เทคนิคการจัดบ้านตามความ ‘สปาร์กจอย’ (Spark Joy) ของผู้เชี่ยวชาญคนดังอย่าง มาริเอะ คอนโดะ นั้น นอกจากจะช่วยสร้างระเบียบและเพิ่มพื้นที่ให้บ้านแล้ว ยังแนะวิธีจัดการกับอุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าทุกชนิดที่จะช่วยให้คุณเซฟเงินเซฟพลังงานได้มากขึ้นอีกด้วย มาดูกันว่าวิธีการสปาร์กจอยนี้จะช่วยลดค่าไฟในบ้านคุณได้อย่างไร

กฎของ KonMari 

วิธีการจัดบ้านแบบมาริเอะ คอนโดะ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ‘วิธีคอนมาริ’ (KonMari) มีรากฐานมาจากศาลเจ้าชินโต ซึ่งคุณคอนโดะแวะเวียนไปนมัสการบ่อยครั้งตั้งแต่ยังเด็ก ปรัชญาของชินโตนั้นคือการให้ความสำคัญกับสิ่งที่มีค่าทางจิตใจ ไม่ใช่ทางมูลค่าของวัตถุ ซึ่งเมื่อคุณคอนโดะก่อตั้งธุรกิจให้คำปรึกษาการจัดบ้าน เธอนำปรัชญาแบบชินโตมาใช้ ด้วยการเดินเข้าไปในบ้าน นั่งลงและ ‘คารวะ’ บ้าน จากนั้นจึงให้เจ้าของบ้านหยิบของแต่ละชิ้นและถามตนเองว่าของชิ้นนั้น ‘สปาร์กจอย’ หรือทำให้รู้สึกใจฟูหรือไม่ ถ้าคำตอบคือไม่ ก็ให้กล่าวขอบคุณและอำลาของชิ้นนั้นด้วยใจที่เคารพ

หลักการจัดบ้านแบบคอนมาริก็คือ

  1. จัดระเบียบตามประเภทสิ่งของ เช่น หมวดหมู่เครื่องใช้ไฟฟ้า หมวดหมู่เครื่องแต่งกาย ไม่ใช่จัดแยกเป็นห้อง ๆ ไป 
  2. เก็บไว้แต่ของที่สปาร์กจอยเท่านั้น เพราะเมื่อตระหนักได้ว่าสิ่งไหนที่คุณรัก ก็ง่ายขึ้นที่จะกำจัดสิ่งที่ไม่รักออกไปจากชีวิต  

แยกประเภทเครื่องใช้ไฟฟ้า

เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน แยกออกเป็นหมวดหมู่ใหญ่ๆ ได้ 3 ประเภท

  1. เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น พัดลม โทรทัศน์ ตู้เย็น เครื่องซักผ้า เครื่องทำน้ำอุ่น กาต้มน้ำ เครื่องฟอกอากาศ ฯลฯ  
  2. อุปกรณ์ไฟฟ้า เช่น สวิตช์ ปลั๊ก รางปลั๊กไฟ ฟิวส์ คัตเอาต์ มิเตอร์ กล้องวงจรปิด หลอดไฟ ฯลฯ 
  3. อุปกรณ์สื่อสารดิจิทัล เช่น โทรศัพท์มือถือ แล็ปท็อป คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต เราเตอร์อินเทอร์เน็ต ฯลฯ 

Spark Joy กับอุปกรณ์ไฟฟ้า

ปกติแล้วคุณคอนโดะจะให้เจ้าของบ้านหยิบของแต่ละหมวดหมู่มากองรวมกันแล้วค่อยแยกทีเดียว แต่ครั้นจะยกตู้เย็น ลากทีวี แบกคอมพิวเตอร์ ถอดกล้องวงจรปิดมากองในห้องนั่งเล่นก็ใช่ที่ จึงขอปรับวิธีคอนมาริเป็นแบบนี้แทน 

  1. เดินสำรวจบ้านแล้วถามตัวเองว่าของชิ้นนั้น ๆ สปาร์กจอยหรือไม่ งานนี้คุณอาจพบว่ามีแล็ปท็อป โทรศัพท์มือถือและที่ชาร์จแบตเก่าเก็บหลายชิ้น แม้จะตกรุ่นแล้วแต่ยังใช้งานได้ จงตัดใจทิ้งไปซะ เพราะยังมีคนอื่นที่ใช้ประโยชน์จากของชิ้นนั้นได้อยู่ แทนที่จะเก็บซุกไว้ให้อยู่ในบ้านคุณอย่างของที่ถูกทอดทิ้ง ไร้ประโยชน์  
  2. พินิจดูอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าแต่ละชิ้น ของชิ้นไหนที่เก็บไว้ ก็ให้ตรวจตราว่าอยู่ในสภาพดีอยู่หรือเปล่า คุณอาจพบว่าไม่เคยปิดสวิตช์ปลั๊กพ่วงเลย ปล่อยให้ไฟแดงโร่มาทั้งปี ซึ่งเท่ากับเสียค่าไฟไปฟรี ๆ บางจุดของบ้านยังใช้หลอดฟลูออเรสเซนส์อยู่หรือไม่ ถ้าใช่ก็ได้เวลาเปลี่ยนเป็นหลอดแอลอีดีได้แล้ว หรือตู้เย็นที่แทบไม่เคยมีที่ว่างเหลือเลย เพราะคุณเล่นใส่ของกินทุกตารางนิ้ว ทำให้ตู้เย็นทำงานหนักและกินไฟมากขึ้น หรืออาจพบว่ากล้องวงจรปิดหน้าบ้านถูกตัดสายไฟไปแล้วก็ได้ ให้ใช้เวลานี้บำรุงรักษาและซ่อมแซมอุปกรณ์แต่ละชิ้นให้ใช้การได้ดี 
  3. ของชิ้นไหนซ่อมเองได้ให้รีบจัดการ ของชิ้นไหนต้องพึ่งช่างให้ส่งซ่อม หรือขอคิวช่างซ่อมทันที อย่าบอกตัวเองว่า ‘เดี๋ยวก่อนค่อยทำ’ เพราะคุณจะไม่มีวันได้ทำ

ขอบคุณและลาก่อน

ของที่ไม่สปาร์กจอยนั้นยังรวมถึงการมีของสิ่งนั้นจำนวนมากเกินไปหรือของที่อยู่ในสภาพใช้งานไม่ได้ คุณคอนโดะบอกว่าอย่าโยนลงกล่องอย่างไม่ใยดี แต่ให้วางของชิ้นนั้นอย่างเบามือและทะนุถนอมลงในกล่องที่เตรียมไว้ เพื่อนำไปทิ้งหรือส่งต่อให้คนอื่น จากนั้นให้กล่าวขอบคุณที่เคยให้ใช้งานและกล่าวคำลาอย่างผู้มีมารยาท เช่น ‘จะไม่ได้ใช้แล้วนะ ยังไงก็ขอบใจนะ’ เป็นต้น เพราะคุณคอนโดะเชื่อว่า การเก็บของที่ไม่สปาร์กจอยจะทำให้มีพลังงานลบในบ้าน 

พลังงานลบนั้นอาจหมายถึงค่าไฟที่เสียไปอย่างไม่ได้ใช้ประโยชน์ เพราะการละเลยไม่ดูแลอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ก็เป็นได้นะ