Grid Brief

  • การพัฒนาเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันควรต้องทำควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสังคมและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ (BCG Economic Model)
  • โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ดังกล่าวนั้น ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)
  • PEA ได้จัดโครงการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจทั้งสามนั้น โดยมีเป้าหมายเพื่อการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ

การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เป็นองค์กรที่มีปณิธานมุ่งมั่นในการดำเนินงานที่รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม อันเกิดจากการดำเนินงานทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยนำมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้องกับด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ได้แก่ มาตรฐานความรับผิดชอบต่อสังคม ISO 26000  และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติมาเป็นแนวทางในการดำเนินงาน

ทั้งยังส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในรูปแบบ ‘โมเดลเศรษฐกิจ BCG’ อันเป็นแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติควบคู่ไปกับการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดรับกับนโยบาย Carbon Neutrality ของประเทศไทย ที่ต้องมีความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในพ.ศ. 2593 

Credit: Freepik

เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนสำคัญอย่างไร

การพัฒนาด้านอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจและเศรษฐกิจเติบโตก้าวหน้า มีความต้องการใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบและเกิดความเสียหายต่อทรัพยากรธรรมชาติของโลกเป็นอย่างมาก จนเกิดเป็นวิกฤตการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานกับชาวโลก 

องค์การสหประชาชาติ (UN) จึงได้กำหนดเป้าหมายกรอบความคิดที่มองการพัฒนาเป็นมิติของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้เชื่อมโยงกัน โดยใช้ชื่อว่า ‘เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ’ หรือ Sustainable Development Goals  (UN SDGs) เพื่อให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันสร้างความยั่งยืนให้กับโลกของเรา ซึ่งหลายองค์กรในโลก รวมถึง PEA ใช้เป็นแนวทางในการกำหนดนโยบายการดำเนินงานขององค์กร

สำหรับคนไทยมีการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ที่ตั้งอยู่บนรากฐานของวัฒนธรรมไทยมาเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและใช้พัฒนาเศรษฐกิจให้ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

Credit: Freepik

โมเดลเศรษฐกิจ BCG คืออะไร

การไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น จำเป็นต้องใช้โมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า BCG (Bio-Circular-Green Economy Model) หมายถึง รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ที่เชื่อมโยงระหว่างระบบเศรษฐกิจทั้ง 3 ด้านเข้าไว้ด้วยกัน ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) แล้วพัฒนาควบคู่กันไป

หลักสำคัญของโมเดลเศรษฐกิจ BCG คือการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อนำพาประเทศบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ ซึ่งเป็นแนวทางการวางแผนงานเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ใช้เป็นแนวทางการพัฒนา โดย PEA ได้จัดโครงการด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมขึ้นมาเพื่อดำเนินงานให้สอดคล้องกับโมเดลนี้

โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ดังกล่าวนั้น ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)

เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) 

ระบบเศรษฐกิจที่นำความรู้และนวัตกรรม โดยเฉพาะด้านชีววิทยาหรือวิทยาศาสตร์ชีวภาพอื่น ๆ มาช่วยพัฒนาการผลิตสินค้าและบริการในระดับอุตสาหกรรม ต่อยอด สร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพและผลผลิตทางการเกษตร  โดยมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่าระบบเศรษฐกิจแบบอื่น เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) ภายใน พ.ศ. 2593 ซึ่งมีทั้งหมด 17 เป้าหมาย แต่จะเกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจชีวภาพอยู่ถึง 11 เป้าหมาย

สำหรับโครงการด้านเศรษฐกิจชีวภาพของ PEA ได้แก่ โครงการ PEA พลังงานสะอาดเพื่อชุมชน เป็นการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด ด้วยการสนับสนุนระบบผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา   (Solar Rooftop) ให้กับชุมชนที่อยู่ห่างไกล ระบบไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ให้มีพลังงานไฟฟ้าในการดำรงชีวิตอย่างมั่นคง พอเพียง และยั่งยืน ทั้งยังเป็นการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นตัวการทำให้เกิดภาวะโลกร้อน ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณูปโภคด้วย

บรรลุพันธกิจของ UN SDGs 3 เป้าหมาย ได้แก่ 

  • เป้าหมายที่ 1 : ขจัดความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่
  • เป้าหมายที่ 7 : การสร้างหลักประกันว่าทุกคนเข้าถึงพลังงานสมัยใหม่ในราคาที่สามารถหาซื้อได้ เชื่อถือได้ และยั่งยืน
  • เป้าหมายที่ 9 : สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม

เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

ระบบเศรษฐกิจที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาวงจรความเสื่อมโทรมของทรัพยากร มลพิษ และขยะ ด้วยการให้ความสำคัญกับการจัดการขยะ การลดปริมาณขยะให้น้อยลงหรือเท่ากับศูนย์ (Zero Waste) การใช้ประโยชน์จากทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด ตลอดจนการนำวัสดุกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) และการแปรสภาพกลับมาใช้ใหม่ (Recycle / Upcycle)

สำหรับโครงการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนของ PEA ได้แก่ 

โครงการ 1 ตำบล 1 ช่างไฟฟ้า เป็นการจัดอบรมหลักสูตรช่างไฟฟ้าเพื่อพัฒนาฝีมือแรงงาน และสร้างงานสร้างอาชีพ ยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิต ชุมชน สังคม

โครงการนำวัสดุเหลือใช้มาประดิษฐ์ การนำพัสดุอุปกรณ์เหลือใช้จากการดำเนินการของ PEA ที่ไม่ได้ใช้งานแล้วมาผลิตเป็นสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ เช่น ชุดรับแขกที่ผลิตจากลูกถ้วย เหล็ก และสายโทรศัพท์ชนิดมีสลิงในตัว เป็นต้น

