Grid Brief

  • มารู้จักอาชีพ ‘นักพัฒนาเมือง’ ที่มีหน้าที่ในการทำให้กายภาพและสิ่งแวดล้อมในเมืองดียิ่งขึ้น เพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ที่อาศัยอยู่ในเมืองนั้น
  • คำกล่าวที่ว่าพื้นที่สาธารณะมีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตของคน เห็นได้ชัดเจนจากเมืองไหนที่มีถนนหนทางและทางเท้าที่ดี ประชาชนในพื้นที่มีแนวโน้มที่จะมีสุขภาพดี

คุณแทนศร พรปัญญาภัทร จบปริญญาตรีและโทในสาขาสถาปัตยกรรมผังเมือง เจ้าตัวมุ่งมั่นตั้งใจจะนำความรู้ที่ร่ำเรียนมากลับมาปรับปรุงและพัฒนาเมืองในประเทศไทยให้มีความน่าอยู่ ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีเฉกเช่นเมืองในต่างประเทศที่ไปเห็นมา ซึ่งกว่าจะผลักดันและทำให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรมนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ทว่า ก็ไม่ยากเกินไปสำหรับเขาคนนี้

คุณแทนศรเริ่มต้นอาชีพนักพัฒนาเมือง ด้วยการเป็นพนักงานรุ่นแรกของศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (Urban Design and Development Center – UddC) ปัจจุบันเป็นหัวหน้าศูนย์ฯ สาขาขอนแก่น จังหวัดบ้านเกิดของตัวเอง และยังพ่วงตำแหน่งอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ สภาสถาปนิก และเป็นกรรมการ บริษัท เออเบิ้น รูม จำกัด บริษัทออกแบบผังเมืองของตัวเอง

อะไรทำให้สนใจและมาเป็นนักพัฒนาเมือง

ผมจับพลัดจับผลูสอบติดสาขาสถาปัตยกรรมผังเมืองทั้งที่ยังไม่รู้ว่าเรียนอะไร แต่พอได้เห็นคนเริ่มพูดถึงประเด็นปัญหาของเมืองอยากให้มีการพัฒนาเมือง ผมเลยเริ่มสนใจว่าทำไมไม่มีคนทำอาชีพนี้ ทั้งที่มีคนพูดถึงเรื่องนี้กันเยอะ และถ้าเมืองมีความสำคัญขนาดที่ใช้ชี้คุณภาพชีวิตคนในเมืองนั้นได้ แล้วทางแก้ปัญหาของเมืองคืออะไร เลยตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทในสาขาเดิม 

พอเรียนจบเป็นช่วงที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมมือกันก่อตั้งศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (UddC) ขึ้น เพื่อส่งเสริมการประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมผังเมือง ซึ่งมีหน้าที่ผลักดันให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีผ่านการออกแบบเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกแบบพื้นที่สาธารณะภายในเมือง ผมดีใจมากที่ได้ทำงานตรงกับที่เรียนมาและสมกับที่ตั้งใจไว้

หน้าที่ของนักพัฒนาเมืองคืออะไร

คือการสร้างทางเลือกในการพัฒนา โดยมีเป้าหมายคือการทำให้กายภาพและสิ่งแวดล้อมในเมืองดียิ่งขึ้น ด้วยการคิดออกแบบว่าเมื่อปรับปรุงแล้วเมืองจะมีหน้าตาอย่างไร รวมทั้งมองหาหนทางที่จะไปสู่จุดหมายนั้นว่ามีวิธีการและมีทางเลือกอย่างไรบ้าง ยิ่งถ้าเป็นการออกแบบโครงการที่เป็นโครงการสาธารณะ ยิ่งต้องดูให้ดีว่าสามารถตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนได้มากที่สุดหรือไม่ ซึ่งสุดท้ายแล้วคนในพื้นที่จะเป็นผู้ตัดสินใจว่าชุมชนต้องการใช้ชีวิตแบบไหน ไม่ใช่นักพัฒนาเป็นคนเลือก ฉะนั้น บางครั้งแม้ผลสรุปจะไม่ใช่ สิ่งที่เราพยายามนำเสนอให้ชุมชน นักพัฒนาก็จะไม่ขัดข้อง เพราะเราไม่ใช่คนในพื้นที่ และไม่ใช่คนที่ต้องเป็นผู้ใช้ หรือต้องอยู่กับพื้นที่ตรงนั้นในอนาคต นอกจากนี้ ในการพัฒนาเมืองส่วนใหญ่จำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก ในการทำงานเลยไม่สามารถพัฒนาทุกเมืองเท่า ๆ กันได้ เราจึงมักเลือกเมืองที่ชุมชนเข้าใจงานของเรา เพื่อให้สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้เร็ว และเป็นตัวอย่างให้เมืองอื่นได้เห็น


