Grid Brief

  • การเกิดโรคโควิด-19 เป็นจุดเปลี่ยนที่ยิ่งใหญ่ที่ทำให้ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพอย่างจริงจัง ทั้งการออกกำลังกาย และการบริโภคอาหารที่มีสรรพคุณเป็นยา ซึ่งความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้กำลังนำไปสู่เทรนด์สุขภาพที่จะเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2564
  • จากนี้ไป ผู้ป่วยจะหันมาปรึกษาแพทย์ทางออนไลน์มากกว่าการไปโรงพยาบาล เพื่อป้องกันตัวเองจากการติดโรคระบาด

ในปี พ.ศ.2563 ทั้งโลกเผชิญกับวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 อย่างหนัก ส่งผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว การทำงาน ชีวิตความเป็นอยู่ โดยเฉพาะด้านสุขภาพ แต่ในขณะเดียวกัน เจ้าโรคระบาดนี้ก็ทำให้คนหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้นกว่าเดิม จนเกิดการคาดการณ์ถึงเทรนด์สุขภาพที่จะเกิดขึ้นในปี พ.ศ.2564 เอาไว้ดังนี้

เมื่อบ้านกลายเป็นสถานที่ออกกำลังกาย

โน้ตบุ๊กวางบนเก้าอี้เป็นภาพผู้หญิงใส่ชุดออกกำลังกายกำลังทำท่าโยคะท่ามกลางธรรมชาติ

ช่วงเวลาที่ผู้คนจำเป็นต้องล็อกดาวน์ตัวเองอยู่กับบ้านเพื่อควบคุมการระบาดของโรค ฟิตเนสเป็นหนึ่งในสถานที่ที่ต้องปิดให้บริการไปโดยปริยาย บรรดาคนรักสุขภาพทั้งหลายจึงซื้อหาอุปกรณ์ออกกำลังกายสำหรับใช้ที่บ้านแทน  และหันมาออกกำลังกายตามเหล่า Influencer ในแพลตฟอร์มออนไลน์ เช่น YouTube และ Instagram ซึ่งผลสำรวจจาก Statista ระบุว่า เฉพาะเดือนมีนาคม พ.ศ.2563 เพียงเดือนเดียว ชาวอเมริกันวัยกลางคนหันมาออกกำลังออนไลน์ที่บ้านเพิ่มขึ้นถึง 16% และอีก 63% เห็นว่า การออกกำลังกายที่บ้านช่วยให้มีรูปร่างดีขึ้นและเห็นผลเร็วกว่าการเดินทางไปฟิตเนส เพราะสามารถออกกำลังกายได้ทันทีที่ตื่นนอน นี่จึงเป็นเหตุผลที่บ้านจะกลายเป็นสถานที่ออกกำลังกายแทน


อาหารคือยารักษาโรค

ภาพมือถือส้อมที่จิ้มอาหารผักและผลไม้เอาไว้

ในอนาคตหลังจากนี้ รสชาติความอร่อยของอาหารจะไม่สำคัญเท่ากับประโยชน์ของอาหารที่มีต่อร่างกายอีกแล้ว เพราะผู้คนหันมาใส่ใจการบริโภคอาหารที่สร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายมากกว่าแค่คำนึงถึงรสชาติ ซึ่งรวมถึงอาหารที่สะอาด อาหารเสริม วิตามิน และอาหารที่ส่งเสริมแบคทีเรียชนิดดีต่อกระเพาะ รวมทั้งมีการทดลองให้กินยากลุ่ม Nootropics อย่างต่อเนื่อง หรือยาที่มีฤทธิ์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมอง ทั้งด้านการเรียนรู้ ความจำ สติปัญญา หรืออาจเรียกว่าเป็นยาบำรุงสมองก็ว่าได้ ซึ่งปัจจุบันมีการใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก


