อย่างที่ทราบกันว่าแบรนด์แฟชั่นระดับสากลต่างมีเอเชียเป็นฐานการผลิตหลัก ทำให้แบรนด์ได้รับแรงกดดันทั้งจากผู้ถือหุ้นและผู้บริโภคที่ห่วงใยเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกขั้นตอนทั้งสายพานการผลิตเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของโลก ซึ่งหนึ่งในประเทศที่เป็นฐานผลิตที่สำคัญอย่างเวียดนาม เป็นผู้ส่งออกผ้ารายใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก จึงเป็นกุญแจสำคัญในแผนการผลิตอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของแบรนด์แฟชั่นต่างๆ

กิจการค้าร่วมที่ประกอบไปด้วยแบรนด์แฟชั่นระดับโลก 29 แบรนด์ อาทิ Nike, H&M, Mulberry, Mammut, Calvin Klein, Tommy Hilfiger, New Balance, Solomon, Jansport, Timberland, Primark ไปจนถึง Target ศูนย์การค้าใหญ่อันดับสองของสหรัฐอเมริกา จึงร่วมลงนามในจดหมายที่ส่งถึงเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนาม เพื่อกระตุ้นให้เวียดนามลงนามเรื่องข้อตกลงการซื้อขายพลังงานทางตรง หรือ Direct Corporate Power Purchase Agreement (DPPA) ซึ่งจะมีผลให้ผู้ซื้อ (ภาคเอกชน) ทำสัญญาระยะยาวรับซื้อพลังงานจากผู้ผลิตภาคเอกชนโดยตรง แทนการรับซื้อจากการไฟฟ้าของภาครัฐ (EVN) ที่ผูกขาดการดำเนินกิจการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากถ่านหินแต่เพียงผู้เดียว และสามารถร่วมลงทุนในการผลิตพลังงานกับเอกชนเองได้ 

หากข้อตกลงนี้เกิดขึ้น เวียดนามเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด 100 เปอร์เซ็นต์ได้เร็วเท่าไหร่ จะทำให้เวียดนามมีภาษีดีกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะนี่จะเป็นข้อเปรียบอย่างยิ่งในการพิจารณาลงทุนตั้งโรงงานใหม่ในภูมิภาคนี้ให้เป็นไปได้มากขึ้น