขนาด 40 ตันที่วิ่งเป็นระยะทาง 100,000 กิโลเมตรได้ประมาณ 16,000 ยูโร หรือประมาณ 590,000 บาท เพราะค่าไฟฟ้าราคาเพียง 0.15 ยูโร (5.50 บาท) ต่อกิโลวัตต์ชั่วโมงเท่านั้น  

ส่วนรัฐบาลอังกฤษกำลังพิจารณารายงานถนนไฟฟ้านี้ หากรัฐบาลอนุมัติก็จะใช้เงินลงทุน 19,300 ล้านปอนด์ (ประมาณ 787,000 ล้านบาท) เพื่อเปลี่ยนทางหลวง 7,000 กิโลเมตรให้กลายเป็นอีไฮเวย์ ซึ่งชาร์จแบตเตอรีรถไฟฟ้าขณะรถวิ่งโดยไม่ต้องลดความเร็วเลยด้วยซ้ำ โดยคาดว่าจะคืนทุนภายใน 15 ปี และทำให้ถนนสะอาดขึ้น เงียบลง ภายในพ.ศ. 2573