Grid Brief

  • คุณต้น – บดินทร์ พลางกูร เจ้าของบริษัท Context Studio ผู้ออกแบบ PEA Green Office Pavilion พาวิลเลียนขนาด 30 ตารางเมตร ที่สร้างจากแก้วพลาสติก
  • การเลือกนำวัสดุเหลือใช้กลับมาชุบชีวิตใหม่อย่างสร้างสรรค์ เป็นการนำคุณสมบัติเด่นของวัสดุนั้นมาใช้ โดยไม่คำนึงว่าเคยเป็นอะไรหรือใช้ประโยชน์อะไรมาก่อน
  • ความสุขในชีวิตคนเราเกิดขึ้นได้จากการทำงานในสิ่งที่รัก และการจะได้รู้ว่าตัวเองรักหรือชอบอะไร เกิดขึ้นได้จากการลงมือทำเท่านั้น
คุณต้นโชว์ภาพสเกตช์ผลงานในโน้ตบุ๊ก

ตั้งแต่ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา หากใครมีโอกาสได้มาเยือนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) สำนักงานใหญ่ ถนนงามวงศ์วาน คงจะสะดุดตากับสิ่งก่อสร้างทรงโดมที่ตั้งตระหง่านอยู่บริเวณด้านหน้าอาคาร LED และเมื่อเข้าไปใกล้ก็ยิ่งรู้สึกทึ่งขึ้นไปอีกที่เห็นว่าโดมนี้ทำมาจากแก้วพลาสติก ซึ่งเป็นของเหลือใช้ที่เราเห็นคุ้นตาในชีวิตประจำวัน  ทีมงาน GRID เลยถือโอกาสดี ชวนมาสนทนากับคุณต้น – บดินทร์ พลางกูร เจ้าของบริษัท Context Studio ผู้ออกแบบ PEA Green Office Pavilion ที่ทำให้ผู้พบเห็นรู้สึกว้าว ทั้งที่มาที่ไปของไอเดีย รวมถึงความท้าทายในการนำศาสตร์ด้านสถาปัตยกรรมมาประยุกต์กับวัสดุเหลือใช้ อันเป็นโจทย์สำคัญของโครงการนี้ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกและชวนให้ทุกคนหันมาช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อม


แรงบันดาลใจในการทำงาน

ภาพสเกตช์ไอเดียโปรเจกต์ Green Office Exhibition

“ในการทำงานทุกครั้ง ไม่ว่าจะโปรเจ็กต์ไหน การออกแบบของผมก็เหมือนกับชื่อบริษัทครับ ซึ่ง Context หมายถึง บริบท ทุกอย่างที่ผมออกแบบเลยต้องนึกถึงบริบทแวดล้อมที่จะมาทำให้ผลงานนั้นมีเรื่องราว ส่งเสริมแบรนด์และแสดงให้เห็นตัวตนที่ชัดเจนของลูกค้าให้ได้ อาจเป็นการบอกเล่าที่มาที่ไป ตัวตนของแบรนด์ และสภาพแวดล้อมของสถานที่ ขนาดพื้นที่ หรือแม้แต่ขั้นตอนการผลิตของลูกค้า สิ่งเหล่านี้จะมาช่วยจุดประกายไอเดีย แล้วผมก็นำไปต่อยอดในการทำงานต่อไป

คุณต้นโชว์ภาพสามมิติของพาวิลเลียน

 สำหรับ PEA Green Office Pavilion บริบทในการออกแบบคือการให้ชีวิตที่สองกับขยะและอุปกรณ์ต่างๆ ในสำนักงานที่อาจดูไร้ค่า นำมาใช้รณรงค์ให้คนรักษ์โลกมากขึ้น ผมมองว่าขยะก็มีส่วนเชื่อมโยงกับเจเนอเรชั่นของคนทำงานด้วย ฉะนั้น การหยิบวัสดุใกล้ตัวมาใช้ก็จะช่วยให้เรารู้สึกว่าการดูแลสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องใกล้ตัวมากกว่าที่เราคิด และทุกคนสามารถช่วยกันได้”


