เราอยู่กันริมสายน้ำเพชรบุรี หากไม่นับที่ผู้คนตามหย่อมย่านริมฝั่งที่เคารพบูชาราวกับเป็นสายน้ำศักดิ์สิทธิ์ นี่คือความสมบูรณ์ของป่าเขาและสรรพชีวิตที่พึ่งพาอาศัยอยู่มานานเนิ่น ที่มาจากแถบยอดเขาพะเนินทุ่งและลำห้วยสาขาและผืนป่าน้อยใหญ่ในเขตพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี ว่ากันว่าแม่น้ำสายนี้คือต้นทางของการอยู่กินและชีวิตของคนเมืองเพชรและทุกทุ่งท่าที่มันไหลผ่าน

อากาศเย็นชื่นริมแม่น้ำเพชรบุรีห่อหุ้มตัวเราไว้ เป็นความอุดมชุ่มชื้นของป่าไม้สีเขียวทึบที่ห้อมล้อมเราอยู่ ณ บ้านถ้ำเสือ อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี ละแวกบ้านเต็มไปด้วยสวนมะนาว สวนผลไม้เมืองร้อน ปลูกไว้แน่นขนัดตามที่ดินของแต่ละบ้าน ไม้ใหญ่ขึ้นเด่นหนาทึบอยู่ที่ชายน้ำและในป่าเขาที่อยู่ไกลตาออกไป รอบด้านคือธรรมชาติที่คนเมืองคุ้นตามาตั้งแต่บรรพบุรุษแต่ก็ยังโหยหาบรรยากาศที่เคยคุ้น

เราอยู่ในวงล้อมของ “ป่าบ้าน” พื้นที่ตรงกลางระหว่างป่าใหญ่สองฟาก อันเป็นที่ตั้งของหมู่บ้าน ซึ่งมีไม้ใหญ่แทรกแซมลงไปนานหลายปี ความชุ่มชื้นสมบูรณ์ในเนื้อดินคือสิ่งสะท้อนการกระทำของคนบ้านนี้

คนบ้านถ้ำเสือจัดตั้งวิสาหกิจชุมชนธนาคารต้นไม้บ้านถ้ำเสือเพื่อดูแลพื้นที่และชีวิตอย่างเป็นรูปธรรม นำแนวทางการจัดการต้นไม้มาเป็นส่วนสำคัญในการช่วยอนุรักษ์สภาพแวดล้อมของธรรมชาติ โดยต้นไม้ที่พวกเขาปลูกไว้ในอาณาบริเวณบ้านนั้น เมื่อเติบใหญ่จนเข้าหลักเกณฑ์ของธนาคารต้นไม้ จะสามารถนำข้อมูลมาเป็นหลักประกันในการกู้เงินได้ พวกเขามีรายได้ที่ต่อเนื่องจากการดูแลตามอัตราการเติบโต ไม่เพียงเท่านั้น คนถ้ำเสือยังสามารถนำพาชุมชนเข้าสู่โครงการคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit) ที่มีการเทียบเคียงค่าคาร์บอนจากการลดการเผาไหม้และใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ผ่านการใช้พลังงานที่เกิดให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศ

แลนด์สเคปสวย ๆ ของบ้านถ้ำเสือถูกปรับเป็นพื้นที่ทำกิจกรรมสำหรับนักท่องเที่ยว ทั้งการเก็บผัก ดูสวนอินทรีย์ ทำอาหาร ทำขนม ซึ่งทุกกิจกรรมตั้งเป้าในการลดการใช้ไฟและลดขยะ เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวได้ลองทำอะไรง่าย ๆ ทว่าไม่เคยคุ้นและห่างไกลในชีวิตจริงกลางเมืองหลวงดูบ้าง เสียงหัวเราะและการชี้ชวนทำความเข้าใจในคุณค่าของอากาศและต้นไม้ของครอบครัวเล็ก ๆ นั้นดูสดชื่นรื่นรมย์ เด็ก ๆ ที่ล่วงหน้าไปทำกิจกรรมก่อนกำลังปั้นดินเป็นลูกกระสุน ข้างในสอดไส้เมล็ดพันธุ์ไม้ยืนต้นที่พวกเขาจะนำติดตัวไปด้วยตอนปั่นจักรยานออกไปจากหมู่บ้าน เพื่อใช้เป็นกระสุนสำหรับการยิงหนังสติ๊กที่ป่าศักดิ์สิทธิ์ อันเป็นที่ตั้งของถ้ำเสือ

นอกเหนือไปจากการดูธนาคารต้นไม้และสวนผลไม้อินทรีย์หลากหลายชนิดแล้ว บริเวณแปลงสาธิตที่เป็นทั้งโรงเรือนเพาะพันธุ์ไส้เดือนสำหรับส่งขาย ยังมีบ่อปลา แปลงดอกไม้ และการทำกสิกรรมตามวิถีเกษตรพอเพียงตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9

