Grid Brief

  • ความผูกพันกับชีวิตบ้านสวน และความหวงแหนต้นไม้ในสวนเป็นแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงคนนี้ทุ่มเททั้งทรัพย์สิน และแรงกายแรงใจในการพลิกฟื้นสวนที่ถูกละเลยให้กลายเป็นสวนเช่นในอดีตริมคลองบางขุนเทียน
  • การจะทำสิ่งใดไม่ว่ายากลำบากแค่ไหน หากมีความรักในสิ่งนั้นเป็นที่ตั้งก็จะช่วยให้ผ่านพ้นปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ไปได้
  • การคิดต่อยอดและมองให้รอบด้านในสิ่งที่ทำ ช่วยสร้างคุณค่าและมูลค่าให้กับสิ่งนั้นได้

เจ้าของ ‘ภูมิใจการ์เด้น’ สวนเกษตรผสมริมคลองบางขุนเทียน พรทิพย์ เทียนทรัพย์ เธอพลิกฟื้น ‘ที่ทิ้งขยะ’ ให้กลายเป็นหมุดหมายยอดฮิตของคนกรุง

การเป็นลูกหลานชาวสวนที่ครอบครัวลงหลักปักฐานอยู่ริมคลองบางขุนเทียนกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวด ทำให้คุณเอ๋ พรทิพย์ เทียนทรัพย์ ผูกพันกับวิถีชีวิตความเป็นอยู่แบบบ้านสวน รักและหวงแหนต้นไม้ใหญ่น้อยที่เติบโตในพื้นที่นี้ โดยเฉพาะต้นลิ้นจี่พันธุ์ใบยาวที่เปรียบเหมือนมรดกที่ตกทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เธอจึงตั้งใจที่จะรักษาดูแลสภาพแวดล้อมให้กลับคืนมาเหมือนภาพจำเมื่อครั้งเยาว์วัย 

คนงานขนดินลงเรือเพื่อใช้ถมที่

ทว่า ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ความเจริญต่าง ๆ ได้คืบคลานเข้ามา ทำให้สภาพสังคมในชุมชนเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม สวนหลายขนัดถูกเปลี่ยนกรรมสิทธิ์ ต้นไม้ที่เคยเขียวครึ้มก็กลายเป็นบ้านเรือนที่อยู่อาศัยแทน เมื่อบริบทชาวสวนหายไป สิ่งแวดล้อมเปลี่ยน สภาพดินฟ้าอากาศก็ไม่เหมือนแต่ก่อน พลอยให้พื้นที่สีเขียวที่เคยมีค่อย ๆ เลือนหายไปด้วย

ลำพังผู้หญิงคนเดียวจะมีพลังต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงที่ถาโถมเข้ามานี้ได้อย่างไร 

‘ไม่บ้าจริง…คงทำไม่ได้’ 

คุณเอ๋ เจ้าของ ‘ภูมิใจการ์เด้น’ เอ่ยขึ้นพร้อมเสียงหัวเราะที่ตามมา “การอยากเห็นบรรยากาศสวนเหมือนตอนเราเด็ก ๆ เป็นแรงบันดาลใจให้อยากดูแลพื้นที่บริเวณนี้ คิดไว้ว่าที่นี่จะเป็นชีวิตในวัยเกษียณของตัวเอง ซึ่งเป็นการวางแผนล่วงหน้า 20 ปี (ยิ้ม) แต่ไม่ได้เป็นโครงการชัดเจน แค่รู้ว่าอยากปลูกอะไร ไม่ได้คิดถึงผลตอบแทนที่เป็นตัวเงินก่อนเลย ว่าทำอะไรแล้วถึงจะรวยหรือมีกำไรเยอะ แต่มองถึงคุณค่าทางความรู้สึก และอยากให้ลูก ๆ ภูมิใจในรากเหง้าของบรรพบุรุษเรา นั่นคือสิ่งที่คิด แต่เมื่อลงมือทำจริง สองสิ่งนี้ไม่ค่อยไปด้วยกันเท่าไหร่

