Grid Brief

  • มีผลการศึกษาหลายชิ้นที่เปิดข้อมูลว่า Work from Home ช่วยลดการใช้พลังงานในภาคการเดินทางขนส่ง และช่วยลดมลพิษในอากาศ (รวมถึงฝุ่น PM)
  • เมื่อพนักงานทำงานที่บ้านมากกว่า 4 วันต่อสัปดาห์จะลดคาร์บอนฟุตปรินต์ส่วนบุคคลได้ถึง 54 เปอร์เซ็นต์
  • การเข้าออฟฟิศไปทำงานอาจจะ ‘เขียว’ กว่าการทำงานที่บ้าน หากว่าอาคารสำนักงานนั้น ๆ ติดตั้งอุปกรณ์ที่ช่วยให้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ มีกระบวนการลดระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และคนทำงานใช้ระบบขนส่งสาธารณะเดินทางไปทำงาน

ผลการศึกษาชี้ว่า Work from Home คือกลยุทธ์ที่ช่วยลดพลังงานและมลพิษอย่างได้ผล ตราบใดที่คุณไม่ได้เดี๋ยวขับรถออกไปซื้อกาแฟวันละ 3 รอบ ไม่ลืมปิดไฟดวงที่ไม่ได้ใช้งาน และไม่ระดมเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าไปทั่วบ้าน 

ในช่วงโควิด-19 ที่องค์กรต่าง ๆ ออกมาตรการให้พนักงาน Work from Home ทำงานที่บ้านได้ และนักวิจัยจากสถาบันต่าง ๆ ใช้โอกาสนี้ศึกษาว่าการทำงานที่บ้านส่งผลกระทบในด้านใดบ้าง 

กลุ่มนักวิจัยจาก 3 สถาบัน ได้แก่ University of Florida, The Massachusetts Institute of Technology (MIT) และ Peking University เปิดเผยผลการศึกษาล่าสุดที่น่าสนใจของ Work from Home ต่อพฤติกรรมการเดินทางและการใช้พลังงาน

Credit: Freepik

Work from Home ช่วยลดพลังงานได้จริง

นักวิจัยพบว่า หากองค์กรต่าง ๆ ให้พนักงาน Work from Home เพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 10 เปอร์เซ็นต์ หรือเท่ากับลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เกือบ 200 ล้านตันต่อปี และยังลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานได้ปีละ 3,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือลดลง 27 เปอร์เซ็นต์ 

นี่อาจเป็นข่าวดีสำหรับสภาพอากาศ แต่เป็นข่าวร้ายสำหรับผู้ประกอบการขนส่งสาธารณะ Shenhao Wang อาจารย์ด้านผังเมืองแห่งมหาวิทยาลัยฟลอริดากล่าว 

นักวางผังเมืองได้พิจารณาเรื่อง Work from Home (รวมไปถึง Remote Work การไม่ต้องเข้าออฟฟิศ แต่อาจหอบงานไปทำระหว่างไปทริปเที่ยวพักผ่อนก็ได้เช่นกัน) ว่า เป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยลดการจราจรหนาแน่นและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มาตั้งแต่ก่อนจะเกิดโควิด-19 แต่ก็ยากที่จะวัดผลได้ ทว่าการระบาดของโควิด-19 ได้กลายเป็นตัวเร่งให้องค์กรต่าง ๆ ประกาศใช้มาตรการ Work from Home/Remote Work อย่างเร่งด่วน

นักวิจัยจึงเริ่มเก็บข้อมูลตั้งแต่เดือนเมษายน ปี 2563 จนถึงเดือนตุลาคม ปี 2565 เกี่ยวกับรูปแบบการทำงานแบบไม่ต้องเข้าออฟฟิศ และข้อมูลการใช้รถใช้ถนน (ในสหรัฐอเมริกา) พบว่า การเดินทางโดยรถยนต์ลดลงมากกว่า 2 เท่า เพราะก่อนจะเกิดโควิด-19 ผู้คนต้องเดินทางไปทำงาน แต่เมื่อหันมาทำงานที่บ้าน คนไม่จำเป็นต้องใช้รถไปทำงาน “แต่ในทางกลับกัน” Yunhan Zheng นักวิจัยจาก MIT กล่าว “คนจำนวนไม่น้อยที่หันไปใช้รถเดินทางไปท่องเที่ยว ไปซื้อของ ไปร้านอาหาร หรือไปทำกิจกรรมผ่อนคลายกันมากขึ้น” 

Credit: Master1305

Work from Home ช่วยลดพลังงานอย่างยั่งยืน

มีผลการศึกษาหลายชิ้นที่เปิดข้อมูลว่า Work from Home ช่วยลดการใช้พลังงานและช่วยลดมลพิษในอากาศ (รวมถึงฝุ่น PM) ทว่า ผลการศึกษาในปี 2566 ของนักวิจัยด้านวิศวกรรมระบบจาก Cornell University ร่วมกับ Microsoft ชี้ว่า จริงอยู่ที่ว่า Work from Home ช่วยลดการใช้พลังงานได้จริง โดยเมื่อพนักงานทำงานที่บ้านมากกว่า 4 วันต่อสัปดาห์จะลดคาร์บอนฟุตปรินต์ส่วนบุคคลได้ถึง 54 เปอร์เซ็นต์ 

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขนี้ขึ้นอยู่กับว่าพนักงานทำในสิ่งที่จะช่วยลดพลังงานได้อย่างแท้จริงด้วย เช่น ปิดไฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น ปั่นจักรยานไปซื้อของแถวบ้าน ใช้รถไฟฟ้า แหล่งพลังงานของที่บ้านมาจากพลังงานหมุนเวียน เช่น ติดแผงโซลาร์เซลล์ เป็นต้น 

“ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่ว่าคุณทำงานที่บ้านกี่วัน” Yanqiu Tao วิศวกรด้านความยั่งยืนจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เขียนงานวิจัยกล่าว “การลดพลังงานและลดมลพิษขึ้นอยู่กับวิถีชีวิตของคุณนั้นเป็นไปในแนวทางยั่งยืนหรือไม่ต่างหาก” 

นักวิจัยยังกล่าวด้วยว่า การเข้าออฟฟิศไปทำงานอาจจะ ‘เขียว’ กว่าการทำงานที่บ้าน หากว่าอาคารสำนักงานนั้น ๆ ติดตั้งอุปกรณ์ที่ช่วยให้ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และมีกระบวนการลดระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ส่วนพนักงานหากว่าใช้ระบบขนส่งสาธารณะก็จะช่วยลดคาร์บอนฟุตปรินต์รายบุคคลได้ แม้จะเดินทางไปทำงานทุกวันก็ตาม 

อย่างไรก็ตาม Work from Home/Remote Home จะยังอยู่กับโลกยุคหลังโควิด-19 ไปอีกนาน เพราะถือได้ว่าเป็นหนึ่งในหนทางสู่อนาคตที่เขียวอย่างยั่งยืนได้ เพียงแต่ต้องให้ความรู้ประชาชนเรื่องการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพให้มากขึ้น และภาครัฐช่วยให้ประชาชนเข้าถึงพลังงานหมุนเวียนในราคาที่จับต้องได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น


รูปโดย Benzoix