Grid Brief

  • ในมุมมองของ ดร.ยศพงษ์ ลออนวล อดีตนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย คิดว่า ผู้ที่จะหันไปใช้รถยนต์ไฟฟ้ามี 2 กลุ่ม คือผู้ที่มั่นใจว่ามีสถานีชาร์จแพร่หลายมากพอ กับผู้ที่ชื่นชอบเทคโนโลยี แต่ในระยะยาวคิดว่าผู้คนน่าจะหันไปใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันเกือบหมด
  • โรคโควิด-19 ส่งผลกระทบกับอุตสาหกรรมยานยนต์มากและน่าจะเป็นธุรกิจที่ฟื้นตัวช้า เพราะมีซัพพลายเชนมาก และเป็นอุตสาหกรรมที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมอื่น ๆ
  • 3 ปัจจัยที่ทำให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า ได้แก่ ราคาที่จับต้องได้ สถานีชาร์จที่กระจายตัวทั่วถึง และแบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพ
  • อนาคตยานยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทย ดร.ยศพงษ์ มองว่า นอกจากช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมในการลดมลพิษทางอากาศแล้ว ยังช่วยสร้างงาน สร้างคน และสร้างมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วย

การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างหนักกับหลายธุรกิจอุตสาหกรรมในไทย หนึ่งในนั้นคืออุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งรวมถึงกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้า (EV Car) ดร.ยศพงษ์ ลออนวล อดีตนายกสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย มาบอกเล่าถึงทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทยเมื่อเผชิญกับวิกฤตโรคโควิด-19 อีกทั้งโอกาส ความหวัง และโจทย์ใหญ่ที่ท้าทายของรถยนต์ไฟฟ้าในโลกปัจจุบันและอนาคต รวมทั้งแนวโน้มการเติบโต และการปรับตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทยทั้งก่อนและหลังเผชิญกับวิกฤตโควิด-19 ด้วย

สถานการณ์ยานยนต์ไฟฟ้าไทย 

การจะให้คนเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าทันทีไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยสิ่งแวดล้อมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกันพอสมควร ด้วยการสร้างสถานีชาร์จไฟให้แพร่หลาย จึงจะทำให้รถยนต์ไฟฟ้าตอบโจทย์ผู้ใช้ ช่วงนี้เริ่มมีโมเดลรถยนต์ไฟฟ้าและสถานีชาร์จให้เห็นมากขึ้น ผมคิดว่าในอีก 4-5 ปีข้างหน้า จะมีรถยนต์ไฟฟ้าให้เลือกเพิ่มขึ้น เพราะคนเริ่มยอมรับมากขึ้น และเมื่อถึงเวลานั้นรถยนต์ไฟฟ้าจะกลายเป็นเรื่องปกติที่คนมีสิทธิ์เลือกใช้กันมากขึ้น แต่ถ้าใครที่ชื่นชอบเทคโนโลยี คนกลุ่มนี้ก็เปลี่ยนมาใช้เลย ผมเปรียบเทียบรถยนต์ไฟฟ้าเป็นเหมือนกล้องดิจิทัลคอมแพกต์ในสมัยก่อน ด้วยคุณสมบัติที่ดีต่อสิ่งแวดล้อม เพราะไม่ปล่อยมลพิษเลยของรถยนต์ไฟฟ้า ผมเชื่อว่าถึงตอนนั้น สถานการณ์การใช้รถของคนก็ไม่ต่างอะไรกับการหายไปของกล้องฟิล์ม และการเข้ามาแทนที่ด้วยกล้องดิจิทัลทั้งหมด รถยนต์

เครื่องยนต์อาจจะยังอยู่ได้ในกลุ่มมืออาชีพ เช่น การเป็นรถแข่งในสนาม เป็นต้น แต่ในระยะยาวแล้ว ผมคิดว่าคนจะหันไปใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันเกือบหมด 


