Grid Brief

  • ไฟฟ้ามีความสำคัญอย่างมากต่อวงการสาธารณสุข เพราะเป็นแหล่งพลังงานหลักในการใช้อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์หลายชนิด
  • ในภาวะที่เกิดโรคระบาด ไฟฟ้ามีบทบาทมากในการช่วยรับมือกับโรคเหล่านั้น ด้วยการตรวจหาเชื้อ ดำเนินการรักษาตามขั้นตอน และการป้องกัน ที่เห็นได้ชัดเจนคือการเก็บรักษาวัคซีน เช่น ตอนโรคโปลิโอและอีโบลาระบาดในทวีปแอฟริกา รวมถึงโรคโควิด-19 ด้วย

นอกจากทีมแพทย์ พยาบาลและทีมงานด้านสาธารณสุขแล้ว ผู้อยู่เบื้องหลังสงครามโควิด-19 ก็คือพลังงานไฟฟ้า เพราะอุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้ในการตรวจหาเชื้อและตรวจรักษา ไปจนถึงเครื่องมือคิดค้นวัคซีน ก็คืออุปกรณ์ไฟฟ้าดีๆ นี่เอง

คนไข้ 1 คน : อุปกรณ์ไฟฟ้า 5 เครื่อง

ผู้หญิงนอนใส่เครื่องช่วยหายใจบนเตียงในโรงพยาบาล

พยาบาลรายหนึ่งในโรงพยาบาลที่เทศบาลเมืองเวนทูรา มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กล่าวว่าเธอไม่กลัวว่าจะติดเชื้อเท่ากับกลัวไฟดับ เพราะการตรวจรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ล้วนต้องพึ่งพาอุปกรณ์ไฟฟ้าหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นเครื่องวัดชีพจร เครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจ เครื่องวัดความดันโลหิต ฯลฯ โดยเฉลี่ยแล้วคนไข้ 1 รายใช้อุปกรณ์การแพทย์ที่ใช้ไฟฟ้าถึง 5 เครื่อง แต่ถ้าอาการทรุดลงก็ต้องใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ เพิ่มขึ้นอีก เช่น เครื่องช่วยหายใจ เป็นต้น  

โรงพยาบาลจึงเป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ ซึ่งใช้ไฟฟ้าประมาณ 36 วัตต์ต่อพื้นที่ 1 ตารางเมตร หรือ มากกว่าไฟฟ้าที่ใช้ตามบ้าน 6 เท่า 

ไฟฟ้าเป็นแหล่งพลังงานสำคัญในทุกด้านของสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นการตรวจหาเชื้อ การป้องกัน การรักษา การผลิตน้ำสะอาดเพื่อใช้ในการทำความสะอาดอุปกรณ์ สถานที่ ไปจนถึงการชำระล้างร่างกาย 


ชีวิตที่ขาดไฟฟ้า

บรรยากาศในห้องผ่าตัด ที่มีเครื่องวัดสัญญาณชีพทำงานอยู่
g

รายงาน Sustainable Development Goal 7 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากองค์การสหประชาชาติเปิดเผยข่าวดีว่า ตัวเลขประชากรที่ไม่สามารถเข้าถึงไฟฟ้าจำนวน 1,200 ล้านคน เมื่อ พ.ศ. 2553 ลดลงเหลือ 789 ล้านคนใน พ.ศ. 2561 

นี่จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้บางประเทศในทวีปแอฟริการับมือกับโควิด-19 ได้ดี เนื่องจากมีสถานพยาบาล และ อุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ ที่ใช้มาตั้งแต่ครั้งเผชิญวิกฤตโรคโปลิโอ และ อีโบลาระบาด 

