Grid Brief

  • หากประชากรโลกราว ๆ 300 ล้านคนเปลี่ยนมาจ่ายเงินด้วย e-Payment จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ปีละ 2.1 ล้านตัน และลดขยะได้ 1,600 ล้านตันต่อปี
  • ประเทศไทยใช้งบประมาณ 50,000 ล้านบาทต่อปีในการผลิตและขนส่งเงินสด ไม่ว่าจะเป็นธนบัตรหรือเหรียญกษาปณ์ นอกจากต้องใช้เงินในการผลิตเงินแล้ว ยังต้องใช้พลังงานและทรัพยากรจำนวนมากในการผลิตอีกด้วย
ภาพกราฟฟิกแบงก์ดอลลาร์กำลังเลือนหาย

ผลการศึกษาหลายชิ้นพบว่า เงินสดส่งผลต่อปริมาณก๊าซเรือนกระจก ทำให้เกิดภาวะโลกร้อนได้โดยตรง

พลังงานผลิตเงิน 

ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีคำสั่งให้พิมพ์ธนบัตรเพื่อออกใช้ใน พ.ศ. 2564 ประมาณ 7,600–9,600 ล้านใบ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 341–431 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 1,700–3,800 ล้านใบ โดยให้เหตุผลว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้เงินสดเพิ่มสูงขึ้น โดยธนบัตรของสหรัฐฯ ผลิตจากคอตตอน 75 เปอร์เซ็นต์ ผสมลินิน 25 เปอร์เซ็นต์ หากพิมพ์ธนบัตรประมาณ 6,200 ใบจะใช้คอตตอน 4.6 ล้านกิโลกรัม มีอายุการใช้งานเฉลี่ยใบละ 5.8 ปี

ใน พ.ศ. 2559 ธนาคารกลางแห่งประเทศอังกฤษประกาศยกเลิกธนบัตร 5 ปอนด์และ 10 ปอนด์รุ่นใหม่ที่พิมพ์บนกระดาษ (ซึ่งทำจากคอตตอน) และเปลี่ยนไปใช้โพลีเมอร์ซึ่งเป็นพลาสติกชนิดหนึ่งแทน โดยยกข้อดีว่าธนบัตรโพลีเมอร์มีอายุการใช้งานนานกว่าธนบัตรกระดาษ 2.5 เท่า และในกระบวนการผลิตยังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 8-16 เปอร์เซ็นต์ ทั้งยังปลอมแปลง และ เปื้อนได้ยากกว่า เมื่อเลิกใช้ก็สามารถนำไปรีไซเคิลเป็นกระถางต้นไม้หรือกล่องใส่ของได้อีกด้วย

ทว่า งานวิจัยของ Moneyboat โต้แย้งว่า ธนบัตรโพลีเมอร์ทำลายสิ่งแวดล้อมมากกว่าธนบัตรกระดาษเกือบ 3 เท่า เนื่องจากมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า ทำให้ธนบัตรโพลีเมอร์ถูกหมุนเวียนใช้มากกว่าธนบัตรกระดาษ การหมุนเวียนธนบัตรจากธนาคารกลางไปถึงธนาคารต่างๆ แล้วขนส่งไปเข้าตู้เอทีเอ็ม เพื่อให้ประชาชนเดินทางมากดเงินไปใช้ ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการขนส่ง การเดินทางของผู้คนที่ไปกดเงิน ตลอดจนสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าในการทำงานของตู้เอทีเอ็ม หากคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ ธนบัตรโพลีเมอร์ก็เผาผลาญพลังงานมากกว่าธนบัตรกระดาษ 

ข้อดีว่าธนบัตรโพลีเมอร์มีอายุการใช้งานนานกว่าธนบัตรกระดาษ 2.5 เท่า และในกระบวนการผลิตยังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลง 8-16 เปอร์เซ็นต์ ทั้งยังปลอมแปลง และ เปื้อนได้ยากกว่า

ทั้งนี้รายงานเรื่อง ‘ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของสังคมไร้เงินสด’ ที่จัดทำโดยสถาบันและคณะนักคณิตศาสตร์ประกันภัยแห่งประเทศอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2561 ระบุไว้ว่า ธนบัตรกระดาษทำจากคอตตอน ซึ่งต้องใช้น้ำ ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืชในการเพาะปลูกต้นฝ้าย คือตัวการทำลายสิ่งแวดล้อมที่ไม่อาจมองข้ามไปได้ 