ภูมิใจการ์เด้นโดดเด่นด้วยต้นเคราฤาษีที่ห้อยประดับตามต้นไม้ใหญ่

การซื้อที่ดินสักผืนลำพังแค่เงินเก็บที่มีก็ยังไม่พอ เลยต้องขายทรัพย์สินที่มีเพื่อมาทุ่มหมดตัวกับฝันนี้ เมื่อได้มาแล้วยังต้องเสียเงินเดือนละ 6 หมื่นบาทเพื่อจ้างคนมาดูแลสวน โดยที่สวนนี้ไม่ได้สร้างรายได้อะไรกลับมาเลย เราก็ทำมาแล้ว ตอนนั้นลูกยังเล็ก เลยไม่มีใครคัดค้านได้ แต่พอเขามารู้ทีหลังก็ยังพูดขำ ๆ ว่า ‘ถ้าคุณแม่ไม่บ้าจริง คงมาไม่ถึงทุกวันนี้’”

มรดกของเธอคือ ‘ต้นไม้’  

บรรยากาศของที่นี่เต็มไปด้วยต้นไม้ใหญ่น้อย

สวนที่เคยร่มรื่นและสมบูรณ์ด้วยผลหมากรากไม้ในอดีต ได้เปลี่ยนสภาพเป็นชุมชนที่มีคนจากทั่วสารทิศเข้ามาอาศัยอยู่ นานวันเข้าสวนที่ขาดการดูแลเอาใจใส่มานาน จึงกลายเป็นพื้นที่รกร้าง และเป็นที่ทิ้งขยะ เป็นแหล่งเสื่อมโทรมของชุมชนไปในที่สุดอย่างน่าใจหาย เมื่อคุณเอ๋ได้กรรมสิทธิ์มา เธอจึงจัดการเรื่องขยะก่อนเป็นอย่างแรก จากนั้นสร้างเขื่อนล้อมรอบที่ดินของเธอ แล้วซื้อหาดินมาถมไว้สำหรับปลูกต้นไม้ ความที่สวนอยู่ริมคลองจึงต้องขนดินมาทางเรือ ทำให้มีค่าใช้จ่ายสูงมาก ๆ แต่เธอก็ไม่เคยนึกท้อ 

ภาพก่อนปรับปรุงสถานที่เป็นสวนสวยเช่นปัจจุบัน ที่นี่เคยถูกทิ้งร้างจนกลายเป็นที่ทิ้งขยะของชุมชน

“มรดกคนไทยเราสมัยก่อนก็คือที่ดิน ลูกหลานได้มาก็ต้องหาวิธีทำให้ทรัพย์ในดินงอกเงยขึ้นมา ต้องลงมือทำก่อนถึงจะรู้ว่าต้องทำอะไรต่อคือทำไปรู้ไป ใจอยากปลูกต้นไม้ แต่กว่าจะได้ผลผลิต กว่าจะนำไปแปรรูปได้ ฉะนั้น ต้องรู้ว่าวิธีดูแลระบบนิเวศในระหว่างนั้น  รู้วิธีทำให้สิ่งรอบตัวมีมูลค่าขึ้น จึงเป็นที่มาของการทำสวนนี้ให้เป็นที่รู้จักเพื่อต่อยอดสิ่งที่เรามี เพื่อแบ่งปันให้คนรอบข้าง ชุมชนในท้องถิ่น และคนอื่น ๆ”

