Grid Brief

  • จากการวิจัยพบว่ากลิ่นเหงื่อมีสารเคมีที่บ่งชี้ความเครียดหรือโรคซึมเศร้าได้ โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นนักผจญเพลิง ซึ่งเป็นอาชีพที่ทำงานภายใต้ความกดดัน ทำให้เผชิญกับความเครียดสะสมอย่างยาวนาน
  • ผลการวิจัยแม้จะมีความแม่นยำสูงถึง 90% แต่ก็เป็นเพียงการคัดกรองเบื้องต้น ในรายที่ผลระบุว่าความเครียดสูง ควรพบจิตแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรคอีกครั้ง

สังเกตไหมว่า หลายครั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์จากการใช้ความรุนแรง หนึ่งในมูลเหตุจูงใจของผู้ก่อเหตุมักมาจากความเครียดหรือปัญหาด้านสุขภาพจิต มีการตั้งข้อสันนิษฐานว่า บุคคลที่มีอาชีพดูแลความปลอดภัยให้สังคม เช่น ทหาร ตำรวจ นักผจญเพลิง เป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจเป็นผู้ก่อเหตุได้ แม้จะได้รับการตรวจสุขภาพกายและสุขภาพจิตเป็นประจำทุกปี ก็อาจไม่เพียงพอกับภาวะเครียดที่ต้องเผชิญจากการทำงาน รวมถึงจำนวนบุคลากรด้านจิตเวชในบ้านเราก็ยังมีไม่เพียงพอ 

พญ. ภัทราวลัย สิรินาคา

เพื่อบรรเทาปัญหานี้ สองนักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แก่ ผศ. ดร.ชฎิล กุลสิงห์ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ และ พญ. ภัทราวลัย สิรินาคา ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จึงได้ต่อยอดงานวิจัยที่ได้พัฒนาเครื่องมือตรวจคัดกรองเชื้อโควิด-19 จากกลิ่นสารเคมีในเหงื่อ มาศึกษาหาสารเคมีบ่งชี้ถึงความเครียดจากกลิ่นเหงื่อ โดยนำร่องโครงการวิจัยระบุชนิดสารระเหยง่ายในเหงื่อสำหรับคัดกรองโรคทางสุขภาพจิตกับนักผจญเพลิง 1,084 คน จากสถานีดับเพลิง 47 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ตั้งแต่กุมภาพันธ์ – ธันวาคม 2565 

ทำไมต้องนักผจญเพลิง

ด้วยภารกิจหน้าที่ของนักผจญเพลิงที่ต้องดูแลรับผิดชอบความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ประชาชน จึงทำงานภายใต้ความกดดัน ต้องตัดสินใจอย่างเร่งด่วนให้ทันกับอัคคีภัยที่เกิดขึ้น จึงเป็นอาชีพที่มีความเครียดสะสม

ผศ. ดร.ชฎิล กุลสิงห์

นอกจากนี้ ที่ผ่านมาการวิจัยเกี่ยวกับความเครียดมักศึกษาจากการควบคุมหรือจำลองสถานการณ์ขึ้นมา แต่ครั้งนี้เป็นการศึกษาจากความเครียดสะสมที่เกิดขึ้นจากการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันจริง โดย ผศ.ดร.ชฎิล อธิบายว่า “ตามหลักการผู้ที่เป็นโรคเดียวกันมักมีสารเคมีหรือกลุ่มสารเคมีที่เหมือนกัน ฉะนั้น หากตรวจพบว่าใครมีสารเคมีความเครียดในเหงื่อในปริมาณที่สูงหรือต่ำกว่าเกณฑ์ ก็น่าจะระบุได้ว่า คนคนนั้นมีความเครียดสูงและอาจเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า”

Credit: Freepik

ทำไมต้องเป็นเหงื่อ

การวิจัยนี้เป็นการคัดกรองสภาวะจิตใจก่อนพบจิตแพทย์ กระบวนการเก็บตัวอย่างจึงเน้นว่าต้องสะดวก ราคาไม่แพง แต่ให้ประสิทธิภาพสูง ซึ่งเหงื่อตอบโจทย์นั้น อีกทั้งยังสามารถเก็บตัวอย่างได้รวดเร็ว ใช้เวลาไม่นาน และตรวจได้ครั้งละหลายคน

สำหรับขั้นตอนการเก็บตัวอย่างเหงื่อจะใช้ก้านสำลีสะอาดที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว 2 ก้าน เหน็บไว้ใต้รักแร้ทั้งสองข้างประมาณ 10-15 นาที แล้วใส่ลงในขวดปลอดเชื้อที่มีฝาปิด จากนั้นจะมีการตรวจด้วยเครื่องวิเคราะห์กลิ่นสารเคมี ด้วยการฉีดอากาศในขวดเข้าไปในเครื่อง ใช้เวลาวิเคราะห์ผลประมาณ 10-20 นาที โดยจะแสดงผลเป็นบาร์โค้ดของสารเคมีในแต่ละตัวอย่าง

การวิเคราะห์กลิ่นเหงื่อเพื่อหาสารเคมีที่บ่งชี้นี้ให้ผลที่แม่นยำถึง 90% และถือเป็นครั้งแรกที่มีการตรวจพบกลุ่มสารเคมีความเครียด (แบบระเหยง่าย) ในเหงื่อของคนกลุ่มใหญ่ที่ประกอบอาชีพเดียวกัน ส่วนผลการตรวจพบแนวโน้มว่านักผจญเพลิงกลุ่มตัวอย่างมีความเครียดและปัญหาการนอนหลับจำนวนมาก ซึ่งผลการตรวจจะเก็บเป็นความลับ แจ้งเฉพาะเจ้าตัวเท่านั้น แต่ถ้ามีความเสี่ยงปานกลางถึงรุนแรงจะมีการยืนยันผลจากอาจารย์จิตแพทย์อีกครั้ง

ทั้งนี้ ในอนาคตจะมีการขยายการตรวจคัดกรองความเครียดจากกลิ่นเหงื่อไปยังกลุ่มอาชีพอื่น ๆ ที่ทำงานภายใต้ความกดดันสูง  ซึ่งมีความเสี่ยงเกิดปัญหาภาวะสุขภาพจิต เพื่อเพิ่มการเข้าถึงการตรวจคัดกรองสุขภาพจิตให้รวดเร็ว และสะดวกยิ่งขึ้น อันจะเป็นผลดีสำหรับผู้ที่ต้องเผชิญภาวะเครียดจัดหรืออาการซึมเศร้า ให้ได้รับการบำบัดอย่างทันท่วงที