การเลือกเมืองเพื่อนำมาพัฒนามีปัจจัยใดบ้าง

ในระยะแรกที่ต้องคัดเลือกเมืองหรือพื้นที่ตัวอย่าง สิ่งสำคัญที่สุดคือเมืองนั้นต้องมีความพร้อมใน 4 ด้าน ได้แก่ 1. ประชาชนและหน่วยงานในพื้นที่มีความพร้อมและอยากจะพัฒนาเมืองของตัวเอง 2. พร้อมด้านวิชาการและบุคลากรด้านการพัฒนา เพื่อสนับสนุนด้านข้อมูลและความรู้ในการพัฒนาเมือง 3. พร้อมในแง่มีประเด็นให้นำไปพัฒนาได้ เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับเมืองอื่น และ 4. พร้อมใน
ทางปฏิบัติและงบประมาณ

มีประเด็นปัญหาใดที่นักพัฒนาเมืองให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษหรือไม่

ปัญหาที่นักพัฒนาเมืองหรือนักออกแบบเมืองสนใจคือการพัฒนาคุณภาพของการใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะของเมือง อย่างที่นักพัฒนาเมืองระดับโลกหลายคนได้เคยกล่าวไว้ในทำนองที่ว่า ‘การจะดูว่าคนในเมืองไหนมีคุณภาพชีวิตที่ดีหรือไม่ ให้ดูจากพื้นที่สาธารณะของเมืองนั้น’ ซึ่ง ผศ. ดร.นิรมล เสรีสกุล ผู้อำนวยการ UddC เองก็กล่าวไว้ในทิศทางเดียวกันว่า การเดินเป็นตัวชี้วัดความเจริญของเมือง ถ้า ‘เมืองไหนเดินไม่ได้ เมืองนั้นไม่มีอนาคต’


อยากให้อธิบายว่า พื้นที่สาธารณะสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตคนได้อย่างไร

ก่อนอื่นต้องเข้าใจคำว่า พื้นที่สาธารณะก่อน หลายคนอาจนึกถึงแต่สวนหรือพื้นที่สีเขียว ทั้งที่จริงแล้ว พื้นที่สาธารณะที่มากที่สุดของทุกเมืองในโลกนี้ ก็คือถนนและทางเท้า เมืองไหนที่พัฒนาแล้ว ถนนหนทางและทางเท้าจะได้รับการดูแลอย่างดี ส่งผลให้คนในเมืองนั้นมีแนวโน้มที่จะมีสุขภาพดี แข็งแรง เพราะผู้คนจะออกมาเดินกัน ทำให้อัตราการใช้ยานพาหนะน้อย ปัญหามลพิษทางอากาศ ทางเสียงก็ลดลง นอกจากนี้ การเดินยังสร้างสายสัมพันธ์ในชุมชนให้แน่นแฟ้น จากการมีปฏิสัมพันธ์กัน กลายเป็นการสร้างความปลอดภัยให้ชุมชนไปในตัว ส่วนประโยชน์ที่สำคัญมากก็คือสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้ชุมชน ทั้งการท่องเที่ยว การค้าขาย การจ้างงาน และการกระจายรายได้ให้ชุมชน ฉะนั้น หากเมืองไหน หรือพื้นที่ไหนที่ทางเท้าเป็นหลุมเป็นบ่อ ไม่มีที่ให้คนเดินได้สะดวก คนในชุมชนก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางด้วยวิธีการอื่นเพิ่ม เผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อม และมีแนวโน้มที่จะเจ็บป่วยในที่สุด ทำให้ภาครัฐต้องจัดสรรงบมาใช้ในด้านสาธารณสุขเพิ่ม และเมื่อคนไม่แข็งแรง ก็ส่งผลกระทบต่อการทำมาหากิน รายได้ของครัวเรือนและรายได้ในท้องถิ่นไปด้วย 


การพัฒนาเมืองมีขั้นตอนการทำงานอย่างไร

1. เลือกพื้นที่ที่มีความสำคัญ ได้แก่ มีปัญหาในการใช้พื้นที่ หรือมีจำนวนคนใช้พื้นที่เยอะ รวมทั้งมีความเป็นไปได้ในการทำงานจริง เช่น ไม่มีการถือครองกรรมสิทธิ์ซับซ้อนจนเกินไป เพื่อไม่ให้ต้องใช้เวลาในการประสานงานมากจนทำให้โครงการล่าช้า

2. วิเคราะห์กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เมื่อระบุพื้นที่ที่จะพัฒนาได้แล้ว ต้องดูว่าใครเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่นั้นบ้าง ซึ่งเราจะให้ประชาชนในชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอนของการวิเคราะห์ ตั้งแต่การสำรวจเก็บข้อมูล การทำแบบร่าง โดยเรารับผิดชอบส่วนที่เป็นหลักวิชาการ ส่วนประชาชนจะให้ข้อมูลด้านพฤติกรรมการใช้พื้นที่ของชุมชน 

