Grid Brief

  • ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) เข้ามามีบทบาทในการทำงานของหลากหลายแวดวง ทั้งเกษตรกรรม การแพทย์ การขนส่งสินค้า การตลาด การบริการลูกค้า การลงทุน
  • อาชีพที่มีความเสี่ยงว่าจะถูก AI เข้ามาแทนที่ แบ่งได้ 4 กลุ่ม คือกลุ่มที่มีความเสี่ยงน้อย คืออาชีพที่ต้องใช้ Soft Skills ในการทำงาน กลุ่มปลอดภัย คืออาชีพที่ทำงานเพื่อตอบโจทย์ความต้องการเฉพาะบุคคลที่มีความหลากหลาย กลุ่มอันตรายปานกลาง คืออาชีพที่มีทักษะการทำงานได้หลายอย่างในตัวคนเดียว และกลุ่มอันตรายมาก คือมีความเสี่ยงมากที่จะถูก AI แทนที่ คืออาชีพที่ทำงานซ้ำ ๆ จำเจ
  • การปรับตัวเพื่อรับมือกับ AI ทำได้ด้วยการเปิดใจยอมรับความเปลี่ยนแปลง และศึกษาประโยชน์รวมถึงวิธีใช้ AI ในการทำงาน ในขณะเดียวกันก็ต้อง Reskill ทักษะความสามารถของตัวเองให้พัฒนาขึ้น พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ

ผลจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมทำให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีใหม่ ๆ อยู่เสมอ และสิ่งหนึ่งที่เข้ามามีบทบาทในการทำงานของแวดวงต่าง ๆ ก็คือ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) ถือเป็นซอฟต์แวร์ที่สามารถส่งต่อไปยังที่ไหนในโลกก็ได้ และพร้อมใช้งานได้ทันที

หลายคนจึงกังวลใจว่า “แล้ว AI จะเข้ามาแย่งงานที่ทำอยู่ไหม” หรือ “ต้องปรับตัวอย่างไรที่จะอยู่กับเจ้า AI ได้” เรามีคำตอบ

เปิดใจรับ AI

จำตอนที่เพิ่งมีการนำคอมพิวเตอร์มาใช้งานได้ไหม ตอนนั้นหลายคนกังวลว่าตัวเองต้องตกงาน หรือถูกลดบทบาทและความสำคัญลงหรือเปล่า แต่ปัจจุบันกลับกลายเป็นว่า เราต่างใช้คอมพิวเตอร์เป็นอุปกรณ์สำคัญในการทำงาน นั่นเพราะได้รู้และเห็นถึงความสามารถและประโยชน์ของคอมพิวเตอร์แล้วนั่นเองกับ AI ก็ไม่ต่างกัน

ก่อนอื่นต้องเปิดใจศึกษาและเรียนรู้ AI  ก่อนว่า ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้ทำงานแทนมนุษย์ได้ ในงานที่มีลักษณะต้องทำซ้ำ ๆ หรืองานวิเคราะห์ข้อมูลมหาศาลที่มากเกินกว่ามนุษย์จะทำเองได้โดยไม่ผิดพลาด และงานที่มีความเสี่ยง ทั้งนี้ เหตุผลส่วนใหญ่ขององค์กรต่าง ๆ ที่นำ AI มาใช้ คือ การรับมือและดูแลลูกค้า การช่วยให้ตัดสินใจได้รวดเร็วขึ้น และเพื่อลดค่าใช้จ่าย

ฉะนั้น AI จึงเข้ามาช่วยเราทำงาน และทำให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อาชีพไหนที่ AI จะมาแทนที่

Credit: Alex Knight

Kai-Fu Lee ผู้คิดค้น AI ในยุคแรก ๆ ได้แบ่งกลุ่มงานที่มีความเสี่ยงว่า AI จะเข้ามาแทนที่ไว้เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

