ช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนมีนาคมของทุกปี จะเป็นช่วงเวลาที่นกอพยพหลากหลายชนิดเดินทางผ่านประเทศไทย ทั้งอพยพมุ่งหน้าลงใต้เพื่อหนีหนาว และอพยพขึ้นเหนือเพื่อกลับไปยังถิ่นอาศัยประจำ

เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้ข่าวจากเพื่อนฝูงช่างภาพที่ชื่นชอบการถ่ายภาพนกว่า เจ้านก “คัคคูมรกต” (Asian Emerald Cuckoo) ได้มาหากินแถวๆ ดงต้นมะขามเทศด้านหลังพุทธมณฑลนี่เอง ก็เลยต้องหาเวลาออกไปเจอะเจอสักหน่อย สายๆ วันอาทิตย์ (7 ก.พ. 64) จึงบึ่งรถไปตามหมายที่ได้มา เมื่อไปถึงจุดนัดพบราวสิบโมง มีพี่น้องหลายท่านกำลังแหงนกล้องเล็งหาเจ้านกเป้าหมายกันอยู่

อุปกรณ์ที่นำไปคือ กล้องมิเรอร์เลสฟูลเฟรม ประกบกับ Canon RF 800mm F11 IS STM ซึ่งเป็นเลนส์ทางยาวโฟกัส 800 มิลลิเมตร มีรูรับแสงคงที่ที่ f/11 ถึงจะเป็นรูรับแสงที่แคบ แต่ก็แลกมาด้วยขนาดที่กะทัดรัด สามารถถือถ่ายได้สบาย เพราะมีน้ำหนักเพียง 1.26 กิโลกรัม และมาพร้อมกับระบบกันสั่นที่ 4 สต็อป แถมด้วยราคาที่สบายกระเป๋า เพียงสามหมื่นกลางๆ เทียบกับเลนส์ Canon EF 800mm f/5.6L IS USM ที่มีน้ำหนัก 4.5 กิโลกรัม และราคาเกือบครึ่งล้าน!!! แต่ถึงจะเป็นเลนส์ที่ได้รับการออกแบบมาให้สามารถถือถ่ายได้ ขาตั้งกล้องก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการถ่ายภาพด้วยเลนส์ซูเปอร์เทเลโฟโต้ (เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัสระดับ 400 มิลลิเมตรขึ้นไป) เพื่อช่วยลดการสั่นไหว และได้ภาพที่คมชัดที่สุดเท่าที่จะเป็นได้

สภาพแสงวันนั้นเป็นใจอย่างมากในเรื่องของความสว่าง ท้องฟ้าแทบจะไร้เมฆ อุณหภูมิขึ้นไปราว 35 องศา นกคัคคูมรกตจะหากิน “บุ้ง” และหนอนชนิดอื่นๆ อยู่บนเรือนยอดไม้ เนื่องจากหวั่นไหวกับช่างภาพเกือบยี่สิบชีวิตที่จ้องมองอยู่เบื้องล่าง โจทย์ยากข้อหนึ่งก็คือ จะต้องหาฉากหลังที่สีสันสบายตา เพราะมุมแหงนที่เราเล็งขึ้นไปยังนก หมายถึงฉากหลังที่เป็นท้องฟ้าสีขาวสว่าง ไร้ซึ่งความงาม และด้วยสภาพแสงของฉากหลังที่สว่างมาก ก็จะส่งผลให้เจ้านกของเรามืด ถ้าฉากหลังเป็นท้องฟ้า เราจะต้องชดเชยแสงให้สว่างขึ้น 1.5 – 3 สต็อปกันเลยทีเดียว เพื่อให้ค่าแสงที่ตัวนกสว่างกำลังดี สิ่งที่เราทำได้ก็คือ “รอคอย” จนกว่านกจะขยับลงมายังกิ่งมะขามเทศที่อยู่ต่ำลงมา ซึ่งโดยทั่วไปมันจะลงมาก็ต่อเมื่อมันรู้สึกปลอดภัย (คนกลับกันไปหมด) ซึ่งผมกับเพื่อนอีกสองคนก็ประสบความสำเร็จจากการรอคอยครั้งนั้น ได้ภาพเจ้าคัคคูมรกตเพศผู้หลายรูป และเพศเมียอีกนิดหน่อย ใช้เวลาไปราว 5-6 ชั่วโมงเท่านั้นเอง

นกคัคคูมรกต (Asian Emerald Cuckoo) เป็นนกประจำถิ่นตามป่าดิบเขาทางตอนเหนือของอนุทวีปอินเดีย จีนตอนใต้ จนถึงภาคเหนือของไทย ขนาดตัวเต็มวัยประมาณ 17 เซนติเมตร ปากเหลืองปลายดำ หางคู่นอกมีขอบขาวดำ

ตัวผู้: หัว อก หลัง ปีก และหางสีเขียวมรกต เหลือบเป็นมัน อกตอนล่างถึงก้นขาว มีลายขวางสีเขียว

ตัวเมีย: หัวน้ำตาลแดง คอและอกแซมสีน้ำตาลแดง มันจะวางไข่ในรังของนกชนิดอื่นที่มีขนาดใกล้เคียงกัน อาทิ นกกินปลี นกปลีกล้วย หรือนกเกาะคอนขนาดเล็กอื่นๆ ส่วนนกอพยพนอกฤดูผสมพันธุ์จะกระจายอยู่ตามสวนสาธารณะและป่าเกือบทั่วประเทศ เป็นนกที่พบได้ไม่บ่อยนัก

เรื่องและภาพถ่ายโดย จุลล์ จูงวงศ์