เมื่อดวงตะวันลับขอบฟ้า ความมืดสยายปีกโอบล้อมไปทั่วทุกพื้นที่ นกกาโบยบินกลับรังนอน ภารกิจของวันดูเหมือนจะเสร็จสิ้นเสียทีสำหรับใครหลาย ๆ คน รวมถึงช่างภาพด้วย ยามสิ้นแสงตะวันก็เก็บอุปกรณ์เข้ากระเป๋า รูดขาตั้งกล้องสามขาสามท่อนให้หดสั้นรวมกันเป็นท่อนเดียว และยัดเข้าในกระเป๋าเก็บขาตั้ง รูดซิปและสะพายขึ้นบ่า 

แต่ก็มีอยู่บ่อยครั้งครับ ที่ผมเฝ้ารอมาทั้งวัน เพื่อให้ยามรัตติกาลมาเยือนสักที แต่เป็นการรอที่ไม่ต้องลุ้นเหมือนรอแสงธรรมชาติดี ๆ ในยามกลางวันหรอกครับ เพราะค่ำคืนและความมืดมาถึงเราแน่นอนทุกเมื่อเชื่อวัน ส่วนเหตุผลที่ผมเฝ้ารอกลางคืนเพราะเป็นเวลาที่ผมจะได้ลั่นชัตเตอร์สำหรับภารกิจครั้งนี้เสียที

หากสังเกตให้ดี หลังจากดวงตะวันลับฟ้าไปแล้ว ท้องฟ้าก็ยังคงทิ้งแสงเรืองรองส่องโลกอยู่ ก่อนที่ความมืดจะครอบคลุมไปทั่วทุกพื้นที่ จังหวะนั้นเป็นเวลาที่ดีสำหรับการถ่ายภาพ ซึ่งเป็นช่วงแสนสั้นที่จะเกิดขึ้นไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ช่างภาพต้องช่วงชิงมาให้ได้ เป็นเวลารอยต่อระหว่างกลางวันและกลางคืน ความสว่างและความมืด ทั้งนี้ในแต่ละช่วงเวลาของวันจะมีค่าสีของแสงหรืออุณหภูมิสีที่แตกต่างกันออกไป โดยช่วงรอยต่อที่ผมว่านี้อุณภูมิสีจะสูงขึ้นไปกว่าหมื่นองศาเคลวิล (Kelvin)  ต่างจากช่วงกลางวันที่อุณหภูมิสีอยู่ประมาณกว่าห้าพันองศาเคลวินเท่านั้น ซึ่งเมื่อค่าเหล่านี้สูงขึ้น ท้องฟ้าจะแปรเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินเข้ม และเข้มขึ้นเรื่อย ๆ จนกลายเป็นดำสนิทในที่สุด นาทีทองที่ช่างภาพหมายปองจึงสั้นด้วยเหตุผลนี้ล่ะครับ

ส่วนตัวผมมักใช้ช่วงเวลานี้ในการถ่ายภาพโบราณสถานต่าง ๆ แสงจากสปอตไลท์ที่สาดส่องไปยังองค์พระปรางค์หรือสถูปเจดีย์ช่วยขับให้วัตถุนั้นสว่างไสว ไม่จมหายไปในความมืดมิด แต่การถ่ายภาพก็ต้องคำถึงค่าแสงให้ดีก่อนกดชัตเตอร์ เพื่อเป็นการรักษาแสงธรรมชาติของท้องฟ้าที่เป็นสีน้ำเงินเข้มเอาไว้ และให้วัตถุที่ต้องการถ่ายไม่ขาวโพลนจนเกินไป นั่นหมายความว่า ทั้งสองสิ่งนี้ต้องมีค่าแสงที่ใกล้เคียงกันครับ ดังนั้น หากต้องการสีสันที่สวยงามของช่วงเวลายามนี้ ให้ถ่ายภาพไปรัว ๆ อย่าลีลารั้งรอให้มากท่าครับ เพราะค่าแสงธรรมชาติไม่หยุดนิ่งเหมือนอย่างแสงสปอตไลท์ ท้องฟ้าจะค่อย ๆ เปลี่ยนสีไปเรื่อย ๆ สิ่งที่เราทำได้ก็คือการรักษาสีของวัตถุไว้ให้พอดี ไม่ขาวโอเวอร์เกินไป หรือไม่ให้ดำเข้มจนขาดรายละเอียดที่เป็นเสน่ห์อันน่าสนใจของวัตถุนั้น 

สำหรับการวัดแสงที่ใช้ถ่ายในช่วงนาทีทองนี้ ผมแนะนำให้เปลี่ยนมาใช้แบบเฉพาะจุด หรือแบบหนักกลาง แล้ววัดแสงรอบ ๆ โดยเปรียบเทียบกับบริเวณองค์พระเจดีย์ ดูภาพในจอว่ามืดหรือสว่างเกินไปหรือไม่ เพื่อพิจารณาว่าควรชดเชยแสงไปทางบวกหรือลบ เมื่อท้องฟ้าเปลี่ยนสีเข้มขึ้นเรื่อย ๆ จนหมดแสงก็พักตั้งสติกันสักครู่ หากยังต้องการถ่ายภาพกลางคืนต่อ ให้รอจนมืดสนิทแบบที่ดูแล้วไม่มีทางจะมืดไปมากกว่านี้ได้ ก็จะสามารถถ่ายต่อโดยไม่ต้องรีบเร่งเหมือนช่วงก่อนหน้านี้แล้วครับ