ภาพกราฟฟิกรูปธนาคาร ที่มีมือถืออยู่ตรงหน้า แล้วมีบัตรสมาร์ทการ์ดวางอยู่บนมือถือ

จ่ายเงินออนไลน์ช่วยลดพลังงาน

งานสัมมนาประจำปี พ.ศ.2561 ที่จัดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ภายใต้หัวข้อ ‘สู่ยุคใหม่ของระบบการเงินและธนาคารกลาง’ มีข้อมูลเรื่องของธนบัตรไทยที่น่าสนใจว่า ธนบัตรไทยถูกผลิตขึ้นที่โรงพิมพ์ธนบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทยหรือ ธปท. ก่อนจะกระจายไปยังศูนย์จัดการธนบัตร 10 แห่งทั่วประเทศ หลังจากนั้นธนาคารพาณิชย์จะเบิกเงินสดไปยังศูนย์เงินสด 100 แห่งทั่วประเทศ และ สุดท้ายจะกระจายไปยังตู้เอทีเอ็มหรือสาขา โดยแต่ละวันมีธนบัตรกระจายไปยังตู้เอทีเอ็มประมาณ 70 ล้านฉบับ และเมื่อเรานำเงินสดกลับไปฝาก ธนบัตรบางส่วนจะถูกส่งกลับหากเป็นธนบัตรที่เสื่อมคุณภาพแล้ว 

แต่ปัญหาที่พบในการใช้เงินสดที่ยกตัวอย่างในงานสัมมนานี้ เช่น ในภาคเหนือมีพื้นที่ทับซ้อนในการขนเงินสดจากศูนย์เงินสดไปยังตู้เอทีเอ็มหรือสาขา โดยบางพื้นที่มีรถขนเงินสดวิ่งทับซ้อนกันถึง 5 สถาบันการเงิน รถขนเงินสดบางคันต้องวิ่งทับซ้อนกันหลายเจ้าเพื่อไปเติมเงินในพื้นที่ที่ห่างไกลออกไป 

หากเปลี่ยนมาใช้ e-Payment แทน จะช่วยลดต้นทุนเกือบ 3 เท่าเมื่อเทียบกับธนบัตรกระดาษ และมีต้นทุนเฉลี่ยต่อรายการที่ 0.1-0.4 บาท ส่วนต้นทุนของการผลิตธนบัตรอยู่ที่ 0.1-2.1 บาทต่อฉบับ

ขั้นตอนทั้งหมด จากการผลิตจนถึงการขนส่ง ทำให้ธนบัตรมีต้นทุนทั้งสิ้น 50,000 ล้านบาทต่อปี ยังไม่รวมต้นทุนของประชนชนที่ต้องเดินทางไปกดเงินสด ไปจนถึงความเสี่ยงต่อการถูกโจรกรรมเมื่อต้องมีเงินสดติดตัว แต่หากเปลี่ยนมาใช้ e-Payment แทน จะช่วยลดต้นทุนเกือบ 3 เท่าเมื่อเทียบกับธนบัตรกระดาษ และมีต้นทุนเฉลี่ยต่อรายการที่ 0.1-0.4 บาท ส่วนต้นทุนของการผลิตธนบัตรอยู่ที่ 0.1-2.1 บาทต่อฉบับ หากคนไทยหันมาใช้ e-Payment กันก็จะช่วยประหยัดต้นทุนของประเทศได้ และสามารถนำเงินส่วนนี้ไปพัฒนาด้านอื่นต่อไป 

แม้จะยังไม่มีงานวิจัยเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของการใช้เงินสดในประเทศไทย แต่มีการอ้างอิงผลการวิจัยในสหรัฐที่จัดทำโดย Javelin Strategy & Research ซึ่งรายงานว่า หากพลเมือง 300 ล้านคน (เทียบเท่ากับจำนวนประชากรในสหรัฐ) หันมาโอนและจ่ายเงินออนไลน์ จะช่วยลดขยะได้ 1,600 ตันต่อปี และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ปีละ 2.1 ล้านตัน 

หากเปรียบให้เห็นภาพมากขึ้น การพิมพ์ธนบัตรประมาณ 3,000 ล้านใบ ต้องใช้พลังงานเท่ากับพลเมืองประมาณ 440 ล้านคน ขับรถเป็นระยะทาง 1 กิโลเมตร หรือเปิดหลอดไฟ 60 วัตต์ทิ้งไว้ 12 ชั่วโมงนั่นเอง