Grid Brief

  • การล็อกดาวน์ที่ต้องกักตัวอยู่ที่บ้านช่วงโรคโควิด-19 ระบาด ทำให้ต้องทำอาหารกินเอง หลายคนเลยติดนิสัยการซื้อของสดตุนไว้ในตู้เย็น
  • หากเปิดตู้เย็นแล้วหาของที่ต้องการไม่เจอ หรือจำไม่ได้ว่ามีอะไรในตู้เย็นบ้าง แปลว่าถึงเวลาที่ต้องจัดระเบียบให้ตู้เย็นแล้ว
  • วิธีการจัดระเบียบตู้เย็นนั้นง่ายมาก แค่จดทุกอย่างที่มีลงในกระดาษแล้วแปะไว้ที่ประตูตู้เย็น จากนั้นแยกประเภทอาหารที่มี เก็บในตำแหน่งที่มีอุณหภูมิเหมาะสมกับอาหารนั้น ถ้าเจออาหารที่ยังไม่หมดอายุและเก็บไว้ก็ไม่กิน ให้ส่งต่อให้คนที่กิน จะได้ช่วยลดอาหารขยะด้วย

หนึ่งในพฤติกรรมใหม่ที่เกิดขึ้นหลังจากการล็อกดาวน์ช่วงโรคโควิด-19 ระบาด ก็คือการกักตุนของกินของใช้ โดยเฉพาะของสด ทำให้ตู้เย็นของหลายบ้านต้องรับงานหนัก

New Normal: ตู้เย็นแน่นไว้ก่อน

วิถีชีวิตใหม่ยุคโควิด-19 กลายเป็นตู้เย็นทุกบ้านเต็มแน่นอยู่ตลอด เพราะการกักตัวอยู่กับบ้าน ทำให้ต้องหันมาทำอาหารกินเอง แทนการออกไปกินอาหารนอกบ้าน และเพื่อให้อุ่นใจว่าจะมีของสดสำหรับเมนูที่สมาชิกในครอบครัวอยากกิน คุณพ่อบ้านแม่บ้านก็เลยขนซื้อวัตถุดิบมาเก็บไว้   

ยืนยันด้วยสถิติจากแพล็ตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์รายใหญ่ของโลกที่บอกว่า ในสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง คนซื้อของกักตุนเพิ่มขึ้น เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีใช้แน่นอน หากเกิดการล็อกดาวน์อีกครั้ง 

ส่วนแพล็ตฟอร์มของ The 1 ของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลของไทยมีสถิติว่า นักช้อปเปลี่ยนมาเน้นซื้อของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้นถึง 67% โดยเฉพาะวัตถุดิบทำอาหาร วัตถุดิบอบขนม และของสด ซึ่งสืบเนื่องมาจากกระแสการทำอาหารกินเองที่ต่อเนื่องมาจากช่วงปิดล็อกดาวน์นั่นเอง


จัดระเบียบตู้เย็นด้วยกระดาษแผ่นเดียว

วิธีการจัดระเบียบตู้เย็นนั้นไม่ยุ่งยากอย่างที่คิด ขอแค่มีกระดาษ 1 แผ่นกับปากกา 1 ด้ามก็พอ ถ้าอุปกรณ์พร้อมแล้ว ก็สูดลมหายใจเข้าลึกๆ แล้วไปเปิดตู้เย็นกันเลย วิธีจัดระเบียบตู้เย็นมีดังนี้ 

1. เอาของทุกอย่างในตู้เย็นออกมาวางแผ่ข้างนอก จะได้เห็นวัตถุดิบที่มี เพราะของที่ถูกดันให้อยู่ในสุดหรือชั้นล่างก็อาจถูกหลงลืมไปได้ วิธีนี้ใช้ได้กับการจัดตู้เสื้อผ้า ชั้นวางหนังสือ ลิ้นชักถุงเท้า หรือแม้แต่กระเป๋าสตางค์

2. แยกประเภทว่าอาหารว่าควรอยู่ช่องแช่ใด เช่น เนื้อสัตว์ให้เก็บในช่องที่เย็นที่สุด ส่วนช่องข้างประตูตู้เย็นคือส่วนที่อุ่นที่สุด ควรเก็บอาหารที่เก็บไว้ได้นาน เช่น อาหารกระป๋องหรือของแห้งต่างๆ

