Grid Brief

  • ประเทศไทยจะกลายเป็น ‘ประเทศแรกของโลก’ ที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุขั้นสุดยอด (Super-aged Society) ภายในปี 2572
  • ผู้สูงอายุในประเทศไทยมีเพียง 5% ที่มีเงินเหลือเก็บ ขณะที่ผู้สูงอายุ 34% มีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาท
  • ยิ่งเริ่มออมเร็วเท่าไรได้ยิ่งดี เพื่อให้มีเงินเพียงพอหลังเกษียณ โดยแบ่งเงินออกเป็น 5 กอง ได้แก่ 1. เงินเผื่อฉุกเฉิน 2. ออมเพื่อเกษียณ 3.เงินลงทุน 4.เงินพัฒนาตนเอง และ 5.เงินพักผ่อน

สังคมสูงอายุระดับสุดยอด (Super-Aged Society) หมายถึง สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเกินกว่า 28% ของประชากรทั้งประเทศ หรือเป็นสังคมที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป เกินกว่า 20% ของประชากรทั้งหมด

ล่าสุด ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ไทยจะก้าวเป็นสังคมสูงอายุขั้นสุดยอด ในปี 2572 ซึ่งเร็วขึ้นกว่าเดิม หลังประชากรไทยเริ่มลดจำนวนลงมาแล้ว 3 ปีติดต่อกันตั้งแต่ปี 2563-2565 อัตราการเกิดและภาวะเจริญพันธุ์มีแนวโน้มลดต่ำลงต่อเนื่อง

ทำให้ประเทศไทยจะกลายเป็น ‘ประเทศแรกของโลก’ ที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุขั้นสุดยอดภายในปี 2572 แต่ปัญหาที่น่ากลัวกว่านั้นคือมีผู้สูงอายุเพียง 5% เท่านั้นที่มีเงินเหลือเก็บ ขณะที่ 34% ของผู้สูงอายุมีรายได้น้อยกว่า 30,000 บาท ซึ่งต่ำกว่าเส้นความยากจน และผู้สูงอายุในประเทศไทยมีเงินออมต่ำกว่า 50,000 บาท 

คงไม่เกินจริงกับคำที่ได้ยินได้อ่านกันอย่างแพร่หลายในเวลานี้ว่า คนไทยจะ ‘แก่ก่อนรวย ป่วยก่อนตาย’  

แล้วจะทำอย่างไรไม่ให้เราไปถึงจุดนั้น 

Credit: benzoix

ยิ่งออมเร็วเท่าไร ยิ่งรวยเร็วขึ้นเท่านั้น

แม้วันนี้คุณจะอายุ 20 ต้น ๆ ก็ควรเริ่มคิดเรื่องการวางแผนเกษียณได้แล้ว เพราะยิ่งออมเร็วเท่าไร ยิ่งมีโอกาสบรรลุเป้าหมายได้มากขึ้น ตัวอย่างคลาสสิกของโลกคือ วอร์เรน บัฟเฟตต์ หนึ่งในอภิมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลกนั้นเริ่มลงทุนมาตั้งแต่อายุ 10 ขวบ เมื่อถึงวัย 26 เขาเก็บเงินแสน (ดอลลาร์สหรัฐ) แรกได้ เมื่อถึงวัย 30 เขากลายเป็นเศรษฐีมีเงินหลักสิบล้าน ($) และในวัย 59 ปี เขามีทรัพย์สินราว ๆ 3,600 ล้านดอลลาร์ จนถึงปัจจุบันในวัย 93 ปี ทรัพย์สินของเขาพอกพูนเป็น 137.7 พันล้านดอลลาร์จากการจัดสรรเงินมายาวนานถึง 83 ปี  

จุดเริ่มต้นของการเก็บออมมาจาก ‘จินตนาการ’ ว่า เราอยากใช้ชีวิตอย่างไรตอนเกษียณ ต้องใช้เงินเดือนละเท่าไร อยากมีคุณภาพแบบไหน เพื่อนำมาคำนวณว่าเราต้องมีเงินเท่าไรในวันที่เราหยุดทำงาน และสามารถใช้ชีวิตอย่างที่วาดหวังไว้ได้จนกว่าจะจากโลกนี้ไป เช่น หากอยากเกษียณในวัย 60 ปี และคาดว่าจะมีอายุขัย 80 ปี หมายความว่าเราต้องมีเงินเก็บเพียงพอสำหรับ 20 ปีที่ไม่ได้ทำงาน เป็นต้น

Credit: tirachardz

เงิน 5 กองสำหรับยุคทองของวัยชรา

ทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายเพื่อให้เห็นเส้นทางการเงินของเราเอง แล้วจึงแยกเงินออกเป็น 5 กองดังนี้

  1. เงินเผื่อฉุกเฉิน ควรมีเงินสภาพคล่องพร้อมใช้ไว้ 6-12 เดือนของค่าใช้จ่ายประจำต่อเดือน และต้องเก็บเงินก้อนนี้ไว้เผื่อเหตุที่ต้องใช้จริง ๆ เท่านั้น 
  2. เงินออมเพื่อเกษียณ เงินที่แยกไว้ออมรายเดือน หากมีน้อยก็ออมน้อย แต่หัวใจสำคัญคือต้องออมเป็นประจำสม่ำเสมอ 
  3. เงินลงทุน อีกทางที่จะช่วยให้เงินเติบโตเร็วขึ้น โดยอาจลงทุนในหุ้น กองทุนรวม กองทุนดัชนี ฯลฯ ซึ่งจำเป็นต้องศึกษาข้อมูลก่อนลงทุนและควรกำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนว่าลงทุนไปเพื่ออะไร
  4. เงินพัฒนาตนเอง เพราะ ‘การลงทุนที่ดีที่สุดคือการลงทุนในตัวเอง’ จึงควรแยกเงินไว้เพิ่มความรู้และทักษะในด้านต่าง ๆ เช่น ซื้อหนังสือ ลงเรียนคอร์สภาษาที่ 3 ไปร่วมงานเสวนา ฯลฯ 
  5. เงินพักผ่อน อย่าเครียดมากเกินไป เราไม่ได้เกิดมาเพื่อตั้งหน้าตั้งตาเก็บเงินอย่างเดียว ชีวิตจะสมดุลขึ้นมากหากเรามีเวลาไปพักผ่อนบ้าง เช่น ไปเดินทางท่องเที่ยว นอกจากจะได้เปิดโลกกว้างแล้ว ยังช่วยชาร์จพลังให้มีแรงเดินหน้าตามแผนเกษียณต่อไปได้ 

อย่างไรก็ตาม อย่าเก็บออมเป็นเงินสดเท่านั้น พึงระลึกด้วยว่า เงินในวันพรุ่งนี้มีค่าน้อยกว่าเงินในวันนี้เสมอ เนื่องจากภาวะ ‘เงินเฟ้อ’ ควรศึกษาเพิ่มเติมว่าจะเก็บออมเงินในรูปแบบอื่นใดได้บ้างที่ไม่ใช่เงินสด และต้องเปลี่ยนเงินสดให้เป็นสินทรัพย์ที่ไม่ด้อยค่าลง แต่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามกาลเวลา เช่น ทอง ที่ดิน เป็นต้น  

นอกจากนี้ ควรศึกษาข้อมูลเรื่องการเงินจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น เว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย www.set.or.th  หรือ https://www.smarttoinvest.com/ ของสำนักงาน กลต. และทดลองคำนวณวางแผนเกษียณได้ที่ https://www.setinvestnow.com/th/financialplanning 


รูปโดย: Freepik