นอกจากนี้ การเตรียมตัวให้พร้อมท่ามกลางความมืดดูจะสำคัญกว่าเทคนิคการวัดแสงหรือการดูอุณหภูมิสีที่ผมบอกไปเสียอีกครับ เพราะความพร้อมนั้นต้องเริ่มตั้งแต่การไปให้ถูกที่ ถูกเวลา นั่นคือควรไปถึงสถานที่จริงเพื่อเตรียมกางขาตั้งกล้องก่อนที่ฟ้าจะมืดลงอย่างน้อยก็ต้องสักครึ่งชั่วโมงครับ เพราะการเตรียมตัวตั้งกล้องและสำรวจพื้นที่รอบ ๆ ขณะที่ยังสว่างอยู่นั้นทำได้ง่ายกว่าตอนท้องฟ้าเริ่มสลัวแล้วแน่ ๆ ครับ ที่สำคัญต้องทดสอบความมั่นคงของขาตั้งกล้องที่กางไว้ให้แน่ใจก่อนจะนำกล้องเข้าติดตั้ง ผมเคยเห็นกับตาว่าช่างภาพบางท่านเมื่อกางขาตั้งสามขาแล้ว ด้วยความรีบเพราะกลัวไม่ทันแสงธรรมชาติ ก็เลยลืมหมุนล็อกขาตั้งไป 1 ขา พอเอากล้องเข้าไปติดตั้ง ขาที่ลืมล็อกก็พากล้องม้วนตีลังกาลงกับพื้น ทั้งกล้องและเลนส์พังเสียหาย จึงไม่ควรประมาทในขั้นตอนนี้ ต้องละเอียดลออและรอบคอบทุกครั้งที่กางขาตั้งกล้อง เพื่อฝึกฝนให้เป็นนิสัยนะครับ

มาถึงขั้นตอนการถ่ายภาพ ควรใช้สายลั่นชัตเตอร์ช่วยในการจับภาพให้ได้อย่างนิ่มนวลที่สุด แม้กล้องจะอยู่บนขาตั้งที่มั่นคงแล้วก็อย่าชะล่าใจว่าจะได้ภาพที่คมชัด ยังมีอีกหลาย ๆ ปัจจัยที่จะทำให้ภาพสั่นไหว ไม่คมชัด เพราะการถ่ายภาพยามค่ำคืนต้องใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำมาก ความสั่นไหวเพียงเล็กน้อยก็สะเทือนเลื่อนลั่น ทำให้ภาพออกมาพล่าเลือนได้ ถ้าจะให้มั่นใจว่ากล้องนิ่งจริงก็อาจต้องใช้การล็อกกระจกสะท้อนภาพด้วยครับ เพราะในกล้องบางรุ่นบางยี่ห้อ เวลากดชัตเตอร์แล้วกระจกสะท้อนภาพจะตีขึ้นแรงมากจนกล้องสะเทือน ภาพก็สั่นไหวตามไปด้วย นอกจากนี้ ความสั่นไหวยังมาจากภายนอกได้ครับ ไม่ว่าจะเป็นคนที่เดินผ่านไปมา หรือรถยนต์แล่นผ่าน พื้นสะเทือนเพียงนิดเดียวก็มีผลเหมือนกัน ฉะนั้น ถ้าอยากได้ภาพที่มีคุณภาพ ความคมชัดเนี้ยบเป๊ะ ก็ต้องพิถีพิถันหน่อยครับ รอจังหวะให้ทุกสิ่งอยู่ในความนิ่งสงบราวกับหยุดเวลาไว้ แล้วจึงค่อย ๆ บรรจงกดชัตเตอร์ครับ

อีกเรื่องที่น่าระวัง ก็คงเป็นความผิดพลาดของระบบออโต้โฟกัส เพราะอาจไปโฟกัสในส่วนที่มืดหรือส่วนที่มีความต่างของแสงน้อย จึงควรปรับมาใช้ระบบแมนนวลโฟกัสแทน ดูด้วยตาตัวเองให้แน่ใจก่อนจะกดชัตเตอร์ดีกว่าครับ ถ้าคุณเป็นช่างภาพที่ผ่านการถ่ายภาพท่ามกลางความมืดมาในระดับหนึ่ง การมีไฟฉายดวงเล็ก ๆ ติดกระเป๋ากล้องอยู่ด้วยก็จะช่วยให้การทำงานในความมืดคล่องตัวขึ้นเยอะเลยครับ

การถ่ายภาพกลางคืนจะได้ภาพที่ดีถูกใจหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยเพียงไม่กี่ข้อข้างต้นนี้ล่ะครับ ที่เหลือก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของช่างภาพแต่ละท่าน ว่าได้มีโอกาสฝึกฝนบ่อยขนาดไหน การเลือกสถานที่ก็เป็นส่วนสำคัญเหมือนกันที่จะทำให้ได้ภาพที่ดี ผมเองเคยได้รับงานถ่ายภาพสถาปัตยกรรมในช่วงกลางคืนอยู่บ่อยครั้ง สามารถจบงานได้ในคืนเดียวก็จริง แต่ก่อนหน้านั้นต้องเทียวไปเทียวมาเพื่อสำรวจสถานที่จริงอยู่หลายรอบ เปลี่ยนโลเคชันอยู่หลายครั้งกว่าจะได้ภาพที่ลูกค้าพอใจ เพราะในแต่ละคืนที่ออกทำงานก็จะถ่ายได้เพียงสถานที่เดียวและมุมเดียว จะเปลี่ยนที่ไปถ่ายมุมนั้นมุมนี้เหมือนช่วงกลางวันก็ไม่สะดวก ยิ่งถ้าต้องการแสงระหว่างรอยต่อกลางวันและกลางคืนด้วยแล้ว เวลาก็ยิ่งมีจำกัด 

หวังว่าเพื่อน ๆ จะรักการถ่ายภาพยามกลางคืนที่มืดมิด ไม่แพ้การถ่ายภาพในช่วงกลางวันนะครับ