ช่วงนี้ใครติดซีรีส์ญี่ปุ่นย้อนยุค Shōgun ที่ว่าด้วยกลเกมชิงอำนาจระหว่างไดเมียวผู้ทรงอิทธิพลในยุคเซ็นโกคุ (ยุคแห่งสงครามภายในประเทศของญี่ปุ่น เกิดขึ้นในช่วงปี พ.ศ. 2010 – 2158 ตรงกับรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถจนถึงรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง) โดยมี 3 ผู้ยิ่งใหญ่ที่พยายามรวบรวมญี่ปุ่นเป็นหนึ่งเดียว ได้แก่ โอดะ โนบุนางะ, โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ และ โตกุงาวะ อิเอยาสุ (คนหลังคือโชกุนผู้ยิ่งใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น) ซึ่งในเวลาต่อมาอุบัติเป็น ‘การรบที่ทุ่งเซกิงาฮาระ’ สงครามนองเลือดที่สุดในญี่ปุ่นยุคโบราณ 

ท่ามกลางเนื้อเรื่องอันเข้มข้น เหล่าซามูไรและขุนนางชิงไหวชิงพริบกันแบบญี่ปุ่น ๆ คือเชือดเฉือนกันด้วยการด้นกลอนสดสลับกันไปมา (!!!) ฉากหลังของซีรีส์เรื่องนี้ยังสะท้อนถึงศิลปวัฒนธรรมญี่ปุ่นในยุคเก่าก่อน อาทิ ศิลปะการชงชา การจัดสวนหิน ไปจนถึง ‘ทาเคงาคิ’ (Takegaki) 

ทาเคงาคิ หมายถึง รั้วไม้ไผ่ที่ล้อมรอบหรือกั้นพื้นที่ในบ้านหรือสวน ทำหน้าที่พิทักษ์ชีวิตของผู้อยู่อาศัยและทรัพย์สินของเจ้าบ้าน กล่าวกันว่าการทำรั้วไม้ไผ่หรือทาเคงาคิสืบค้นไปได้ถึงยุคนาระ (พ.ศ.1253-1337) ซึ่งบ้านเรือนของขุนนางในยุคนั้นล้อมรอบด้วยรั้วไม้ไผ่ 

ครั้นเมื่อมีการพัฒนาพิธีชงชา (ซะโด – sadō) จนเกิดเป็นวัฒนธรรมแห่งชาแพร่หลายไปทั่วญี่ปุ่นจากความพยายามอันสัมฤทธิผลของ ‘เซนโนะริคิว’ ผู้ริเริ่มพิธีชงชาสำหรับชนชั้นสูงในยุคอาซูจิ–โมโมยามะ (พ.ศ.2116-2139 ช่วงที่โทโยโทมิ ฮิเดโยชิก้าวเข้าสู่อำนาจสูงสุดต่อจากโอดะ โนบุนากะ) ซึ่งส่งผลให้เกิดสถาปัตยกรรมแบบสุคิยะ-สุคึริ (Sukiya-zukuri) ที่ใช้วัสดุจากธรรมชาติ โดยเฉพาะไม้ในการออกแบบบนพื้นฐานสุนทรียภาพของห้องสำหรับพิธีชงชา ก่อนจะแพร่ไปสู่รูปแบบการจัดสวนที่สอดคล้องกับสถาปัตยกรรมแบบสุคิยะ และที่สุดแล้วได้พัฒนาจนกลายมาเป็น ‘ทาเคงาคิ’ หรือรั้วไม้ไผ่   

ทาเคงาคิ คือ รั้ว (คาคิเนะ) ที่สร้างขึ้นจากไม้ไผ่ (ทาเคะ) ซึ่งยังคงใช้ตกแต่งสวนและล้อมรั้วอาคารบ้านเรือนในญี่ปุ่นมากว่าพันปีตราบจนถึงปัจจุบัน โดยมีรูปแบบหลากหลายถึง 20 แบบ เช่น 

Credit: www.youtube.com/watch?v=zU3Q8FGmerA

รั้วไม้ไผ่แบบเคนนินจิ (Ken’nin-ji-gaki: 建仁寺垣)

เป็นรูปแบบที่พบเห็นได้บ่อยที่สุด จึงเปรียบเสมือนตัวแทนรั้วไม้ไผ่แบบญี่ปุ่นก็ว่าได้ โดยได้ชื่อมาจากรูปแบบรั้วไม้ไผ่ที่สร้างขึ้นล้อมวัดเคนนินจิที่เมืองเกียวโต มีวิธีการทำอันเรียบง่ายโดยตัดลำออกเป็น 4 ท่อน แล้วเรียงไผ่ซีกตามแนวตั้งชิดกันไปเรื่อยตลอดแนวรั้ว แล้วตัดลำไม้ไผ่ออกเป็น 2 ท่อนมากั้นตามแนวนอน ก่อนจะใช้เชือกป่านสีดำผูกเงื่อนตามข้อไม้ไผ่อีกที

รั้วไม้ไผ่แบบเรียวอันจิงาคิ (Ryōan-ji-gaki: 竜安寺垣)