3. ทำแบบร่าง เพื่อนำเสนอกับหน่วยงานหรือเจ้าของพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง ให้เห็นสิ่งที่เราคิดออกแบบมาว่าจะช่วยให้คุณภาพชีวิตคนในพื้นที่ดีขึ้นได้อย่างไร รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่ที่มีกับสิ่งที่เราออกแบบให้ ว่าเขาใช้ได้จริงไหม สอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนไหม แล้วปรับหาจุดที่ลงตัว เมื่อได้ข้อสรุปแล้วก็ดำเนินการต่อไปได้ 

พื้นที่สาธารณะ หลายคนอาจนึกถึงแต่สวนหรือพื้นที่สีเขียว ทั้งที่จริงแล้ว พื้นที่สาธารณะที่มากที่สุดของทุกเมืองก็คือทางเท้า เมืองไหนที่พัฒนาแล้ว ถนนหนทางและทางเท้า จะได้รับการดูแลอย่างดี

สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการทำงานด้านนี้มากว่า 8 ปีของคุณคืออะไร

การศึกษาด้านสถาปัตยกรรมผังเมืองอาจทำให้ผมมีความรู้ด้านการพัฒนาเมืองตามหลักทฤษฎี แต่ในทางปฏิบัติ ผมต้องเรียนรู้ไปพร้อมกับการทำงานจริง ซึ่งผมเรียนรู้ว่าการทำงานให้สาธารณชน ถ้าเราให้แต่แนวคิด ชุมชนจะนำไปใช้ต่อได้ยาก เราจึงต้องเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย จะช่วยให้มีโอกาสสำเร็จมากขึ้น แต่ในการทำงานต้องปรับเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขของแต่ละพื้นที่ ซึ่ง UddC กำลังทดลองดำเนินการในหลายรูปแบบ เพื่อหาวิธีที่จะทำให้ทำงานร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ได้ตลอดรอดฝั่ง ปัจจุบันด้วยการสนับสนุนของ สสส. เรากำลังทดลองอยู่ใน 3 เมือง ได้แก่ เมืองใน จ.ขอนแก่น เป็นการตั้งคณะกรรมการฟื้นฟูพื้นที่ที่มีความรู้เฉพาะด้านและให้อำนาจการตัดสินใจกับกรรมการเพื่อให้ทำงานได้คล่องตัวมากขึ้นส่วนเมืองใน จ.ภูเก็ต กับเมืองใน จ.เชียงใหม่ เป็นการลงนามใน MOU ร่วมกัน แล้วแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในแต่ละส่วนชัดเจน นอกจากนี้ การทำงานกับภาครัฐ ทำให้เราต้องศึกษากฎระเบียบข้อปฏิบัติของระบบราชการ เช่น การร่างงบประมาณ การเขียนแบบรายละเอียดโครงการ การประเมินงบประมาณเบื้องต้น และช่วงเวลาปีงบประมาณต่าง ๆ เพื่อวางแผนการพัฒนาเมืองให้ทันกับกำหนดการทำงานของทางการ ซึ่งมีส่วนช่วยให้โครงการเกิดขึ้นและสำเร็จเร็วขึ้นได้

โครงการพัฒนาเมืองใดที่คุณประทับใจ เพราะอะไร

โครงการฟื้นฟูถนนถลาง จังหวัดภูเก็ต ความที่เป็นย่านเมืองเก่า เทศบาลนครภูเก็ตจึงอยากผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแต่ติดปัญหาที่คนในชุมชนใช้พื้นที่สาธารณะในการจอดรถส่วนบุคคล เทศบาลฯ จึงหาทางออกร่วมกับชุมชนผ่านการดำเนินการของมูลนิธิ ซึ่งมีข้อสรุปร่วมกันว่าทำที่จอดรถใหม่ไม่ไกลจากพื้นที่เดิมให้ โครงการนี้จึงสามารถพัฒนาทางเท้าและถนนที่สวยงามได้สำเร็จยิ่งการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) ทำโครงการนำสายไฟลงดิน ก็ยิ่งเสริมให้ทัศนียภาพความเป็นเมืองเก่าสวยงาม ดึงดูดผู้คนให้แวะเวียนย่านนั้น และชุมชนก็ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี โครงการนี้เป็นตัวอย่างให้เห็นการทำงานพัฒนาเมือง ที่เราต้องรับฟังปัญหา เสนอทางออก และ ชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของการเปลี่ยนแปลงนี้ ผมหวังว่าโครงการนี้จะเป็นตัวอย่างให้พื้นที่อื่นได้เห็นและอยากพัฒนาพื้นที่ของตัวเองบ้าง