สถานการณ์ “คาร์บอนเครดิต” (Carbon Credit) ไม่ใช่เรื่องใหม่ของประเทศไทยอีกต่อไป หลังจากหน่วยงานต่าง ๆ พยายามส่งเสริมและสนับสนุน เพราะการซื้อขายคาร์บอนเครดิตยังทำให้เกิดผลกำไรทางธุรกิจ กลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่าอีกชนิดหนึ่ง

ทั้งนี้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ TGO ได้รายงานสถิติโครงการลดก๊าซเรือนกระจก ภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ที่ได้รับการรับรองโครงการและขึ้นทะเบียนโครงการ รวมถึงกิจกรรมชดเชยคาร์บอนที่รับรองโดย TGO สภาพตลาดการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในปัจจุบันมีอัตราการเติบโต (3 ปีย้อนหลัง) เฉลี่ย 57.73% ปริมาณการซื้อขายในปีงบประมาณ 2566 จำนวน 106,368 tCO2eq (tCO2eq คือ หน่วยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเชื้อเพลิงแต่ละประเภทในหน่วยตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) โดยมีราคาเฉลี่ย 37.66 บาทต่อ tCO2eq

Credit: Nuraghies

หลายคนสงสัยว่า แล้ว “ตลาดคาร์บอน” หน้าตาเป็นอย่างไร อยู่ที่ไหน ใครเป็นผู้ซื้อ ใครเป็นผู้ขาย และทำไมต้องมีการซื้อ-ขาย ‘คาร์บอนเครดิต’ กัน

สามารถแบ่ง “ตลาดคาร์บอน” ออกได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

1. ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (Mandatory Carbon Market) คือ ตลาดคาร์บอนที่จัดตั้งขึ้นจากผลบังคับในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามกฎหมาย ซึ่งต้องมีรัฐบาลเข้ามาเกี่ยวข้องในฐานะผู้ออกกฎหมาย และเป็นผู้กำกับดูแลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยผู้เข้าร่วมในตลาดจะต้องมีเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีผลผูกพันตามกฎหมาย (Legally Binding Target) ในทางกลับกัน หากผู้เข้าร่วมในตลาดไม่สามารถปฏิบัติตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้จะถูกลงโทษ ซึ่งทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับการบัญญัติกฎหมาย

2. ตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ (Voluntary Carbon Market) คือ ตลาดที่เกิดจากความร่วมมือของผู้ประกอบการหรือองค์กรโดยความสมัครใจ อาจจะมีการตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง แต่ไม่ได้มีผลผูกพันตามกฎหมาย

ขณะที่การซื้อขายคาร์บอนเครดิตดำเนินการได้ 2 รูปแบบ คือ

1. ซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มตลาดซื้อขาย (Trading Platform) หรือ ศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิตที่ตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการ

2. ซื้อขายในระบบทวิภาค (Over-The-Counter: OTC) เป็นการตกลงกันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายโดยตรง โดยไม่ผ่านตลาดสำหรับการซื้อ-ขาย ‘คาร์บอนเครดิต’ มีหลักการง่าย ๆ คือ หากบริษัทใดลดการปล่อยคาร์บอนได้ต่ำกว่าที่รัฐบาลกำหนด สามารถขายสิทธิ์การปล่อยก๊าซคาร์บอนที่เหลือให้บริษัทอื่น ๆ ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนเกินกว่าที่รัฐบาลกำหนดนั่นเอง นั่นแปลว่าหากบริษัทใดต้องการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นจำนวนมาก ก็จำเป็นต้องซื้อคาร์บอนเครดิตจากบริษัทอื่นได้

ส่วนทางฝั่งบริษัทที่เป็นผู้ขายก็จะนำเงินที่ได้มาพัฒนากระบวนการผลิตสินค้าตัวเองที่เน้นใช้พลังงานสีเขียวหรือพลังงานสะอาดมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งโมเดลนี้จะส่งผลให้บริษัทที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยอยู่แล้วก็จะลดน้อยลงเรื่อย ๆ จนในที่สุดก็ก้าวไปสู่ Net Zero หรือค่าการปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ส่วนบริษัทไหนที่ไม่อยากมีต้นทุนทางธุรกิจเพิ่ม ก็หันมาเคร่งครัดกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ในกระบวนการผลิตและอื่น ๆ ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ ภาพรวมการปล่อยก๊าซคาร์บอนน้อยลงเรื่อย ๆ โมเดลนี้มีการนำไปใช้ในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก เช่น สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย และสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตในภาคบังคับ

Credit: Carbon Markets Club

ส่วนในประเทศไทยเป็นตลาดภาคสมัครใจ เป็นการซื้อขายที่ไม่มีกฎระเบียบข้อบังคับจากทางภาครัฐ โดยความเคลื่อนไหวในเรื่องคาร์บอนเครดิต ก็คือ การก่อตั้ง Carbon Markets Club ขึ้น นำโดย กลุ่มบริษัทบางจากฯ พร้อมด้วยความร่วมมือจากบริษัทยักษ์ใหญ่ของประเทศไทย อาทิ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), เครือเจริญโภคภัณฑ์, เชลล์, บีทีเอส กรุ๊ป, เต็ดตรา แพ้ค, บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส โดยมีผู้ขายคือ บริษัท บีซีพีจี และ กฟผ. และเริ่มมีสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงมีในระดับบุคคลได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอาจถูกกำหนดโดยผู้กำกับดูแลตลาด ขณะที่การตั้งเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย คือ เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 หรือ 2 องศาเซลเซียส และน่าจะเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะนำพาเราไปสู่สังคม Net Zero หรือสังคมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์และทำให้โลกเราน่าอยู่ยิ่งขึ้น