Grid Brief

  • ปัจจุบันออสโลถือเป็นเมืองต้นแบบแห่งการใช้รถยนต์ไฟฟ้า นั่นเพราะ มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อรถยนต์ไฟฟ้า การอุดหนุนจากภาครัฐ และนโยบายที่ส่งเสริมประโยชน์ให้แก่ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า
  • ความร่วมแรงร่วมใจครั้งสำคัญของชาวนอร์เวย์ กับภารกิจการนำพากรุงออสโล เป็นเมืองหลวงที่ปลอดมลพิษอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2593

นอร์เวย์นอกจากขึ้นชื่อเรื่องธรรมชาติที่สวยงามโดดเด่นด้านศิลปะและวัฒนธรรมแล้ว น้อยคนนักจะรู้ว่า นอร์เวย์เป็นประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 15 ของโลก เมื่อวัดจากกำลังการผลิตในปี 2562 

แม้นอร์เวย์จะพบแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมหาศาล แต่ไม่ได้สนับสนุนให้คนในประเทศใช้พลังงานจากฟอสซิลที่มีอยู่ กลับหันไปเน้นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ และส่งเสริมการใช้ยานพาหนะพลังงานไฟฟ้าแทน เพราะพลังงานจากฟอสซิลย่อมมีวันหมดไป และสร้างมลพิษจากการเผาไหม้

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2551 นอร์เวย์ตั้งเป้าลดการปล่อยมลภาวะจากพลังงานฟอสซิลลงครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2573 และจะเป็นเมืองปลอดมลพิษอย่างสมบูรณ์ในปี 2593 

เป้าหมายดังกล่าวทำให้ต้องปรับกระบวนทัศน์ใหม่ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ ทั้งเรื่องการคมนาคม การก่อสร้างอาคาร การใช้ทรัพยากร การผลิตและกระจายพลังงาน 

คมนาคม…โจทย์สุดท้าทาย 

เรื่องที่ท้าทายสุด หนีไม่พ้นเรื่องคมนาคม ซึ่งมีสัดส่วน 63% ของการปล่อยมลภาวะทั้งหมดใน ‘ออสโล’ เมืองหลวงของประเทศ โดยทางออกคือต้องเพิ่มการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ จักรยาน และการเดิน รวมถึงเปลี่ยนการใช้รถพลังงานน้ำมันให้เป็นรถพลังงานไฟฟ้า 

ออสโลตั้งเป้าหมายว่า นับตั้งแต่ปี 2563 รถบัสโดยสารทั้งหมดในออสโลจะต้องไม่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ส่วนในปี 2566 รถแท็กซี่ทั้งหมดจะต้องไร้มลพิษ และเมื่อถึงปี 2568 รถยนต์ใหม่ทุกคันจะต้องไม่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล หรือเป็นแบบไฮบริดที่สามารถชาร์จไฟได้ 

การวางเป้าหมายดังกล่าวตีเส้นให้ ‘ออสโล’ ออกสตาร์ตสู่การเป็นเมืองหลวงแห่งรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งตอนนั้นแทบจินตนาการไม่ออก เพราะหากย้อนไปเมื่อ 12 ปีที่แล้ว นอร์เวย์มีรถยนต์ไฟฟ้าใหม่เพียง 567 คันเท่านั้น ผิดกับปี 2562 ที่ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าแซงหน้ารถเครื่องยนต์สันดาปเป็นครั้งแรก โดยมีจำนวนเกือบ 80,000 คัน หรือคิดเป็น 56% ของรถที่ขายทั้งหมดในประเทศ ปัจจัยที่ทำให้ออสโลกลายเป็นเมืองต้นแบบแห่งรถยนต์ไฟฟ้า มาจาก 3 เรื่องหลัก ๆ ได้แก่ 1. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อรถยนต์ไฟฟ้า 2. การอุดหนุนจากภาครัฐ และ 3. นโยบายส่งเสริมต่าง ๆ 

โต้โผหลักคือทางการที่มีมาตรการจัดการดูแลด้านต่าง ๆ ได้แก่ การคมนาคม การสร้างสถานีชาร์จไฟสาธารณะ ออกนโยบายสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า

เร่งเครื่องโครงสร้างพื้นฐาน 

เจ้าของรถยนต์ไฟฟ้ายุคแรก ๆ มักจะขับขี่เป็นระยะทางสั้น ๆ และชาร์จไฟจากบ้าน หรืออะพาร์ตเมนต์ ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคสำหรับผู้ที่เช่าอะพาร์ตเมนต์ร่วมกับคนอื่น และไม่สามารถติดตั้งที่ชาร์จไฟส่วนตัวได้ 