ถนนและตรอกซอยรวมถึงพื้นที่การเกษตรในเขตพื้นที่บ้านถ้ำเสือเต็มไปด้วยภาพแห่งการผสมผสานระหว่างการท่องเที่ยว การดูแลรักษาธรรมชาติของคนในหมู่บ้าน รวมไปถึงภาพสัมพันธ์ระหว่างชาวบ้านกลางหุบเขากับผู้คนจากภายนอก ภาพเช่นนี้คึกคักอยู่ที่บ้านถ้ำเสือเสมอ ทั้งในวันสุดสัปดาห์ที่เต็มไปด้วยผู้มาเยือนจากภายนอก หรือในวิถีกสิกรรมอันเป็นปกติธรรมดาที่ดำเนินไปอย่างเรียบง่ายภายใต้กรอบกฎการดำเนินไปของคืนวัน สื่อสาร รับรู้ และส่งต่อความคิดความเชื่อเรื่องการใส่ใจในผืนแผ่นดินได้อย่างมีสีสัน ตราบเท่าที่การหันหลังกลับมาดูแลผืนแผ่นดินยังอยู่ในดวงตาและหัวใจของชาวบ้านอย่างแจ่มชัดและคงทน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสายน้ำเพชรและความร่มรื่นสองฟากฝั่งตรงบ้านถ้ำเสือมีเสน่ห์ดึงดูดให้คนหลงรักโลกกลางแจ้งอยากมาสัมผัสบรรยากาศผ่อนคลายที่ชายน้ำ เต็มไปด้วยต้นจามจุรีและไม้ใหญ่นานาชนิดให้ร่มเงาเกือบทั้งวัน ยังไม่นับดอนเนินที่เป็นเกาะแก่ง ซึ่งทางโฮมสเตย์สร้างสะพานไม้ไผ่ให้เดินข้ามไปได้สะดวก จึงเริ่มมีนักท่องเที่ยวทยอยขนเต็นท์หลังสวยและอุปกรณ์ต่าง ๆ นานาลงไปวางจับจองทำเลกางเต็นท์ ช่วยเพิ่มสีสันให้หมู่บ้านริมน้ำกลางป่าเขา

น่ายินดีและชวนให้รู้สึกหมดห่วงอยู่ไม่น้อยที่กระแสนิยมการแคมปิ้งยุคใหม่นั้น ไม่ได้ใส่ใจแค่อุปกรณ์เก๋ไก๋สารพัดสารพัน แต่ยังยึดถือค่านิยม “ไม่ทำลาย ไม่ก่อกวน ไม่ทิ้งอะไรไว้นอกจากความเท่ในโซเชียล” ซึ่งส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวที่เคารพพื้นที่และธรรมชาติ

อีกหนึ่งกิจกรรมท่องเที่ยวแบบดั้งเดิมของผู้มาเยือนแก่งกระจาน ก็คือการล่องเรือยางในแม่น้ำเพชร เป็นกิจกรรมที่ไม่สิ้นเปลืองพลังงาน แทบทั้งวันเราจะเห็นเรือยางบรรทุกนักท่องเที่ยวถือพายอันโตล่องผ่านท่าน้ำบ้านถ้ำเสือไปขึ้นตามรีสอร์ตอื่น ๆ เสียงหัวเราะเริงร่าลั่นไปตลอดการล่อง ส่วนใครอยากจะดำผุดดำว่ายในน้ำก็ทำได้ตามปรารถนา

ใครสักคนในหมู่บ้านเล็ก ๆ แห่งนี้ได้กล่าวไว้ว่า สารตั้งต้นของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของคนที่นี่เริ่มง่าย ๆ มาจาก 3 อย่าง หนึ่งคือแม่น้ำเพชรบุรีอันเป็นที่เคารพบูชา พึ่งพาหากิน สองคือการเกษตรอินทรีย์ที่พวกเขาเลือกเป็นแนวทางในการฟื้นฟูแผ่นดินและลงมือให้การทำกินนั้นปลอดภัยกับชีวิต และประเด็นสุดท้ายนั้นหนีไม่พ้นธนาคารต้นไม้ หลักประกันความยั่งยืนในชีวิตที่เป็นมากกว่าความร่มรื่น

วันที่โลกเคลื่อนเข้าหากันได้โดยง่ายดาย ความรู้สึกนึกคิดและการลงมือดูแลธรรมชาติที่เป็นเหมือนต้นทุนแรกในชีวิตของคนสักกลุ่มหนึ่งไม่ได้ซุกซ่อนอยู่ในขุนเขาห่างไกล

แต่มันกลับยิ่งจริงแท้และแน่ชัด ส่งต่อผ่านอากาศ แมกไม้ สายน้ำ และความปรารถนาดีต่อทุกชีวิตที่เลือกพาตัวเองเข้าอยู่ในโอบล้อมของขุนเขาเดียวกัน

เรื่องโดย ฐากูร โกมารกุล ณ นคร
ภาพโดย ศรุต ทัพพเศวต

การท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านถ้ำเสือ

เลขที่ 8 หมู่ที่ 3 ตำบลแก่งกระจาน อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี 76170
โทรศัพท์ 08-2918-7774 และ 08-1130-3835
เว็บไซต์ www.baanthamsue.com
เฟซบุ๊ก : โฮมสเตย์บ้านถ้ำเสือ อ.แก่งกระจาน