พบแพทย์ออนไลน์ ปลอดภัยกว่าไปโรงพยาบาล

ผู้คนจะหันมาใช้เทคโนโลยีด้านการแพทย์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการปรึกษาแพทย์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางไปที่โรงพยาบาลเหมือนอย่างแต่ก่อน สำหรับปี พ.ศ.2562 มีคนใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ประมาณ 11% และเพิ่มขึ้นเป็น 46% ในปี พ.ศ.2563 ปัจจุบันการปรึกษาแพทย์ออนไลน์มีบริการผ่านรูปแบบแอปพลิเคชันให้เลือกใช้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย อาทิ แอปพลิเคชัน ‘ใกล้มือหมอ’ จาก สสส. ช่วยให้ผู้ป่วยวินิจฉัยอาการเบื้องต้นของตัวเองได้ว่ามีอาการใกล้เคียงกับโรคอะไร และสามารถพิมพ์ข้อความปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ผ่านการแชท ซึ่งแพทย์จะคอยตอบคำถามให้ฟรี ส่วนโรงพยาบาลสมิติเวช ก็เปิดให้บริการปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับอาการป่วยผ่าน Line Official Account ในชื่อว่า ‘Samitivej’ เมื่อกดเพิ่มการเป็นเพื่อนผ่านระบบ Line แล้ว สามารถใช้บริการได้ฟรี 15 นาทีแรก หลังจากนั้นจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม เป็นต้น

หนุ่มออฟฟิศสะพายเป้ใส่แมสก์ปั่นจักรยาน

เดินและปั่นจักรยานจะกลายเป็นกระแสนิยม

หลังต้องเก็บกดจากการถูกกักตัวมานานหลายเดือน ผู้คนเริ่มออกนอกบ้านและเดินเล่นตามสวนสาธารณะกันมากขึ้น นอกจากกระดาษทิชชูที่เป็นสินค้าขาดแคลนในช่วงการระบาดของโรคแล้ว จักรยานยังเป็นอุปกรณ์กีฬาที่ขายดีในช่วงนี้ด้วย ซึ่ง Michael Barczok นักไวรัสวิทยาชาวเยอรมัน กล่าวไว้ในนิตยสาร Der Spiegel ของเยอรมนีไว้ว่า “การปั่นจักรยานทำให้การสูดลมหายใจลึกขึ้น จึงช่วยทำความสะอาดปอดได้ดีขึ้น และเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในการป้องกันไวรัส” ทำให้มีการคาดการณ์กันว่า คนส่วนใหญ่จะหันมาออกกำลังด้วยการปั่นจักรยาน และ เดินออกกำลังมากขึ้นหลังจากนี้ นอกจากได้สุขภาพที่ดีแล้ว ยังเป็นกิจกรรมออกกำลังกายที่มีการเว้นระยะห่างทางสังคม แต่ได้ใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้นด้วย 


ผู้ชายห้อยอุปกรณ์ที่เรียกว่า Pulse ไว้ที่คอเพื่อช่วยสั่นเตือนหากมีมือหรืออวัยวะใดทั้งของตัวเองและผู้อื่นเข้าใกล้อุปกรณ์นี้
Credit: NASA

อุปกรณ์สวมใส่ที่ช่วยป้องกันไวรัส

เมื่อมีโรคระบาด ทำให้เกิดกระแสการใส่ใจในสุขอนามัย ผู้คนให้ความสำคัญกับการรักษาความสะอาดและมองหาวิธีป้องกันตนเองจากเชื้อโรค ดังนั้น เทคโนโลยีและอุปกรณ์สวมใส่ (Wearable) ที่ช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อจะเป็นเทรนด์ที่มาแรงในอนาคตอันใกล้นี้ หลายเดือนที่ผ่านมา องค์กรนาซาได้คิดค้นและสร้างอุปกรณ์สวมใส่ที่ช่วยป้องกันไม่ให้มีการเข้าใกล้หรือสัมผัสกับใบหน้าได้โดยตรง เพื่อช่วยหยุดการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนา โดยเครื่องมือชนิดนี้มีชื่อว่า ‘Pulse’ เมื่อเจ้าหน้าที่อวกาศสวมใส่ หากมีมือหรืออวัยวะส่วนใดของเจ้าตัวหรือบุคคลอื่นเข้าใกล้ Pulse จะสั่นทันที เพื่อเตือนให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสใบหน้า จึงเป็นที่เชื่อกันว่าเทรนด์ดังกล่าวจะมีผู้คิดค้นเทคโนโลยีอันชาญฉลาดสำหรับการสวมใส่ตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย หรือแปะไว้บนเสื้อผ้า เพื่อคอยเตือนให้เราไม่สัมผัสกับพื้นผิวซึ่งอาจมีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่