ออสโลและเมืองต่าง ๆ จึงสร้างสถานีชาร์จไฟสาธารณะ เพื่อลดอุปสรรคเรื่องนี้สำหรับคนทั่วไป โดยเปิดให้ชาร์จไฟกันแบบฟรี  ๆ ตามจุดต่าง ๆ ทั่วเมือง ทางการสนับสนุนให้มีสถานีชาร์จไฟแบบรวดเร็ว (Quick Charging Station) ทุก ๆ 50 กิโลเมตรบนถนนสายหลัก ปัจจุบันนอร์เวย์มีจุดชาร์จไฟสาธารณะราว 13,700 แห่ง ใกล้เคียงกับจำนวนปั๊มน้ำมันในประเทศที่มีอยู่เกือบ 14,000 แห่ง 

ไม่ใช่แค่รถบ้าน แต่ออสโลยังเป็นเมืองแรกของโลกที่ติดตั้งระบบชาร์จไฟฟ้าแบบไร้สายสำหรับรถแท็กซี่ไฟฟ้า เพื่อให้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีการเหนี่ยวนำผ่านแผ่นชาร์จที่ติดตั้งอยู่บนถนนขณะแท็กซี่เข้าคิวรอรับผู้โดยสาร เชื่อมกับตัวรับสัญญาณที่ติดตั้งอยู่ในรถ จึงช่วยประหยัดเวลาและสามารถชาร์จพลังงานได้ในระหว่างรอผู้โดยสาร 

ทางการออสโลหวังว่าความสะดวกเช่นนี้อาจช่วยเร่งให้มีการใช้งานรถแท็กซี่ไฟฟ้าที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษได้มากขึ้น

ทำราคา EV ให้น่าซื้อ 

เหตุผลที่มีบทบาทสำคัญมากต่อความสำเร็จของออสโลในฐานะเมืองแห่งรถ EV คือนโยบายอุดหนุนของรัฐบาล เพราะมีส่วนทำให้ราคารถ EV ถูกกว่าราคารถทั่วไป และทิ้งห่างชนิดที่ทำใจซื้อรถยนต์นํ้ามันไม่ลง 

สิ่งที่รัฐให้การอุดหนุน ได้แก่ 

• ยกเว้นภาษีนำเข้ารถ EV จากต่างประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นรถนำเข้าในนอร์เวย์

• ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 25%

• จ่ายภาษีการใช้ถนนประจำปีในอัตราต่ำ

• ไม่ต้องจ่ายค่าทางด่วนและเรือเฟอร์รี่ข้ามเกาะ ก่อนจะปรับมาจ่ายเพียง 50% เมื่อปี 2561

• ไม่เสียค่าที่จอดรถในเมือง ก่อนปรับมาเป็นเสียเพียงครึ่งราคาในปี 2561

• ลดภาษีให้ค่ายรถยนต์ EV 50% ก่อนปรับเหลือ 40% ในภายหลัง

• ยกเว้น VAT จากการเช่า EV 25%

ทั้งหมดนี้ทำให้รถไฟฟ้าในนอร์เวย์มีราคาถูกกว่า หรือราคาเท่า ๆ กับรถน้ำมัน ผิดกับประเทศอื่น ๆ ที่รถไฟฟ้ามีราคาแพง 

หากเปรียบเทียบราคากัน รถยนต์ EV ‘เทสลา โมเดล 3’ มีราคาราว 29,000 ยูโร กับ ‘โฟล์กสวาเกน กอล์ฟ’ รถยนต์น้ำมัน มีราคาราว 35,000 ยูโร 

จากผลการสำรวจพบว่า เจ้าของรถ EV ราว 62% ตัดสินใจซื้อโดยพิจารณาจากราคาก่อน จากนั้นรองลงมาเป็นความรู้สึกว่าอยากมีส่วนช่วยลดการบริโภคพลังงานและไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม มีเพียง 25% เท่านั้นที่มองเรื่องสิ่งแวดล้อมมาก่อน สะท้อนว่าปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจมีผลอย่างมากต่อพฤติกรรมของคน


ผุดมาตรการเอาใจอื่น ๆ 

นอกเหนือจากราคาที่จับต้องได้ของรถ EV ทางการยังมีมาตรการเอาใจผู้ที่ซื้อรถไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นการวิ่งรถในเลนรถโดยสารสาธารณะได้ สะดวกกว่ารถทั่วไป ไม่ต้องทนกับรถติด 

ออสโลยังผุดโครงการปลอดรถยนต์ในเขตเมือง โดยยกเลิกพื้นที่จอดรถในเมืองกว่า 700 จุด และนำพื้นที่ไปใช้ประโยชน์แบบเป็นมิตรกับโลก เช่น ทำเป็นเลนสำหรับจักรยาน สวนสาธารณะขนาดย่อม และม้านั่งพักผ่อน ซึ่งรถผู้พิการ รถฉุกเฉิน และรถยนต์ไฟฟ้าได้รับอนุญาตให้จอดได้ หลายคนที่ซื้อรถไฟฟ้าก็นำมาจอดในพื้นที่ดังกล่าวเหมือนเป็นโรงรถส่วนบุคคล 

การเป็นเมืองหลวงแห่งรถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน ต้องอาศัยความมุ่งมั่นและจริงจังที่ ‘ออสโล’ ต้องการ ‘เซย์โน’ มลพิษ