Grid Brief

  • เมื่อการแบ่งกลุ่มผู้บริโภคตามอายุ เพศ และรายได้ ไม่มีประสิทธิภาพเหมือนเดิมแล้ว เพราะผู้บริโภคในยุคนี้มีพฤติกรรมการใช้เงินที่เปลี่ยนไป การทำความเข้าใจบริบททางสังคมด้วย จึงจำเป็นต่อการสร้างความมั่งคั่ง ทั้งในด้านบุคคลและโครงสร้างเศรษฐกิจ
  • คนรุ่นใหม่ คนโสด และผู้สูงวัย คือ 3 กลุ่มสำคัญที่การใช้จ่ายของพวกเขาสามารถส่งผลต่อเศรษฐกิจระดับประเทศ โดยมีพฤติกรรมที่แตกต่างกันออกไปอย่างสิ้นเชิง

พลวัตหรือการเปลี่ยนแปลงทางสังคมมักส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจเสมอ โดยเฉพาะทฤษฎีพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ในยุคที่โลกเชื่อมถึงกันได้อย่างไร้พรมแดน มุมมองในประเด็นนี้มีได้หลายมิติ ทั้งในเชิงปัจเจกโดยสังเกตจากพฤติกรรมการใช้เงินของตัวเองและคนรอบข้าง และในเชิงโครงสร้างซึ่งส่งผลต่อการประกอบธุรกิจทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เพราะการแบ่งกลุ่มผู้บริโภคตามลักษณะเฉพาะ เช่น อายุ เพศ และรายได้ อาจไม่มีประสิทธิภาพเท่ากับการแบ่งตามความชอบและรสนิยม ซึ่งเป็นมุมมองที่มีความเข้าอกเข้าใจมนุษย์มากขึ้น และสามารถตอบสนองความต้องการผู้บริโภคได้อย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่ คนโสด หรือผู้สูงอายุ เรามารู้จักคำศัพท์ที่ใช้เรียกกลุ่มผู้บริโภคกลุ่มนี้ไปด้วยกัน

Credit: Laura Chouette

HENRY ( High Earners, Not Rich Yet)

ผู้ที่มีรายได้สูง แต่ยังไม่มีความมั่งคั่งทางการเงินสักที คือผู้ที่มีรายได้ปีละหลายล้านบาท แต่ก็มีภาระค่าใช้จ่ายสูงเป็นเงาตามตัว เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าผ่อนรถ ค่าใช้จ่ายส่วนตัว รวมถึงค่าเข้าสังคมที่ต้องตอบสนองไลฟ์สไตล์ของตัวเอง เห็นได้ชัดในกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพในการทำงาน ทำให้มีรายได้สูง แต่มีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ค่อนข้างหรูหรา จนแทบจะไม่มีเงินเก็บ คนกลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มเป้าหมายสำหรับสินค้าระดับลักชัวรี่ที่ปรารถนาผู้บริโภคหน้าใหม่ ในขณะเดียวกัน ก็เป็นโอกาสของสถาบันการเงินหรือตัวแทนประกันชีวิตที่สามารถสเริ่มสร้างความมั่นคงทางการเงินให้กับพวกเขาได้ เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่คนกลุ่มนี้หยุดทำงาน พวกเขาก็จะไม่มีเงินทันที 


Credit: Alexander Grey

DINK ( Dual Income – No Kid)

คู่รักที่ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันโดยไม่มีลูก ซึ่งเป็นค่านิยมของสามี-ภรรยารุ่นใหม่ที่เพิ่งแต่งงานและยังไม่อยากมีลูก บ้างก็รอให้มีความพร้อมทางการเงินก่อน บ้างก็เป็นการตกลงกันแต่แรกที่จะไม่มีลูก กลุ่มนี้ยังรวมถึงคู่รักเพศทางเลือกที่ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างเปิดเผยมากขึ้น และมีแนวโน้มที่ดีในด้านกฎหมายซึ่งจะผูกพันกันในมิติเศรษฐศาสตร์อย่างแยกจากกันไม่ได้ เมื่อพวกเขามีรายได้คูณสองและไม่ต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการดูแลบุตรหลาน คนกลุ่มนี้มักสร้างประสบการณ์ชีวิตให้ตัวเอง เช่น การท่องเที่ยว การซื้ออสังหาริมทรัพย์ราคาสูง การลงทุนในหุ้น พันธบัตร หุ้นกู้ ฯลฯ เพื่อเสริมความมั่นคง และให้ใช้ชีวิตได้อย่างสบายในยามเกษียณ