3. เรียงวัตถุดิบทุกอย่างตามแนวตั้งเหมือนในร้านสะดวกซื้อ หรือถ้าพื้นที่น้อย ให้หันด้านข้างออก อย่าวางแนวนอนแล้วซ้อนขึ้นด้านบน เพราะจะไม่รู้ว่าที่วางซ้อนกันอยู่คืออะไร จนกลายเป็นอาหารที่ถูกลืมไปในที่สุด 

4. อาหารที่กินบ่อย ใช้บ่อย ให้วางไว้ชั้นบน ไล่ชั้นลงไป เพื่อให้มองเห็นและหยิบใช้งานได้ง่าย

5. ในแต่ละช่องเก็บอาหาร ให้แยกประเภทด้วย อาทิ หมวดของทอด ได้แก่ ทอดมัน ทงคัตสึ หมวดของเผ็ด ได้แก่ แกงกะหรี่ แกงเขียวหวาน เป็นต้น

6. สิ่งที่ต้องเอาออกจากตู้เย็นและห้ามใช้เด็ดขาดคือถุงหรือกล่องสีดำทึบ เพราะทำให้ไม่รู้หรือจำไม่ได้ว่าใส่อะไรไว้ในนั้น

7. เก็บอาหารในถุงที่เป็นบรรจุภัณฑ์ เมื่อเอาไปปรุงแล้ววัตถุดิบจะลดลง ช่วยให้มีพื้นที่จัดเก็บมากขึ้นและจะได้รู้ด้วยว่าปริมาณวัตถุดิบเหลือเท่าไรแล้ว โดยไล่อากาศในถุงออกแล้วม้วนปากถุงลงมา ใช้หนังยางรัดจะช่วยให้จัดเก็บได้ง่ายขึ้น หรือถ้าตู้เย็นมีพื้นที่เหลือเฟือก็เก็บในกล่องใสก็ได้

8. จากนั้นจดใส่สมุดหรือกระดาษแผ่นใหญ่แล้วแปะบนประตูตู้เย็นให้เห็นชัด ๆ ว่า ในตู้เย็นมีวัตถุดิบอะไรอยู่บ้าง แล้วจะนำไปปรุงเป็นเมนูอะไร วิธีนี้ทำให้ไม่ต้องเปิดตู้เย็นแล้วทำหน้างงๆ หรือต้องก้มไปรื้อค้นตู้เย็นดูวัตถุดิบแล้วค่อยคิดว่าจะทำอะไรกินดี แถมยังช่วยประหยัดค่าไฟได้ด้วยนะ เพราะไม่ต้องเปิดตู้เย็นค้างไว้นานๆ

9. หลังจากจ่ายตลาดแล้ว ให้จดรายการอาหารที่สามารถทำได้จากวัตถุดิบต่างๆ ที่ซื้อมาไว้บนกระดาษแผ่นโตที่ว่านี้ทุกครั้ง

10. เขียนแยกวัตถุดิบในแต่ละส่วนของตู้เย็น เช่น อาหารในช่องแช่แข็งมีเนื้อหมู 1 กิโลกรัม ไก่บด 500 กรัม ช่องแช่เย็นมีกิมจิ โยเกิร์ต บร็อกโคลี เต้าหู้ ฯลฯ จะได้รู้ว่าจะอาหารแบบไหนหมดอายุก่อน จะได้เลือกหยิบอาหารนั้นๆ มาปรุงก่อน

11. รายการวัตถุดิบในตู้เย็นที่จดไว้ที่ประตูตู้เย็น ช่วยให้สมาชิกในบ้านได้เห็นด้วย เผื่อจะปิ๊งไอเดียเสนอเมนูที่อยากกิน ช่วยให้เชฟประจำบ้านไม่ต้องคิดเมนูอยู่เพียงคนเดียว

12. หลังจากจัดระเบียบตู้เย็นครั้งใหญ่แล้ว อาจพบว่ามีวัตถุดิบหลายอย่างที่ลืมไปแล้วว่ามี และหลายอย่างก็ไม่คิดหยิบมากิน ฉะนั้น หากมีวัตถุดิบหรืออาหารที่ยังไม่หมดอายุและมั่นใจว่าไม่มีใครหยิบมากินแน่ๆ ควรส่งต่อให้คนที่ชอบอาหารนั้นๆ โดยเร็วที่สุด จะได้ไม่กลายเป็นขยะอาหารหรือ Food Waste ได้อีกทางหนึ่งด้วย