โควิด-19 กับการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า 

โดยภาพรวมของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ล้วนได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 กันหมด อุตสาหกรรมยานยนต์เองถือว่าได้รับผลกระทบหนักด้วย แต่ผมเชื่อว่าก่อนที่บริษัทจะลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าคงมองภาพระยะยาวไว้แล้ว ซึ่งแต่ละบริษัทมีกลยุทธ์ไม่เหมือนกัน ผมกลับมองว่าจากผลกระทบนี้ บางบริษัทอาจปรับตัวเร็วและเข้ามาในธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าก่อน เลยอาจทำให้บางบริษัทอยู่ในตลาดนี้ต่อไปไม่ได้ หรืออาจมีการควบรวมกิจการเกิดขึ้นก็ได้ยิ่งได้รับผลกระทบจากโรค

โควิด-19 ทำให้ยิ่งต้องคิดให้รอบคอบกว่าเดิม เพราะการฟื้นตัวของแต่ละอุตสาหกรรมช้าเร็วแตกต่างกัน 

อุตสาหกรรมยานยนต์น่าจะเป็นส่วนที่ฟื้นตัวได้ช้าที่สุด เพราะว่ามีซัพพลายเชนใหญ่มาก เวลากระทบ ลูกคลื่นจะยาวมาก ด้วยเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ตอบโจทย์ของอีกหลาย ๆ อุตสาหกรรม 


อนาคตยานยนต์ไฟฟ้าในเมืองไทย ดร.ยศพงษ์ มองว่า นอกจากช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อมในการลดมลพิษทางอากาศแล้ว ยังช่วยสร้างงาน สร้างคน และสร้างมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์ด้วย

ปัญหาสิ่งแวดล้อมกับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า 

ก่อนหน้านี้สักสองปี ผมว่าสังคมเราเริ่มตระหนักเรื่อง PM 2.5 กันมากขึ้น ก่อนออกจากบ้านต้องเช็กค่า PM 2.5 แล้วพอมีโรคโควิด-19 ทำให้เกิด New Normal ขึ้นในสังคม เช่น การประชุมออนไลน์ หรือการทำงานที่บ้าน ซึ่งช่วยลดการเดินทางที่ก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมได้ทางหนึ่ง ก็น่าจะทำให้คนยิ่งใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น ที่ผ่านมา คนใช้รถเป็นส่วนหนึ่งของปัญหา แต่ปัจจุบันอาจต้องมองว่าปัญหามลพิษไม่ได้เกิดจากคนใดคนหนึ่ง เป็นความรับผิดชอบของสังคมที่จะต้องตระหนักและร่วมมือกัน ซึ่งทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นได้ เหมือนอย่างในมุมหนึ่งโรคโควิด-19 ที่ทำให้เห็นว่ามนุษย์เปลี่ยนแปลงได้ ถ้าอยู่ในสถานการณ์ที่จำเป็นต้องเปลี่ยน เราก็พร้อมที่จะเปลี่ยน เช่นเดียวกับการเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า เป็นสิ่งที่ทำได้ ถ้าคนรู้สึกว่านี่เป็นเรื่องจำเป็น 


ปัจจัยที่ทำให้หันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น 

ทั้ง 3 ปัจจัยที่อาจจะทำให้คนมั่นใจในการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ได้แก่ 1. ราคา ถ้าทุกคนจับต้องได้เหมือนมือถือที่ไม่มีใครซื้อรุ่นที่ใช้อินเทอร์เน็ตไม่ได้อีกต่อไปแล้ว เพราะทุกคนยอมรับว่ามือถือต้องมาพร้อมสัญญาณอินเทอร์เน็ตและต้องถ่ายรูปได้ ต่างจากยุคก่อนที่มือถือไว้สำหรับโทรเข้าออกได้ก็พอ เช่นเดียวกับรถยนต์ที่อีกหน่อยก็ต้องเป็นไฟฟ้า ฉะนั้นถ้าราคาจับต้องได้ คนจะมองรถยนต์ไฟฟ้าเป็นเรื่องปกติ 2. สถานีชาร์จ เป็นตัวแปรสำคัญสำหรับผู้ที่ใช้รถในระยะทางไกล ๆ ในความหมายผมคือมากกว่า 200 กิโลเมตรขึ้นไป โดยเฉพาะต่างจังหวัด และ 3.แบตเตอรี่ ที่มีอายุใช้งานได้ยาวนานขึ้น 

อนาคตยานยนต์ไฟฟ้า 

ผมมองโอกาสที่จะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยเป็น 3 เรื่อง 

