Grid Brief

  • ฟินแลนด์เป็นประเทศที่ขึ้นชื่อว่ามีความสุขที่สุดในโลกเมื่อปี พ.ศ.2563 แต่ในขณะเดียวกัน กลับมีอัตราการฆ่าตัวตายสูงเป็นอันดับ 23 ของโลก
  • การเข้ารับการรักษาด้านสุขภาพจิตต้องใช้เวลารอมาก ทำให้มีการพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ Mental Health Hub เพื่อให้บริการชาวฟินน์ที่อยู่ห่างไกล

ฟินแลนด์ได้รับการจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่มีความสุขมากที่สุดในโลกประจำปี พ.ศ.2563 แต่อีกด้านหนึ่งกลับเป็นประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงเป็นอันดับ 23 ของโลก ความย้อนแย้งนี้ทำให้หลายคนสับสนว่า ทำไมประเทศที่มีอากาศดี สภาพแวดล้อมสวยงาม และ มีอัตราการว่างงานต่ำ จึงมีคนฆ่าตัวตายสูงเสียเหลือเกิน

นับเป็นครั้งที่ 8 แล้วที่ประเทศฟินแลนด์ครองแชมป์ตำแหน่งประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก นำหน้าประเทศต่างๆ ในกลุ่มนอร์ดิกไปอย่างขาดลอย โดยใช้เกณฑ์การวัดผลจากสภาพแวดล้อมทางสังคม เมือง และธรรมชาติที่ส่งผลต่อความสุขของประชากรในประเทศ แต่เมื่อย้อนไปดูตัวเลขในปี พ.ศ.2533 นั้น กลับพบว่า สถิติการฆ่าตัวตายในฟินแลนด์สูงเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากฮังการี แม้ตัวเลขจำนวนผู้ที่ฆ่าตัวตายในฟินแลนด์ในปัจจุบันจะลดลงไปแต่ก็ยังจัดอยู่ในระดับสูงจนน่าตกใจอยู่ดี

เรื่องลับๆ เล็กๆ ของฟินแลนด์ที่ไม่มีใครรู้

ในอดีตฟินแลนด์เป็นประเทศเล็ก ๆ ที่มีประชากรเพียง 5.5 ล้านคน ว่ากันว่า ผู้คนต่างมีภาวะเศร้าหมองอันเนื่องมาจากการต้องอยู่กับฤดูหนาวอันแสนยาวนาน ท้องฟ้ามืดมน ไร้แสงแดด ทำให้ผู้คนรู้สึกหดหู่และไม่สดชื่น จึงไม่ค่อยได้เห็นรอยยิ้มหรืออารมณ์เชิงบวกของชาวฟินแลนด์กันสักเท่าไหร่นัก ซึ่งก็ไม่ต่างไปจากประเทศเพื่อนบ้านในแถบสแกนดิเนเวียด้วยกันในเวลานั้น 

ต่อมามีโครงการรณรงค์ป้องกันการฆ่าตัวตายทั่วประเทศ แม้ว่าอัตราการฆ่าตัวตายของชาวฟินแลนด์ในทุกกลุ่มอายุจะลดลงกว่าครึ่งหลังจากปี พ.ศ.2533 รวมทั้งผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้าก็ได้รับการรักษาให้หายดี แต่อัตราการฆ่าตัวตายของฟินแลนด์ในปัจจุบันก็ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยในยุโรป โดยการเสียชีวิต 1 ใน 3 ของกลุ่มคนอายุ 15-24 ปี มาจากการฆ่าตัวตาย สอดคล้องกับรายงานของ The Shadow of Happiness ปี พ.ศ.2561  พบว่า ในกลุ่มคนอายุระหว่าง 18-23 ปี จะมีหญิงสาว 16% และชายหนุ่ม 11%  ที่นิยามตัวเองว่า “ต่อสู้ดิ้นรน” หรือรู้สึก “เป็นทุกข์” ในชีวิต ซึ่งเป็นความกดดันที่อาจทำให้คิดฆ่าตัวตายได้

สภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่ถูกจ้างงานแบบชั่วคราว รวมถึงการนิยมใช้สารเสพติดและดื่มแอลกอฮอล์ อาจเป็นส่วนที่ทำให้ชาวฟินแลนด์มีภาวะซึมเศร้า

