นับตั้งแต่ โทมัส เอดิสัน ประดิษฐ์หลอดไฟเมื่อ พ.ศ.2422 มนุษย์เราก็มีชีวิตประจำวันและชีวิตการทำงานที่ผูกติดกับแสงสว่างนับแต่นั้นมา จนหลอดไฟถือเป็นอุปกรณ์สำคัญที่ทุกบ้านจำเป็นต้องมี แต่เคยสังเกตไหมว่า เวลาซื้อหลอดไฟ เรามักบอกคนขายหรือมักอ่านฉลากเพื่อดูว่าหลอดไฟดวงนั้นขนาดกี่วัตต์ ซึ่งหมายความว่า เรากำลังให้ความสำคัญว่าหลอดไฟดวงนั้นจะใช้พลังงานเท่าไหร่ในการทำงาน ทว่า ปัจจุบันเราหันมาให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตมากขึ้น สีของหลอดไฟจึงกลายเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เราพิจารณาเมื่อเลือกซื้อ

แสงไฟกับชีวิต

คนกำลังมองหลอดไฟที่อยู่ในมือขณะเลือกหาหลอดไฟ

เหตุผลที่ต้องคำนึงถึงว่าหลอดไฟดวงนั้นเมื่อเปิดใช้งานแล้วจะให้แสงสีอะไร ก็เพราะสีของแสงส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในด้านต่าง ๆ เช่น 

นาฬิกาชีวภาพ แสงธรรมชาติเป็นตัวกระตุ้นให้เราหลับและตื่น มนุษย์ก่อนยุคเอดิสันประดิษฐ์หลอดไฟ จึงตื่นนอนตอนพระอาทิตย์ขึ้น และหลับไหลยามอาทิตย์อัสดง แต่เมื่อมีแสงสังเคราะห์จากหลอดไฟ มนุษย์สามารถไม่หลับไม่นอนได้ทั้งวันทั้งคืน อาจทำให้มีเวลาในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตได้ยาวนานขึ้น แต่รู้หรือไม่ว่านั่นกำลังทำให้นาฬิกาชีวภาพในร่างกายรวนไปหมด ซึ่งมีผลเป็นลูกโซ่ไปถึงระบบของร่างกาย

ประสิทธิภาพในการทำงาน แสงมีประโยชน์ในแง่ที่ช่วยให้ตาสว่าง ทำงานได้ยาวนานขึ้น ยิ่งเป็นแสงสีฟ้ายิ่งทำให้ตื่น ในห้องทำงานจึงควรติดหลอดไฟแอลอีดี ส่วนหลอดฟลูออเรสเซนส์ควรติดในห้องนอน

ความเจริญอาหาร มีผลการวิจัยพบว่า เมื่อเข้าไปในห้องที่ติดหลอดไฟแสงสีฟ้ากับห้องติดหลอดไฟแสงสีส้มที่ให้แสงสลัว ผู้เข้ารับการทดลองจะรู้สึกหิว 15 นาทีหลังได้รับแสงสีฟ้า และจะอยากอาหารต่อไปอีก 2 ชั่วโมง นี่คือคำอธิบายว่าทำไมหลายคนลุกมาต้มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปกินตอนห้าทุ่ม ฉะนั้น หากต้องอยู่ดึกและไม่อยากอ้วนจากมื้อก่อนนอน แนะนำให้เปิดไฟหรี่แค่มีแสงสลัว ๆ 

การนอนและสุขภาพจิต แสงเป็นเหมือนกาเฟอีนสำหรับดวงตา หากแสงแยงตาจะทำให้นอนไม่หลับ นี่คือสิ่งที่รัฐบาลจีนใช้ทรมาน โจชัว หว่อง นักเคลื่อนไหวทางการเมืองชาวฮ่องกงที่โดนจับกุมตัวไปขังเดี่ยวในห้องที่เปิดไฟ (แสงสีฟ้า) ตลอด 24 ชั่วโมง จนเขาต้องใช้หน้ากากอนามัยหลาย ๆ ชิ้นมาซ้อนกัน เพื่อให้พอจะหลับได้บ้าง นอกจากนี้ นักวิจัยจาก Harvard University ยังพบความเชื่อมโยงระหว่างการนอนหลับกับแสงสีฟ้าจากหลอดไฟว่า มีส่วนทำให้เกิดโรคภัยต่าง ๆ เช่น โรคมะเร็งทรวงอก หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคซึมเศร้า