1. ถ้าประเทศเรามีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น จะช่วยลดปัญหามลพิษจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (ก๊าซเรือนกระจก) ลงได้เยอะเลย ลองจินตนาการว่าถ้าเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 100% ไม่มีกลิ่นควันรถ สภาพของความเป็นเมืองก็น่าจะดีขึ้น แก้ทั้งปัญหาโลกร้อนและลดปัญหามลพิษในอากาศได้ 

2. ถ้าผลิตในประเทศได้ จะทำให้เกิดอุตสาหกรรมที่มีการสร้างมูลค่า รวมไปถึงการสร้างงานในประเทศด้วย ซึ่งนโยบายภาครัฐกำลังพยายามสนับสนุนทั้งสองข้อนี้อยู่ 

3. การออกแบบและพัฒนาที่เกิดขึ้นในเมืองไทย การมีวิศวกรร่วมอยู่ในทีมออกแบบรถและพัฒนาเทคโนโลยีนี้ไปพร้อม ๆ กัน จะเป็นบริษัทของไทยเอง หรือจะเป็นบริษัทต่างชาติก็ได้ ขอให้ทำในประเทศไทย เพราะนี่คือโอกาสที่สำคัญมาก ถือเป็นการเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี ซึ่งหมายถึงการสร้างมูลค่าและสร้างคนของเราไปพร้อม ๆ กัน ผมเห็นมีบริษัทคนไทยเริ่มพัฒนากัน จึงคิดว่าสิ่งนี้เป็นไปได้ และกำลังเกิดขึ้นอยู่ 


อุปสรรคและแนวทางแก้ไข 

ต้องมองให้รอบด้านว่าใครมีส่วนได้ส่วนเสีย หรือมีส่วนเกี่ยวข้องบ้าง จากนั้นต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะรัฐบาลหรือหน่วยงานภาครัฐต้องเข้าใจและมีกลไกในการสนับสนุน ขณะเดียวกันผู้ประกอบการต้องมีใจรักที่จะทำเรื่องนี้ด้วยไปพร้อม ๆ กันมหาวิทยาลัยหรือหน่วยงานวิจัยเองก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วม เพื่อให้ยานยนต์ไฟฟ้าตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนนี่เป็นสิ่งสำคัญเพราะถ้าคนทั่วไปยังไม่เข้าใจหรือยังไม่เห็นถึงข้อดี หรือสิ่งที่ผลิตออกมาไม่ตอบโจทย์ สิ่งนั้นก็ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่ได้เกิดการนำไปใช้งานจริง เป็นได้แค่ต้นแบบเท่านั้น การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าจึงต้องพยายามขับเคลื่อนทุกองค์ประกอบให้ไปพร้อม ๆ กัน 

ถ้าเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 100% สภาพของความ เป็นเมืองก็น่าจะดีขึ้น แก้ทั้งปัญหาโลกร้อนและลดปัญหามลพิษในอากาศได้

บทบาทของสมาคมยานยนต์ไทย

สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทยเองก็เข้ามามีบทบาท คือเป็นเหมือนตัวหล่อลื่น ให้เกิดการขับเคลื่อนไปได้เร็วขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาให้บางเรื่องเกิดขึ้นได้เร็วขึ้น ด้วยการพยายามรวมกลุ่มผู้ที่มีความเกี่ยวข้อง เพื่อลดช่องว่างของความไม่เข้าใจซึ่งกันและกันของผู้ที่สนใจในยานยนต์ไฟฟ้า ให้เห็นภาพหรือเข้าใจไปในทางเดียวกัน 

ผมมองเห็นว่าเรามีเป้าหมายเดียวกันคือ การลดการปล่อยมลพิษ เราอยากเห็นการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่มในประเทศ อยากเห็นการวิจัยพัฒนาในประเทศ ถ้าทุกคนเห็นภาพนี้ไปด้วยกัน แล้วทำหน้าที่ในบทบาทของตัวเองให้ดี รวมถึงการประสาน และ ทำงานร่วมกันด้วยความราบรื่น ก็จะทำให้ไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ได้เร็วขึ้น

ถ้าเปลี่ยนเป็นรถยนต์ไฟฟ้าทั้ง 100% สภาพของความเป็นเมืองก็น่าจะดีขึ้น แก้ทั้งปัญหาโลกร้อนและลดปัญหามลพิษในอากาศได้