Credit: Jens Lindner

PANK (Professional Aunt, No Kids)

หญิงโสดที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป อาจไม่มีครอบครัวหรือลูก แต่มีบทบาทด้านความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้างค่อนข้างสูง เช่น เป็นป้าที่ดีของหลาน เป็นน้าที่น่ารักของลูกเพื่อน ผู้หญิงในกลุ่มนี้สลัดค่านิยมเดิม ๆ เกี่ยวกับการแต่งงานมีครอบครัวออกไป และตั้งเป้าหมายในชีวิตให้กับการทำงาน และการสร้างความมั่งคั่งเป็นลำดับแรก โดยเชื่อว่าการประสบความสำเร็จในชีวิตได้ จะต้องสร้างสมดุลของการทำงานและการใช้ชีวิตได้ดี หญิงโสดกลุ่มนี้จึงใช้ชีวิตนอกเวลางานไปกับการเลือกสรรสิ่งดี ๆ ให้กับบุคคลอันเป็นที่รักของพวกเธอ ตั้งแต่ของเล่นให้หลานของกระจุกกระจิก อาหาร การท่องเที่ยว การศึกษา เพื่อเติมความรู้และบ่งบอกการมีรสนิยมของตัวเอง


Credit: Sincerely Media

FIRE (Financial Independence Retire Early)

การเกษียณอายุของคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการมีอิสระทางการเงินและหยุดทำงานก่อนวัยเกษียณ เพราะมองว่าในวัยเกษียณอาจสายไปสำหรับการเดินทางท่องเที่ยว หรือตามความฝันตัวเองในเรื่องต่าง ๆ จึงมีการวางแผนการเงินตั้งแต่ช่วงเริ่มทำงาน (หรือบางคนอาจทำมาตั้งแต่ก่อนเรียนจบด้วยซ้ำ) เพราะรู้ว่ายิ่งลงทุนเร็วเท่าไหร่ ก็ยิ่งได้รับผลตอบแทนที่สูง และมีความเสี่ยงที่ต่ำกว่าการลงทุนในวันที่อายุเพิ่มขึ้น พวกเขาคือนักลงทุนมืออาชีพ มีความหลากหลายในพอร์ตของตัวเอง รวมถึงการมองหาธุรกิจหรืองานเสริมอื่น ๆ เพื่อร่นระยะเวลาในการปลดแอกจากชีวิตพนักงานประจำให้เร็วที่สุด เพราะเห็นภาพอนาคตของตัวเองแล้วว่า สามารถสร้างสินทรัพย์ได้มากกว่านี้เมื่อใช้เวลาทั้งหมดที่มีไปกับการบริหารอนาคตของตัวเอง MMM คือกลุ่มประชากรที่กำลังจะมีมากที่สุดในโลก 


Credit: krakenimages

MMM (Mr. Money Mustache)

ชื่อย่อที่เอาไว้เรียกกลุ่มผู้สูงอายุวัยเกษียณ ผู้พร้อมใช้เงินที่เก็บมาตลอดชีวิต รวมทั้งเงินบำนาญที่จะได้รับเพื่อใช้จ่ายรายเดือน ผู้สูงวัยสนใจทั้งการท่องเที่ยว สุขภาพ และการลงทุนเล็ก ๆ น้อย ๆ อุปนิสัยของผู้บริโภคกลุ่มนี้คือมีความซื่อสัตย์ต่อแบรนด์สูงมาก ซึ่งต่างจากเด็กรุ่นใหม่ที่มักเลือกแบรนด์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตัวเองได้มากกว่า ดังนั้น แบรนด์ไหนที่ออกแบบสินค้าหรือบริการเพื่อเอาใจลูกค้ากลุ่มผู้สูงอายุโดยเฉพาะ จะมีตลาดที่แข็งแรงและยาวนานไม่ต่ำกว่า 10 ปี จึงยังมีช่องว่างในการแข่งขันทางธุรกิจสำหรับตลาดกลุ่มนี้ 

ไม่ว่าคุณจะเป็นผู้บริโภคหรือผู้ประกอบการ ถ้าสามารถวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้เงินของบุคคลแต่ละกลุ่มได้ ก็ถือว่ามีข้อมูลสำคัญอยู่ในมือ และยิ่งมีการนำไปใช้ให้ถูกต้องเหมาะสมกับจังหวะเวลา ก็จะเป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น