โครงการเศษกิ่งไม้สร้างเศรษฐกิจชุมชน การนำเศษไม้เนื้อแข็งที่ได้จากการลิดต้นไม้ที่อยู่ใกล้แนวสายไฟฟ้า เพื่อให้การจ่ายกระแสไฟฟ้ามีความปลอดภัย ไปให้ชุมชนแปรรูปเป็นสินค้าไว้จำหน่าย ส่วนเศษวัสดุจากการแปรรูปยังใช้เป็นถ่านในครัวเรือนหรือนำไปทำปุ๋ยได้อีกด้วย จากการดำเนินโครงการนี้ ทำให้ PEA ได้รับรางวัลชนะเลิศ Asia Responsible Enterprise Awards (AREA) 2020 สาขาเสริมสร้างพลังงานทางสังคม ในฐานะผู้ประกอบการที่มีผลงานโดดเด่นด้านการรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน

โครงการ PEA รักษ์น้ำ สร้างฝาย เพื่อช่วยเหลือชุมชนที่ทำอาชีพเกษตรกรรมและช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมรอบชุมชน PEA จึงได้สร้างฝายชะลอน้ำโดยใช้วัสดุคอนกรีตที่ชำรุดจากการดำเนินงานของ PEA เช่น เสาไฟฟ้า เสาตอม่อ คอน มาใช้ให้เกิดประโยชน์คุ้มค่า ด้วยการนำไปเป็นวัสดุก่อสร้างฝาย ช่วยชะลอการไหลของน้ำในฤดูฝน และช่วยเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง อีกทั้งฝายยังเป็นแหล่งอาศัยของสัตว์น้ำ

บรรลุพันธกิจของ UN SDGs 3 เป้าหมาย ได้แก่ 

  • เป้าหมายที่ 1 : ขจัดความยากจนทุกรูปแบบในทุกพื้นที่
  • เป้าหมายที่ 12 : การสร้างหลักประกันถึงการมีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
  • เป้าหมายที่ 15 : พิทักษ์ บูรณะ และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืนของระบบนิเวศบนบก จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้กับการแปรสภาพเป็นทะเลทราย หยุดยั้งและฟื้นฟูความเสื่อมโทรมของที่ดิน และหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ

เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)

ระบบเศรษฐกิจที่เน้นการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและใส่ใจการดูแลสิ่งแวดล้อมให้สมดุล คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการปกป้อง อนุรักษ์ และฟื้นฟูธรรมชาติ การควบคุมมลพิษและของเสีย การลงทุนสีเขียวและงานสีเขียว ตลอดจนการส่งเสริมการบริโภคที่ยั่งยืน โดยมีความเป็นอยู่ที่ดีของผู้คนเป็นเป้าหมาย

สำหรับโครงการด้านเศรษฐกิจสีเขียวของ PEA ได้แก่ 

  1. โครงการสนับสนุนของกระทรวงมหาดไทย (Ministry of Interior : MOI) เป็นโครงการสนับสนุนโครงการของกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นต้นสังกัด ด้วยการจัดกิจกรรมภายใต้โครงการ 5 โครงการ ได้แก่ โครงการ PEA Community Mall โครงการ PEA Go Green ปลูกสมุนไพร โครงการ PEA จิตอาสาพัฒนาลำน้ำ ลำคลอง โครงการตลาดนัดชุมชนปลอดภัยใช้ไฟ PEA และโครงการจัดทำของที่ระลึก 130 ปี กระทรวงมหาดไทย
  2. โครงการ PEA ปลูก ดูแล รักษ์ป่า การปลูกป่าร่วมกับชุมชนในพื้นที่รับผิดชอบของ PEA เพื่อทดแทนพื้นที่ขยายเขตระบบไฟฟ้าของ PEA และฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมให้เป็นพื้นที่สีเขียว ทั้งยังเป็นการส่งเสริมการรักษาพันธุ์ไม้หายาก
  3. โครงการพัฒนาสำนักงาน PEA ให้เป็นสำนักงานสีเขียว บูรณาการองค์กรให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ด้วยการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ใส่ใจปัญหาสิ่งแวดล้อม จริงจังในการแก้ปัญหา
  4. โครงการพัฒนาประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-Efficiency – EE) เป็นการบ่งชี้กระบวนการที่เป็นสาเหตุสำคัญของผลกระทบสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสร้างสมดุลในการพัฒนาเศรษฐกิจและปกป้องรักษาระบบนิเวศไปพร้อม ๆ กัน

การพัฒนาเศรษฐกิจในยุคปัจจุบันควรต้องทำควบคู่ไปกับการดูแลรักษาสังคมและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ (BCG Economic Model)

บรรลุพันธกิจของ UN SDGs 6 เป้าหมาย ได้แก่ 

  • เป้าหมายที่ 9 : สร้างโครงสร้างพื้นฐานที่มีความทนทาน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมและยั่งยืน และส่งเสริมนวัตกรรม
  • เป้าหมายที่ 11 : ทำให้เมืองและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์มีความปลอดภัย ทั่วถึง พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงและยั่งยืน
  • เป้าหมายที่ 12 : การสร้างหลักประกันถึงการมีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
  • เป้าหมายที่ 13 : ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น
  • เป้าหมายที่ 15 : พิทักษ์ บูรณะ และส่งเสริมการใช้ประโยชน์ที่ยั่งยืนของระบบนิเวศบนบก จัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน ต่อสู้กับการแปรสภาพเป็นทะเลทราย หยุดยั้งและฟื้นฟูความเสื่อมโทรมของที่ดิน และหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
  • เป้าหมายที่ 17 : เสริมสร้างความเข้มแข็งในวิธีการปฎิบัติให้เกิดผล และสร้างพลังแห่งการเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือระดับสากลต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

Cover Photo: Freepix