Grid Brief

  • โดยปกติเงินสำรองที่คุณควรมีติดบัญชีไว้คือ ‘3 เท่าของรายได้’ แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน คุณควรเพิ่มเงินสำรองให้เป็น 12 เดือน เพื่อรองรับกับความเสี่ยงที่ยังมาไม่ถึง
  • สภาพคล่องทางการเงินคือความสามารถในการหมุนเงินได้อย่างรวดเร็ว เงินสดคือสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงที่สุด จึงเป็นอาวุธสำคัญที่จัดการปัญหาได้เร็วที่สุด
  • ‘ซ้อมทำพินัยกรรม’ คือเคล็ดลับการจำแนกสินทรัพย์อย่างละเอียดเพื่อทำให้เห็นภาพกว้างว่าคุณมีสภาพคล่องทางการเงินดีแค่ไหน

มนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่มักคิดว่า ‘เราทำงานเพื่อมีเงินใช้ดำรงชีพ’  ฉะนั้น ถ้ายังมีงานทำอยู่ ก็จะมีเงินใช้จ่ายในแต่ละเดือน แต่นั่นไม่ได้การันตีความมั่นคง เพราะวันหนึ่งอาจเจอวิกฤตชีวิตที่ไม่คาดฝันจนตั้งตัวไม่ทันได้ ไม่ว่าจะเป็นความเจ็บป่วย หรือการตกงานอย่างกะทันหัน รวมถึงการเผชิญกับภาวะหมดไฟในการทำงานด้วย  ดังนั้นการวางแผนทางการเงินจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นมาก โดยมีขั้นตอนการจัดการดังนี้

Credit: Allison Saeng

สำรวจทรัพย์สินและสภาพคล่องการทางการเงินของตัวเอง

รู้หรือไม่ว่าระหว่างทองคำกับที่ดิน สินทรัพย์ประเภทไหนมีสภาพคล่องมากกว่ากัน คำตอบก็คือ ‘ทองคำ’ แม้ว่าที่ดินอาจ     สร้างมูลค่ามากกว่าในระยะยาว แต่ตัวชี้วัดของ ‘สภาพคล่อง’ ก็คือความสามารถการแปลงสินทรัพย์นั้นเป็นเงินได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทองคำน่าจะมีโอกาสแปลงเป็นเงินได้เร็วกว่าโฉนดที่ดิน กลับมาที่การสำรวจทรัพย์สิน เราควรเริ่มต้นตรวจสอบสภาพคล่องทางการเงินของตัวเอง ด้วยการทำรายรับ – รายจ่าย เพื่อจะได้รู้ว่าชีวิตคุณหรือธุรกิจของคุณมีทรัพย์สินและหนี้สินประเภทไหนอยู่บ้าง จำนวนเท่าไหร่

Credit: Window

สำรวจหนี้สินและดอกเบี้ย

คุณรู้จัก ‘หนี้สินและดอกเบี้ย’ ดีพอหรือยัง รู้หรือไม่ว่าปัจจุบันประเทศไทยมีหนี้ครัวเรือนมากกว่า 14.97 ล้านล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 16 ปี โดยมีค่าเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ราว 5 แสนบาท 

ในชีวิตของคุณอาจจะกำลังเผชิญกับดอกเบี้ยหลายประเภท เช่น ดอกเบี้ยอัตราคงที่ในการผ่อนรถยนต์ ดอกเบี้ยแบบลดต้นลดดอกในการผ่อนอสังหาริมทรัพย์ หรือดอกเบี้ยบัตรเครดิตที่เริ่มคิดตั้งแต่วันแรกที่คุณชำระยอดการใช้ไม่เต็มจำนวน จำไว้ว่า การจัดการด้านการเงินให้มีคุณภาพนั้น ภารกิจการปลดหนี้เป็นสิ่งแรกๆ ที่ควรคำนึงถึง 

Credit: Mathieu Stern

เงินสำรอง 12 เดือน พักได้ถ้ามีเงินสำรองเพียงพอ

ปกติแล้วเงินสำรองที่ควรมีติดบัญชีไว้คือ ‘รายได้ x 3 เท่า’ เพื่อความอุ่นใจและปลอดภัยในการดำรงชีวิต  แต่ด้วยสภาพเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน คุณควรเพิ่มเงินสำรองให้เพียงพอสำหรับการใช้ชีวิตได้ 12 เดือน เพื่อเตรียมรับกับความเสี่ยงที่ยังมาไม่ถึง สภาพคล่องทางการเงินที่ดีจะทำให้คุณใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉินได้ไม่เดือดร้อน การเก็บเงินสำรองเริ่มจากการตรวจสอบรายรับและรายจ่ายที่จำเป็น  เพื่อคำนวณยอดเงินสำรองที่คุณสามารถเก็บในแต่ละเดือนเผื่อไว้สำหรับเหตุฉุกเฉิน

เคล็ดลับที่อยากแนะนำคือให้คิดว่ากำลัง ‘ซ้อม’ ทำพินัยกรรม การจำแนกสินทรัพย์ของตัวเองอย่างละเอียดผ่านการทำเป็นรายการสินทรัพย์อยู่เสมอ ทำให้ได้รู้สภาพคล่องทางการเงินและจำนวนเงินสำรองของตัวเอง ถ้าเกิดวิกฤตเร่งด่วนเข้ามาในชีวิต สมบัติชิ้นไหนที่สามารถแปลงเป็นเงินได้สะดวก ส่วนผู้ที่ไม่มีทรัพย์สินชิ้นใหญ่เป็นของตัวเอง แนะนำให้ฝึกทำบัญชีรายรับ – รายจ่าย เพื่อสร้างวินัยในการใช้เงินของตัวเอง ที่สำคัญต้องไม่ลืมกันเงินส่วนหนึ่งไว้ลงทุนด้วย

แม้การลงทุนเป็นสิ่งสำคัญ แต่ต้องมีสติให้ดีในการเลือกรูปแบบการลงทุนให้เหมาะสมกับตัวเอง อย่าเห็นแก่คำเชิญชวนที่มีผลตอบแทนสูงมาดึงดูดใจ แต่อยากให้คิดเสมอว่า ‘เงินสด’ ยังเป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสำคัญที่สุดในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ฉะนั้น หากมีเงินสำรอง 12 เดือนไว้ ก็น่าจะพอให้คุณประวิงเวลาเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอนาคตได้

Cover Photography: Clay Banks