เด็กผู้หญิงนั่งเอนตัวกอดตุ๊กตากระต่ายหูยาวไว้ในแขนขณะนอนดูบางอย่างอยู่บนเตียง

ค่าสีของแสง

เราอาจคุ้นเคยกับการเลือกซื้อหลอดไฟขนาด 40W หรือ 60W แต่หากเข้าไปในเว็บไซต์ IKEA คุณจะพบกับหลอดไฟที่ระบุตัวเลข 6,500K หรือ 20,000K  ความหมายของค่า K ที่ว่านี้คือ Kelvin เป็นหน่วยวัดอุณหภูมิความร้อนอย่างหนึ่งที่นำมาใช้กำหนดค่าสีที่เกิดจากแสง เมื่ออุณหภูมิของแสงเปลี่ยนไป สีที่เปล่งออกมาก็แปลงไปด้วย

ค่า 1,000K – 2,400K ให้แสงสีอมเหลืองถึงเหลือง 
ค่า 3,000K ให้แสงสีเหลือง (Yellow Sun Light) 
ค่า 3,800K – 6,000K ให้แสงสีขาวนวลอมเหลือง (Sun Light) 
ค่า 7,000K – 8,000K ให้แสงสีขาวนวล (Crystal White) 
ค่า 10,000K ให้แสงสีขาวอมฟ้า (Crystal Blue) 
ค่า 12,000K ให้แสงสีฟ้าอ่อน (Purple Blue)
ค่า 15,000K – 16,000K ให้แสงสีฟ้าเข้ม (Deep Blue) 
ค่า 17,000K – 18,000K ให้แสงสีอมม่วง (Purple Red)
ค่า 20,000K ให้แสงสีชมพู (Pink)

หญิงสาวอ่านหนังสือบนเตียง มีโคมไฟเปิดอยู่ขัางหัวเตียง

สีของแสงที่ใช่

ในช่วงเวลาที่ยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าต้อง Work from Home ไปอีกนานเท่าไร จึงถือเป็นโอกาสดีในการปรับเปลี่ยนหลอดไฟในบ้าน ด้วยการใช้หลอดไฟให้เหมาะกับการใช้งานของห้องนั้น ๆ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น โดยเลือกจากค่า K ที่นิยมใช้กันมาก ได้แก่ 

ค่า 6,500K ซึ่งให้แสงสีขาว เวลาซื้อหลอดไฟมักอธิบายด้วยคำว่าให้แสง Day Light ที่มีความสว่างสูง เห็นทุกอย่างกระจ่างแจ้ง และเนื่องจากแสงออกสีฟ้าหน่อย ๆ จึงเหมาะติดหลอดไฟ 6,500K ในห้องที่มีการทำงาน เช่น ห้องทำงาน ห้องครัว และ มุมอ่านหนังสือ เป็นต้น

ค่า 4,000K ให้สีขาวออกเหลือง ไม่ขาวไม่ส้มเกินไป หรือ Cool White เหมาะติดตั้งตามซอกหลืบมุมลับตาต่าง ๆ เช่น ตามทาง ในสวน ห้องใต้บันได ห้องเก็บของ เป็นต้น 

ค่า 3,000K ให้สีส้มนวลอุ่น หรือ Warm White แสงไม่ค่อยสว่าง แสงโทนนี้พบมากตามรีสอร์ทหรือสปา เพราะให้ความรู้สึกผ่อนคลาย จึงเหมาะติดตั้งในห้องนอน ห้องนั่งเล่น หรือตกแต่งมุมต่าง ๆ ในบ้านให้ดูหรูหราสวยงาม