ชุบชีวิตอีกครั้ง

พาวิลเลียนจากมุมสูง

“โจทย์คือให้นำวัสดุเหลือใช้กลับมาใช้ใหม่  ผมเปิดกว้างในการคิดออกแบบ เพื่อเลือกว่าจะใช้วัสดุอะไรดี ดูเหมือนง่ายแต่ยากนะครับ (หัวเราะ) เพราะผมไม่ค่อยได้ใช้วัสดุประเภทนี้และไม่เคยทำงานลักษณะนี้มาก่อน แต่ส่วนตัวอยากลองทำอะไรใหม่ ๆ ดูบ้าง ยิ่งเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมด้วย เลยรู้สึกว่างานนี้ท้าทายตัวเองดีครับ” หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วทำไมถึงต้องเป็นแก้วพลาสติก คุณต้นยิ้มมุมปาก ก่อนหันมาตอบให้ได้คิดตามไปด้วยว่า “ผมคิดว่าไม่ว่าจะเข้าไปออฟฟิศไหน แก้วพลาสติกน่าจะเป็นสิ่งที่พบได้ง่ายและใช้กันเยอะ คนหนึ่งอาจจะใช้หลายใบต่อวันด้วยซ้ำ ก็เลยคิดว่าแก้วพลาสติกน่าจะเป็นขยะที่มีเยอะอันดับต้นๆ ในออฟฟิศ”

บรรยากาศพาวิลเลียนในยามค่ำ

“เรามักพูดกันว่าข้อเสียของพลาสติกคือการย่อยสลายยาก นั่นคือแง่ของการทำลาย ผมเลยนำความคงทนนี้ของพลาสติกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ด้วยการนำมาเป็น skin ของพาวิลเลียนซะเลย”

เมื่อได้วัสดุหลักแล้ว คุณต้นค้นหาคุณสมบัติเด่นของแก้วพลาสติก โดยไม่ยึดติดว่านี่คือแก้วที่เคยใช้ใส่น้ำเท่านั้น เพื่อจะได้เกิดสิ่งใหม่ที่แตกต่างจากเดิมด้วยเอกลักษณ์ของแก้วพลาสติกที่เป็นรูปทรงกระบอก คุณต้นจึงคิดนำมาเรียงต่อกันให้เกิดส่วนโค้งเว้าในลักษณะทรงโดม แต่ต้องคิดหาวิธีในการเชื่อมแก้วแต่ละใบเข้าด้วยกัน เพื่อให้กลายเป็นพาวิลเลียนขนาด 30 ตารางเมตรให้ได้ ซึ่งนอกจากต้องคำนึงถึงการรับน้ำหนักแล้ว การจัดแสดงผลงานในพื้นที่กลางแจ้ง มีทั้งแสงแดด แรงลม และลมฝน จึงต้องคำนึงถึงความคงทนอีกด้วย


แค่ปรับวิธีคิด

ความที่แก้วพลาสติกมีน้ำหนักค่อนข้างเบา การจะหาวัสดุมาคลุมหรือครอบเพื่อให้กันแดดกันฝนได้นั้นจึงเป็นโจทย์ที่ไม่ง่ายนัก แต่คุณต้นก็ปิ๊งไอเดียด้วยการปรับมุมมอง “เรามักพูดกันว่าข้อเสียของพลาสติกคือการย่อยสลายยาก นั่นคือแง่ของการทำลาย ผมเลยนำความคงทนนี้ของพลาสติกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ด้วยการนำมาเป็น skin ของพาวิลเลียนซะเลย”

ภาพสามมิติพาวิลเลียนทั้งภายนอกและภายใน

ในอนาคตเขาหวังว่าจะมีโอกาสใช้วิชาชีพดีไซเนอร์ช่วยเหลือสังคมได้มากขึ้น โดยเฉพาะการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมเก่าไม่ให้ถูกทำลาย เพื่อเก็บไว้เป็นมรดกให้คนรุ่นต่อไปได้เห็น