ทำในสิ่งที่รัก…แล้วรายได้จะตามมา 

“การทำอะไรต้องเริ่มต้นจากรักก่อน ถ้าไม่รักจะทำไม่ได้ โชคดีที่ได้ทำสิ่งที่รักและถนัด แม้จะเหนื่อยแต่ก็มีความสุขมาก หลายคนถามว่าทำไมต้องเป็นสวนที่นี่ เพราะเราน้อมนำศาสตร์พระราชาที่ทรงสอนให้เราทำสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวโดยใช้ปัญญา จะได้ไม่ต้องอพยพย้ายถิ่นฐาน แล้วนำทรัพยากรท้องถิ่น ไม่ว่าจะผู้คน สัตว์ สิ่งของ กระทั่งวัฒนธรรมมาใช้ เมื่อสังคมได้ประโยชน์ เดี๋ยวรายได้ก็ตามมา” 

คุณเอ๋ขณะกำลังนั่งสนทนาอยู่ใต้ต้นชมพู่มะเหมี่ยว

เมื่อคุณเอ๋เริ่มปลูกต้นไม้ เธอไม่ได้คิดเป็นชาวสวนเหมือนคนอื่น ๆ “การปลูกต้นไม้คือการปลูกแล้วกิน…กินแล้วก็ปลูก นี่คือวิถีชีวิตบ้านสวนของเรา

เป็นภูมิปัญญาที่บรรพบุรุษทำไว้ให้เห็นว่า ‘ปลูกครั้งเดียวกินได้ชาติหนึ่ง’ อย่างต้นขี้เหล็ก สะเดา พลู ปลูกครั้งเดียวเก็บกินได้ตลอดไป นี่แหละการดูแลระบบนิเวศ” 

แต่ต้นไม้ยังมีอะไรมากไปกว่านั้นอีก คุณเอ๋อธิบายต่อว่า “พื้นที่สีเขียวที่เราปลูกต้นไม้นอกจากเป็นเรื่องระบบนิเวศแล้วยังเกี่ยวข้องกับเรื่องอาหาร ซึ่งเชื่อมโยงต่อไปยังวัฒนธรรม เพราะถ้าใครคิดจะเป็นชาวสวนแค่เก็บผลผลิตขาย ก็ถือเป็นพ่อค้าแม่ค้าขายผักขายผลไม้ตามแต่ผลผลิตจากต้นที่ปลูก แต่เราต่อยอดจากรากเหง้าที่มี นั่นคือ ‘อาหารการกิน’”

อาหารโบราณ…สะพานเชื่อมทุกสิ่ง

เมี่ยงตะลิงปลิง เมนูที่จำลองระบบนิเวศของที่นี่เอาไว้ในอาหาร

 “เราแค่นำต้นตำรับของอาหารในแบบอย่างที่เราเคยเห็น เคยทำ และเคยกินออกมาให้คนอื่นได้สัมผัสบ้าง อย่างเมี่ยงตะลิงปลิง 1 จาน เราจำลองระบบนิเวศของที่นี่ไว้ในนั้น ตั้งแต่ใบชะพลู หลายคนเคยได้ยินชื่อแต่ไม่รู้หน้าตาเป็นยังไง เราพาไปดูในสวนได้ เรามีต้นตะลิงปลิงที่ปลูกชะพลูอยู่ข้างล่าง แต่ก่อนจะไปถึงต้องผ่านต้นทองหลาง พริกไทย ดีปลี และพลู แค่ได้ยินพลูกับชะพลู คนเมืองก็งงแล้วว่าไม่เหมือนกันเหรอ มาถึงตัวเมี่ยง เราเสิร์ฟแบบคลุกผสมเครื่องทั้งหมดมาแล้ว นี่คือวิธีกินของท้องถิ่นเรา พอเคี้ยวเจอรสเปรี้ยวฝาดนั่นคือรสชาติของตะลิงปลิงและมะเฟืองที่ใช้แทนมะนาว ไว้ตัดรสหวานของเครื่องเมี่ยงได้อย่างกำลังดี นี่คือภูมิปัญญาของบรรพบุรุษที่เรานำมาบอกต่อ”

ด้านหลังที่ตกแต่งด้วยไม้ไผ่คือส่วนของคาเฟ่ที่ให้บริการทั้งอาหาร เครื่องดื่ม และของหาน
โต๊ะรับประทานอาหารที่ตั้งไว้ใต้ร่มไม้ในอาณาบริเวณของสวน

