เคยเป็นไหม เหนื่อยล้าจากการทำงานแล้วมีอาการที่ไม่ค่อยพึงประสงค์เอาเสียเลย ทั้ง ๆ ที่บางทีก็ไม่ได้เครียดจากการทำงานโดยตรง มีคำแนะนำจากนักจิตวิทยาระบุไว้ว่า อาจจะไม่จำเป็นว่าทุกคนเมื่ออายุถึงช่วงวัยกลางคน แล้วจะต้องประสบกับภาวะ Midlife Crisis เพราะจากการศึกษาก็พบว่า ประชากรในบางส่วนของโลกนี้ก็ไม่เคยเจอกับปัญหานี้เลย

อันที่จริงนักวิจัยบางคนเชื่อว่า แนวคิดเรื่อง Midlife Crisis เกี่ยวข้องกับโครงสร้างทางสังคม ที่ทำให้คนในสังคมเชื่อว่าคุณควรจะประสบความสำเร็จในชีวิต หน้าที่การงาน มีบ้าน มีรถ มีครอบครัว ซึ่งพอไม่เป็นไปตามความคาดหวังในสังคม ทำให้รู้สึกชีวิตล้มเหลว

ในการสำรวจประชากรวัยกลางคนในสหรัฐอเมริกา เพื่อหาจำนวนที่แน่นอนของคนที่ประสบวิกฤตวัยกลางคน จากผู้เข้าร่วมสำรวจ พบว่า ประมาณ 26% บอกว่าตัวเองประสบกับ Midlife Crisis

ถามว่า วิกฤตวัยกลางคน Midlife Crisis คืออะไร มันคือภาวะทางสุขภาพจิตของวัยกลางคนช่วงตั้งแต่อายุ 45-65 ปี (บางนิยามให้อยู่ในช่วง 35-50 ปี) สามารถเกิดได้กับทั้งผู้ชายและผู้หญิง โดยส่วนมากอาจเริ่มจากการคิดทบทวนชีวิตตัวเอง รู้สึกท้อแท้กับสิ่งที่เป็นอยู่ เริ่มคิดว่าชีวิตตัวเองไม่เห็นมีอะไรที่ควรจะต้องมี และต้องการหาความสุข จากสิ่งที่ตัวเองรู้สึกขาด บวกกับความเสื่อมถอยของสภาพร่างกายในหลาย ๆ ด้าน จนอาจนำไปสู่พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากหน้ามือเป็นหลังมือ หรือนำไปสู่ภาวะโรคซึมเศร้าในภายหลัง

ดังนั้น การป้องกันตัวเองจากภาวะวิกฤตวัยกลางคนทำได้ดังนี้

-พยายามแยกแยะอารมณ์ชั่ววูบกับความต้องการของตัวเองจริง ๆ
-คิดบวกเข้าไว้

-เมื่อมีปัญหา ปรึกษาคนใกล้ตัว

-ทำในสิ่งที่สร้างสรรค์
-อย่าเหวี่ยงวีนใส่คนรอบข้าง
-ออกกำลังกายให้สม่ำเสมอ
-พักผ่อนให้เพียงพอ

ทั้งนี้ การได้สำรวจตัวเองถือเป็นช่วงเวลาที่ดี หากเรารู้ตัวว่าเราต้องการอะไร เป้าหมายในชีวิตที่หลงลืมไป จะจัดการอย่างไรต่อไป ใช้ให้เป็นแรงกระตุ้นเพื่อเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาสให้ได้

รูปโดย: Freepik