นอกจากแก้วพลาสติกที่เป็นวัสดุหลักในสิ่งก่อสร้างชิ้นนี้แล้ว ด้านในของโดม คุณต้นยังจัดเป็นนิทรรศการ DIY ที่นำวัสดุเหลือใช้จากออฟฟิศมาประดิษฐ์เป็นสิ่งของต่างๆ อีก 5 นิทรรศการย่อย ซึ่งทุกวัสดุล้วนแต่เป็นสิ่งเหลือใช้ทั้งสิ้น “ในการเลือกวัสดุแต่ละอย่าง ผมพยายามมองวัสดุในมุมอื่นๆ แต่ก็ไม่ลืมให้ความสำคัญกับคุณสมบัติเด่นของเขา อย่างวงจรคอมพิวเตอร์ ผมเลือกเพราะชอบสีเขียวของวัสดุ ถ้าเอาไฟมาฉายด้านหลังให้แสงทะลุผ่าน ผมก็จินตนาการว่านี่คือมรกต หรือสายไฟที่ลักษณะเป็นเส้น ๆ ยาว ๆ คล้ายเชือก แต่ด้วยคุณสมบัติที่เหนียวมาก เลยคิดว่าน่าจะรับน้ำหนักได้ดี นี่จึงเป็นที่มาของการนำสายไฟมาทำชิงช้า”


เมื่อความคิดถึงทางตัน

คุณต้นกับบอร์ดด้านหลังที่ไว้ติดดีเทลงาน

 “ผมจะไปอยู่กับธรรมชาติให้มากขึ้น เมื่อสมองปลอดโปร่ง ความคิดใหม่ ๆ ก็จะมาเองครับ หรือไม่ผมก็จะใช้เวลาขลุกอยู่กับสิ่งนั้น เผื่อจะได้ไอเดียอะไรขึ้นมา อย่างโปรเจ็กต์นี้ ตอนเลือกวัสดุ ผมไปที่มูลนิธิกระจกเงา เพราะที่นั่นมีสิ่งของเหลือใช้ที่ได้รับบริจาคเยอะ และมีการแยกขยะในระดับหนึ่ง ผมไปเพื่อที่จะได้ไปเห็นข้าวของ ไปมอง ไปหยิบ จับ สัมผัสดูว่ามีสิ่งไหนที่นำมาปรับประยุกต์ใช้ได้บ้าง ระหว่างที่คุ้ยค้นรื้อดู ในหัวก็คิดจินตนาการไปเรื่อยครับ” 

ทั้งนี้ คุณต้นยังแบ่งปันประสบการณ์อีกด้วยว่า “นอกจากเปิดหูเปิดตาและเปิดใจให้กว้าง เพื่อให้สมองได้ใช้จินตนาการได้เต็มที่แล้ว ในการทำงานก็จะมีปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ที่เป็นตัวกำหนดอีกด้วย อย่างโปรเจ็กต์กับ PEA ครั้งนี้ ด้วยขนาดของพื้นที่จัดแสดงที่ค่อนข้างใหญ่ การจะเลือกวัสดุอะไรมาใช้ ก็ต้องเลือกที่มีจำนวนมากในระดับหนึ่ง ในทางกลับกัน ถ้าผมเห็นว่ามีวัสดุประเภทไหนเยอะ ก็คิดว่าจะนำไปใช้อะไรได้บ้าง สรุปก็คือ การทำงานออกแบบต้องรู้จักปรับไปตามสถานการณ์หรือข้อจำกัดที่เจอครับ”


คุณต้นบริเวณด้านหน้าออฟฟิศตัวเอง

‘ฝัน’ ที่ต้องลงมือทำ

เมื่อถามถึงความสุขในชีวิตของเขา คุณต้นตอบโดยไม่ลังเลพร้อมด้วยประกายแววตาเปี่ยมสุขว่า คือการได้ทำงานในสิ่งที่รักให้ดีที่สุด ซึ่งคุณต้นตั้งใจจะทำงานด้านการออกแบบนี้ตลอดไป ในอนาคตเขาหวังว่าจะมีโอกาสใช้วิชาชีพดีไซเนอร์ช่วยเหลือสังคมได้มากขึ้น โดยเฉพาะการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมเก่าไม่ให้ถูกทำลาย เพื่อเก็บไว้เป็นมรดกให้คนรุ่นต่อไปได้เห็น 

ก่อนจากกัน คุณต้นยังได้ทิ้งท้ายไว้ว่า “ทุกคนก็มีความสุขแบบผมได้นะครับ แค่ค้นหาความชอบของตัวเองให้เจอ ใครเจอเร็วเท่าไหร่ ชีวิตก็จะไปถูกทางและชัดเจนเร็วขึ้นเท่านั้น” คุณต้นทิ้งระยะนิดหนึ่งก่อนจะกล่าวต่อไปว่า “ต้องลงมือทำเท่านั้นครับถึงจะรู้”

เรื่องโดย Nid Peacock
รูปโดย อรุโณทัย พุทธรักษา