คุณเอ๋ยังทำให้คนในชุมชนได้เห็นถึงคุณค่าสิ่งที่มีอีกด้วย “ทองหลางเป็นพืชที่ชาวสวนแถวนี้เห็นกันมานานจนชินตาจนมองข้ามประโยชน์ของมันไป ทั้งที่เป็นพืชที่ให้ไนโตรเจนสูง ซึ่งเป็นธาตุอาหารจำเป็นสำหรับดิน เมื่อสวนเราพร้อมปลูก ก็ระดมปลูกทองหลางให้เยอะ เพราะเป็นทั้งอาหารดินและอาหารคน เป็นเมนูทองหลางผัดไข่ได้ด้วย”

ช่วงแรกของ ‘ภูมิใจการ์เด้น’ เป็นการปลูกและขยายพันธุ์ไม้ในสวน ก็เลยจำหน่ายกิ่งพันธุ์ด้วยเลย

ในตอนนั้นหลายคนอาจเข้าใจว่าที่นี่คงปลูกต้นไม้ขาย ‘แต่เราคิดต่อยอดทุกอย่างรอบด้านกว่านั้น’” คุณเอ๋ยิ้มด้วยความภูมิใจ

กำไรที่ยิ่งใหญ่

ปัจจุบัน ‘ภูมิใจการ์เด้น’ เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจที่เป็นพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ มีทั้งสวนสวย ต้นไม้ร่มรื่น และบรรยากาศริมคลองบางขุนเทียนที่มีสารพัดต้นไม้ โดยเฉพาะสวนลิ้นจี่โบราณอายุกว่าร้อยปีที่ได้รับการคัดเลือกจากกระทรวงวัฒนธรรมให้เป็นรุกขมรดกของแผ่นดินใต้ร่มพระบารมี ซึ่งถือเป็นต้นไม้สำคัญของประเทศ แล้วยังขึ้นทะเบียนต้นลิ้นจี่พันธุ์ใบยาวให้เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) อีกด้วย นอกจากนี้ยังมีอาหารโบราณ อาทิ มัสมั่นไก่ แกงคั่วขาว ผัดไทย ไข่พะโล้ และเมนูที่ดัดแปลงจากวัตถุดิบที่ปลูกในสวนอย่าง เมี่ยงตะลิงปลิง น้ำตะลิงปลิงผสมโซดา ซึ่งเป็นเมนูของคาเฟ่ Natura Garden Café ไว้บริการผู้มาเยือน

“เราเก็บค่าเข้าสวนลิ้นจี่ร้อยปีคนละ 300 บาทมาตลอด เพื่อคัดกรองคนที่อยากเข้ามาจริง ๆ เพราะเราต้องการบริการอย่างทั่วถึงด้วยคุณภาพที่ประทับใจ ส่วนลิ้นจี่ในสวนเราขายกิโลกรัมละ 1,000 บาท แต่ก็ยังเก็บค่าเข้าสวนเหมือนเดิม มีคนตำหนิไม่น้อย แต่คนที่จ่ายแล้วกลับไปอย่างมีความสุขทุกคน เพราะเราให้มากกว่าที่เขาจ่ายเยอะ แต่เราไม่ได้โฆษณาในส่วนนี้ เพราะอยากให้คนที่เข้ามารู้สึกว้าวว่าตัวเองได้ของดีกลับบ้าน สิ่งเหล่านี้อาจมองเป็นความสำเร็จของสวนที่เราทุ่มเทลงไป นั่นก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่แท้จริงแล้ว สำหรับเราคือการที่ลูก ๆ เห็นคุณค่าในสิ่งที่เราทำ และเข้ามาช่วยสานต่อและต่อยอดต่อไป นี่ต่างหากกำไรที่ยิ่งใหญ่”

เรื่อง Nid Peacock

ภาพ สาธิต บัวเทศ