Grid Brief

  • ลองโควิดคืออาการที่ยังหลงเหลือจากการติดเชื้อโควิด-19 ในระยะยาว โดยจะเกิดขึ้นหลังหายป่วยด้วยโรคโควิด-19 ราว 4 สัปดาห์ และอาการลองโควิดจะยังคงอยู่ประมาณ 6 เดือนหรือ 1 ปี
  • ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับลองโควิด คือ เป็นผู้สูงอายุ เพศหญิงที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี และผู้มีปัญหาด้านสุขภาพอยู่ก่อนแล้ว

ลองโควิด (Long COVID) คืออาการที่หลงเหลือจากการติดเชื้อโควิด-19 ในระยะยาว หรือที่เรียกว่า Post Covid Syndrome ซึ่งเป็นอาการที่สร้างความทุกข์ทรมาน ไม่สบายเนื้อตัว และบั่นทอนกำลังใจของผู้ป่วยได้มากพอ ๆ กับการติดเชื้อโควิด-19 เลยทีเดียว

คนทั่วโลกมีอาการของลองโควิด

ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทยเท่านั้นที่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 จะพัฒนาไปสู่อาการลองโควิด ในสหรัฐอเมริกา พบว่า เกือบ 60% ของจำนวนผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 จะมีอาการลองโควิดเกิดขึ้นตามมาภายหลัง หากไม่ได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพ และอย่างน้อย 44 ล้านคนในสหรัฐฯ ต้องพบกับความทุกข์ทรมานจากอาการป่วยของลองโควิดในระยะยาว  

Dr.Jaclyn Leong หนึ่งในผู้อำนวยการร่วมของ UCI Health แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ระบุว่า “อาการของลองโควิดจะแตกต่างกันไปในแต่ละคน นั่นหมายความว่า เราอาจจะเห็นอาการต่าง ๆ มากมาย ที่ทำให้การวินิจฉัยและการรักษาทำได้ยาก” เขากล่าวเพิ่มว่า “ทุกวันนี้ยังพบผู้ป่วยโรคโควิด-19 ทุกช่วงอายุ ตั้งแต่วัยรุ่น คนหนุ่มสาว และผู้สูงวัย ที่สำคัญ เรามักจะเห็นผู้ป่วยอายุน้อยที่มีสุขภาพดีติดเชื้อโควิด-19 มากขึ้น หรือผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ติดเชื้อแบบเฉียบพลัน แต่อาจมีอาการเพียงเล็กน้อยหรือไม่แสดงอาการเลย แต่ต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการของลองโควิด”

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับลองโควิด คือ เป็นผู้สูงอายุ เพศหญิงที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี และผู้มีปัญหาด้านสุขภาพอยู่ก่อนแล้ว

อาการแบบไหนที่เข้าข่ายเป็นลองโควิด

“ผู้สูงวัย เพศหญิงที่มีอายุน้อยกว่า 50 ปี และผู้มีปัญหาสุขภาพ” เป็นสามปัจจัยที่มีความเชื่อมโยงหรือความเสี่ยงสูงกับการเป็นลองโควิด ทั้งนี้ ข้อมูลของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention หรือ CDC) ระบุว่า อาการลองโควิดจะเกิดขึ้นหลังผู้ป่วยหายจากโรคโควิด-19 แล้วประมาณ 4 สัปดาห์หรืออาจมากกว่านั้น โดยผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการน้อยหรือแทบไม่มีอาการของโควิด-19 เลย ก็สามารถพัฒนาไปเป็นลองโควิดได้ ซึ่งอาจมีอาการยาวนานเป็นเวลา 1 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปีเลยทีเดียว

ด้านงานวิจัยของ meta-analysis 2021 ชี้ให้เห็นถึงอาการของลองโควิดไว้อย่างน่าสนใจว่า 54% ของผู้ที่เป็นโรคโควิด-19 และพัฒนาไปเป็นลองโควิดนั้น จะมีอาการที่พบบ่อยๆ ได้แก่ 62% พบความผิดปกติเกิดขึ้นบริเวณทรวงอก 44% มีความบกพร่องในการทำงานทั่วไป 38% มีอาการเหนื่อยล้าหรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง 32% มีอาการปวดเมื่อยทั่วไป 30% เป็นโรควิตกกังวล 27% พบความผิดปกติในการนอนหลับ และ 24% ขาดสมาธิ 

นอกจากนี้ ยังพบอาการอื่น ๆ ของลองโควิด-19 เช่น มีภาวะสมองล้า (Brain Fog) ปวดศีรษะ มีผื่นขึ้นตามผิวหนังง่าย เป็นไข้ การรับกลิ่นและรสชาติเปลี่ยนไปจากเดิม และท้องเสีย เป็นต้น

ฉีดวัคซีนโควิด-19 ครบ 2 โดส เสี่ยงมีอาการลองโควิดน้อยลง

อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 อย่างน้อย  1 โดสจากวัคซีนทั้งหมด 3 ชนิด ได้แก่ Pfizer-BioNTech, Moderna และ Johnson & Johnson พบว่า มีโอกาสแสดงอาการของลองโควิดน้อยกว่าผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนชนิดดังกล่าว รวมไปถึงในงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร The Lancet : Infectious Diseases เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ระบุด้วยว่า การฉีดวัคซีน 2 โดส ช่วยลดโอกาสการเกิดลองโควิดได้ประมาณครึ่งหนึ่ง หลังจากติดเชื้อโควิด-19 เป็นครั้งแรก Dr.Donald  J.Alcendor รองศาสตราจารย์ด้านพยาธิวิทยา จุลชีววิทยา และภูมิคุ้มกันวิทยา แห่งมหาวิทยาลัยทางการแพทย์ Vanderbilt ยังเตือนถึงความเสี่ยงของโควิด-19 ต่อเด็ก ๆ ด้วยว่า “สำหรับเด็ก ๆ แล้ว ความเจ็บป่วยของโรคโควิด-19 สามารถพัฒนาไปเป็นลองโควิดได้เช่นเดียวกับวัยผู้ใหญ่”