สารเสพติด และ พฤติกรรมชอบดื่ม

ข้อมูลจากรายงานของศูนย์สวัสดิการและสังคมแห่งนอร์ดิก ปี พ.ศ.2560 พบความเชื่อมโยงระหว่างการใช้สารเสพติดกับความเจ็บป่วย โดยเฉพาะในกลุ่มอายุ 25-34 ปีที่มีการใช้ยาเพิ่มขึ้น และแม้ว่าอัตราการว่างงานทั่วประเทศจะอยู่ในระดับต่ำ แต่ในกลุ่มวัยรุ่นอายุ 15-19 ปี กลับมีอัตราการว่างงานสูง อยู่ที่ 12.5% ณ สิ้นปี พ.ศ.2561 ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขสูงที่สุดเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้านในกลุ่มนอร์ดิก และยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของสหภาพยุโรปซึ่งอยู่ที่ 11.5% อีกด้วย

นอกจากนี้ ภาพลักษณ์ที่สวยงามในฐานะประเทศที่มีความสุขมากที่สุดในโลก ยังกดดันให้คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าไม่มีสิทธิ์ที่จะเป็นโรคซึมเศร้า ปัจจุบันในสังคมฟินแลนด์กำลังเผชิญกับความไม่เท่าเทียมที่เพิ่มมากขึ้น รวมทั้งเทรนด์ของโลกดิจิทัลที่มาแรง ชวนให้ผู้คนจิตใจหดหู่และเศร้าหมอง เนื่องจากอดเปรียบเทียบความเป็นอยู่ของตัวเองกับชีวิตผู้อื่นที่เหนือกว่าไม่ได้ ตลอดจนระบบเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไปเป็นการจ้างงานแบบครั้งคราว (Gig Economy) มากกว่าการทำงานที่มั่นคงเพื่อรอวันเกษียณอายุ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแต่ส่งผลต่อสุขภาพจิตของหนุ่มสาวชาวฟินแลนด์แทบทั้งสิ้น


Mental Health Hub ตัวช่วยดูแลสุขภาพใจ

อย่างไรก็ตาม การเกิดภาวะซึมเศร้าอาจเกี่ยวข้องกับสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคนี้มากกว่า เช่น พันธุกรรม ลักษณะนิสัยส่วนตัวที่เป็นคนอ่อนไหวง่าย มองโลกในแง่ลบ คิดมาก รวมถึงการเลี้ยงดู และการมีสารเคมีในสมองไม่สมดุลกัน มากกว่าสภาพอากาศ และ ไม่ว่าคนชาติไหนก็มีโอกาสที่จะเป็นโรคซึมเศร้าได้เหมือนกัน ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า 5 อันดับประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงสุดในปี พ.ศ.2561 คือ ลิทัวเนีย รัสเซีย กายอานา เกาหลีใต้ และเบลารุส ส่วนฟินแลนด์อยู่ในอันดับที่ 23 นำหน้าอเมริกา สวีเดน ไอซ์แลนด์ รวมทั้งประเทศไทยอย่างไม่น่าเชื่อ

แม้อัตราการฆ่าตัวตายจะถือว่าอยู่ในระดับสูง แต่ฟินแลนด์เองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเรื่องนี้ ล่าสุดมีการคิดค้นตัวช่วยที่ชื่อว่า Mental Health Hub โดย ศ.Grigori Joffe และ ดร.Matti Holi แห่งโรงพยาบาลกลางของมหาวิทยาลัยเฮลซิงกิ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ให้บริการด้านสุขภาพจิตสำหรับผู้ป่วยที่อยู่ห่างไกล โดยเฉพาะในชนบท เจ้าเครื่องมือดังกล่าวจะให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่เข้ารับการรักษา การช่วยเหลือตัวเองในเบื้องต้น และการบำบัดด้วยวิดีโอสำหรับผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าเล็กน้อยถึงปานกลาง ตลอดจนมีสายด่วนระดับชาติที่ให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิตอย่างจริงจัง ซึ่งดำเนินการโดยองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร Mental Health Finland (Mieli)

ฉะนั้นบางครั้งภาพลักษณ์ที่ดูสวยงาม ก็อาจมีความหม่นหมองซ่อนอยู่ แม้แต่ประเทศที่ได้ชื่อว่ามีความสุขที่สุดในโลกก็ตาม