  1. Human Veneer (ความเสี่ยงน้อย) เช่น พนักงานเสิร์ฟ บาริสตา บาร์เทนเดอร์ พนักงานต้อนรับ เป็นต้น เนื่องจากเป็นอาชีพที่ต้องใช้ Soft Skills หรืออธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ คือทักษะเฉพาะบุคคลที่เป็นนามธรรมที่ช่วยให้ทำงานและสื่อสารกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาชีพดังกล่าวล้วนแต่ต้องใช้มนุษยสัมพันธ์สูง แต่ไม่ต้องใช้ความละเอียดอ่อนเยอะ และทำงานในสภาพแวดล้อมคงเดิม ทว่า หากคนเราให้ความสำคัญเรื่องมนุษยสัมพันธ์ลดลง ก็อาจถูก AI เข้ามาแทนที่ได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน
  2. Safe Zone (โซนปลอดภัย) เช่น ช่างตัดผม นักกายภาพบำบัด พยาบาลดูแลผู้สูงอายุ และคนฝึกสุนัข อาจดูคล้ายกับกลุ่มแรก เพราะต้องมีมนุษยสัมพันธ์เช่นเดียวกัน แต่ต้องอยู่ในระดับที่สูงกว่า และเป็นอาชีพที่ต้องทำงานกับความชอบและไลฟ์สไตล์ที่แตกต่างกันของลูกค้า ซึ่ง AI ไม่สามารถทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่คงที่ได้ดีเท่ามนุษย์
  3. Slow Creep (โซนอันตรายปานกลาง) เช่น แม่บ้าน ช่างประปา คนขับแท็กซี่ คนงานก่อสร้าง พนักงานรักษาความปลอดภัย ช่างกล เป็นต้น เป็นอาชีพที่ต้องใช้ความละเอียดอ่อนสูง และต้องสามารถทำหลายอย่างได้ในคนเดียว ซึ่ง AI ยังไม่สามารถทำได้ดีเท่ามนุษย์
  4. Danger Zone (โซนอันตรายมาก) เช่น พนักงานล้างจาน พนักงานขับรถบรรทุก แคชเชียร์ พนักงานเย็บเสื้อผ้า พนักงานตรวจสอบไลน์ผลิต เป็นต้น เป็นอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงมากที่จะถูก AI เข้าแทนที่ เนื่องจากเป็นงานที่ต้องทำซ้ำเดิม และไม่จำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ ไม่ต้องใช้ทักษะความเชี่ยวชาญ แต่ต้องใช้ความละเอียดถี่ถ้วน ซึ่ง AI ทำได้ดีกว่ามนุษย์
Credit: Lifestylememory

ปรับตัวอยู่กับ AI

Kai-Fu Lee ยังได้เสนอมุมมองอีกด้านหนึ่งว่า ‘AI ไม่ได้จะมาแย่งงานมนุษย์ แต่กำลังจะปลดปล่อยมนุษย์ให้เป็นอิสระจากการทำงาน เพื่อไปทำงานที่สมควรทำมากกว่า’ ก็คืองานที่ใช้ทักษะการสื่อสาร การจัดการอารมณ์เพื่อตอบสนองความต้องการและความรู้สึกของลูกค้า ที่ไม่ใช่งานที่ทำซ้ำ ๆ เหมือนเดิมทุกวัน เช่น งานดูแลผู้สูงอายุ หรือดูแลผู้ป่วย รวมถึงงานที่มีความซับซ้อน งานที่ต้องมีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง และงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ 

ในอดีตเราอาจเลือกเรียนวิชาที่ถนัด หรือไม่ก็เลือกเรียนสาขาอาชีพที่เป็นที่ต้องการของตลาด แต่เมื่อเทคโนโลยีได้พัฒนา AI ให้เข้ามามีบทบาทในการทำงานมากขึ้น การรับมือเพื่ออยู่รอดในโลกการทำงานยุค AI คือต้องค้นหาความชอบและความถนัดของตัวเองให้เจอ หากสิ่งที่ชอบกับถนัดเป็นคนละอย่างกัน ต้องเลือกสิ่งที่ถนัดก่อน เพื่อนำมาต่อยอดเป็นอาชีพ เรียกว่าเป็นการสร้างงาน (Job Innovator) แทนที่จะรองานที่เหมาะกับตัวเอง

นอกจากนี้ องค์กรเองควรมีนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนด้วยการให้ความสำคัญกับการ Reskill หรือการพัฒนาศักยภาพและความสามารถของบุคลากรให้มากขึ้น รวมถึงการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ด้วย และพนักงานเองก็ต้องการเปิดใจยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และกล้าที่จะออกจากคอมฟอร์ตโซน จำไว้ว่า เราทุกคนไม่ควรหยุดพัฒนาตัวเอง เพื่อจะได้ทำในสิ่งที่ AI ทำไม่ได้ หรือทำได้ไม่ดีเท่าเรา

มาเริ่มจากการศึกษาประโยชน์และวิธีใช้งาน AI แทนที่จะวิตกกังวลกลัวว่าจะถูกมันแย่งงานกันดีกว่านะ