นอกจากนี้ทวีปแอฟริกายังมีบทเรียนมาแล้วว่า การตรวจหาเชื้อช้าอาจทำให้สถานการณ์โรคระบาดบานปลาย กลายเป็นวิกฤตระดับชาติได้ ผลการศึกษาคลินิกรักษาวัณโรคทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศเอธิโอเปียพบตัวอย่างที่น่าสนใจว่า ในพื้นที่ที่ไฟฟ้าขัดข้องบ่อยๆ การตรวจหาเชื้อวัณโรคซึ่งปกติเสร็จสิ้นภายใน 2 วัน จะล่าช้าออกไปนานเป็นสัปดาห์ 

อีกกรณีตัวอย่างคือ ผลการศึกษาเรื่อง Design of Health Care Technologies for the Developing World ที่ทำการศึกษาโรงพยาบาล 33 แห่งในประเทศกำลังพัฒนา 10 ประเทศ พบว่า ไฟฟ้าขัดข้องคือสาเหตุที่พบมากที่สุดที่ทำให้อุปกรณ์การแพทย์เสียหาย โดยเฉพาะประเทศซิมบับเวที่พบว่า ใน พ.ศ.2562 ผู้หญิงที่จะทำคลอดในคลินิกทุกแห่งที่ไม่ใช่โรงพยาบาลใหญ่ๆ จะต้องนำเทียนไขมาด้วย อันเนื่องมาจากไฟฟ้าขัดข้องบ่อย

เมื่อการแพทย์เกี่ยวข้องกับไฟฟ้า ฉะนั้น การที่ไฟฟ้าดับแม้เพียงไม่กี่นาที อาจหมายถึงความเป็นความตายของผู้ป่วย

เจ้าหน้าที่ในห้องปฏิบัติการใช้กล้องจุลทรรศน์และคอมพิวเตอร์ในการวิเคราะห์

วัคซีนโควิด-19 กับไฟฟ้า

นอกจากไฟฟ้าจะเป็นแหล่งพลังงานสำคัญในทุกด้านของสาธารณสุขในการรับมือกับโรคโควิด-19 แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการตรวจหาเชื้อ การป้องกัน หรือการรักษา ถึงแม้จะมีการค้นพบวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้สำเร็จ ไฟฟ้าก็ยังคงมีบทบาทสำคัญไม่น้อยไปกว่าเดิม เพราะวัคซีนจะยังคงประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อเก็บรักษาไว้ในอุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นเรื่องยากหากพื้นที่นั้นไม่มีไฟฟ้าใช้

อย่างเมื่อครั้งที่โรคอีโบลาระบาดในแถบซับ-ซาฮาราของทวีปแอฟริกานั้น ทีมสาธารณสุขต้องบรรจุวัคซีนลงในถังเก็บความเย็น แล้วเคาะประตูบ้านทีละหลังๆ ไปตามถนนขรุขระ เพื่อฉีดวัคซีนให้กับเด็กๆ ตามหมู่บ้าน ซึ่งสามารถไปได้ไกลตราบเท่าที่น้ำแข็งในถังเก็บความเย็นยังไม่ละลายเท่านั้น    

ทั้งนี้ ไม่เพียงต้องเก็บรักษาวัคซีนไว้ในอุณหภูมิที่เหมาะสมเท่านั้น แต่ระบบไฟฟ้าในพื้นที่นั้นๆ ต้องมีความเสถียรด้วย เพราะหากไฟฟ้าขัดข้องบ่อย อาจทำให้วัคซีนเสื่อมคุณภาพลงได้ ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ประมาณการว่า ในแต่ละปีมีวัคซีนชนิดน้ำ 25% และวัคซีนแบบฟรีซดราย (การทำแห้งแบบแช่เยือกแข็ง) 50% ที่ต้องเสื่อมสภาพไป เนื่องจากไฟฟ้าในเครื่องทำความเย็นขัดข้อง 

โลกสมัยใหม่นั้นพึ่งพาไฟฟ้าอย่างแยกไม่ออก หนึ่งในการหาทางออกจากวิกฤตโรคโควิด-19 จึงต้องตระหนักถึงความสำคัญของพลังงานไฟฟ้า ทั้งยังถือเป็นแนวทางป้องกันและรับมือ หากโลกเผชิญหน้ากับโรคระบาดครั้งต่อไป