รั้วไม้ไผ่ทรงเตี้ยที่ใช้กั้นพื้นที่ภายในสวน เป็นรูปแบบรั้วที่สร้างขึ้นเป็นต้นแบบแห่งแรกที่สวนหินของวัดเรียวอันจิในเมืองเกียวโต ซึ่งสวนหินของวัดนี้โด่งดังมากจนชื่อของสวนกลายเป็นสัญลักษณ์แทนสวนหินแบบญี่ปุ่นไปทั่วทั้งโลก โดยใช้ไม้ไผ่ทั้งลำมาวางขัดกันเป็นทรงเพชร เกิดเป็นช่องว่างให้ชมวิวสวนได้แบบโปร่งตา แต่ถ้าขัดไม้ไผ่เป็นช่องตารางสี่เหลี่ยมธรรมดาจะเรียกว่า ‘โยตสึเมะ’ (Yotsume)

Credit: www.youtube.com/watch?v=s9o_IyonZH0
Credit: www.youtube.com/watch?app=desktop&v=fJ72dQV4rLs

รั้วไม้ไผ่แบบทาเคะเอดะ โฮงาคิ (Take’eda hogaki: 竹枝穂垣)

รูปแบบรั้วไม้ไผ่ที่ไม่ค่อยพบเห็นมากนัก ด้วยวิธีการทำที่ยุ่งยากสลับซับซ้อน โดยต้องขึ้นไม้เป็นผนังก่อน แล้วจึงใช้กิ่งไผ่แห้งเล็ก ๆ มาวางเรียงแนวตั้งที่ช่องบนสุด ส่วนที่เหลือใช้กิ่งไผ่แห้งวางเรียงในแนวนอน แล้วเลือกก้านไม้ไผ่เหมือนไม้เรียวมาตัดเฉพาะก้านฝั่งขวาออก (กิ่งไผ่จะงอกเป็นรูปแบบตามนี้เท่านั้นคือ ซ้าย-ขวา-ซ้าย-ขวา ไม่งอกมั่ว ๆ) ก่อนจะวางลงบนกิ่งไผ่เล็กฝอยที่เรียงไว้ก่อนแล้วในแนวขวาง ใช้แม็กยิงทีละก้านไปจนเต็ม แม้ขั้นตอนจะยุ่งยากและต้องใช้ความเพียรมากก็ตาม หากเมื่อเสร็จสิ้นแล้ว รั้วไม้ไผ่แบบนี้ได้ชื่อว่าเป็นงานศิลปะมากกว่าจะเป็นงานก่อสร้างทั่วไป

รั้วไม้ไผ่แบบทาเคะเอดะ ริเคียวงาคิ (Take’eda rikyū-gaki: 竹枝離宮垣) 

รั้วไม้ไผ่ที่พบที่ตำหนักคัตสึระ (Katsura Rikyū) ในเมืองเกียวโต ขึ้นชื่อในความงามของสวนสำหรับชมจันทร์ เนื่องจาก ‘คัตสึระ’ คือชื่อต้นไม้วิเศษตามนิทานพื้นบ้านที่เชื่อกันว่าขึ้นอยู่บนดวงจันทร์ รั้วไม้ไผ่แบบนี้จัดวางซีกไผ่ตามแนวนอนและประกบด้วยซีกไผ่ในแนวขวางที่ผูกเงื่อนตามข้อต่าง ๆ 

Credit: www.youtube.com/watch?v=f1YqcI3oLng

รั้วไม้ไผ่แบบโคเอ็ตสึจิงาคิ (Kōetsu-ji-gaki: 光悦寺垣)

รูปแบบรั้วแต่งสวนที่พบในวัดโคเอ็ตสึจิที่เกียวโต ซึ่งได้สร้างรั้วต้นแบบไว้ที่แห่งนี้ จุดเด่นอยู่ที่การขัดซีกไผ่เป็นทรงเพชรโปร่งโดยขอบด้านหนึ่งดัดไม้ไผ่ให้โค้งเป็นพระจันทร์ครึ่งดวง สะท้อนว่าธรรมชาตินั้นมีทั้งความแข็งแกร่งและความยืดหยุ่นในหนึ่งเดียว 

รั้วไม้ไผ่แบบนี้ยังคงมีสำนักช่างไม้ต่าง ๆ ในญี่ปุ่นที่รับทำรั้วแบบนี้อยู่ และยังคงสืบสานกรรมวิธีทำรั้วไม้ด้วยมือแบบดั้งเดิม มีทั้งรั้วยาว  2-3 เมตรที่ใช้ตกแต่งสวนเล็ก ๆ ไปจนถึงรั้วไม้ไผ่ยาวหลายสิบเมตร เช่น Nagaokameichiku ในกรุงเกียวโต ซึ่งมีช่องยูทูบ Japanese Garden TV ตามถ่ายคลิปการสร้างสรรค์รั้วไม้ไผ่ญี่ปุ่นแบบต่าง ๆ ให้คนทั่วโลกได้ชื่นชมศิลปะการรั้วไม้ไผ่แบบญี่ปุ่นโบราณอายุกว่าพันปีไว้ที่ https://www.youtube.com/@JapaneseGardenTV