30 ปีก่อน Prada ได้นำ ‘ไนลอน’ วัสดุที่มีน้ำหนักเบาและกันน้ำได้มาทำเป็นกระเป๋า สวนทางกับแบรนด์ชั้นนำอื่นที่แสวงหาหนังสัตว์เกรดพรีเมียมมาทำกระเป๋า ทว่าด้วยความแตกต่างนี้เองที่ทำให้ Prada สร้างกระแสนิยม จนกลายเป็นสินค้าที่ทำให้ Prada เป็นแบรนด์เนมแถวหน้าระดับโลกจนถึงปัจจุบัน

เมื่อ พ.ศ.2563 Prada มียอดขาย 2,390 ล้านยูโร หนึ่งในสินค้าขายดียังคงเป็นกระเป๋าไนลอนที่ปัจจุบันต่อยอดไปเป็นรองเท้าสนีกเกอร์ รองเท้าบู๊ต หมวก เข็มขัด แจ็กเก็ต กางเกงและเสื้อสูท และเมื่อปลาย พ.ศ.2564 สินค้าไนลอนทั้งหมดของ Prada ใช้ชื่อโครงการว่า Re-Nylon เป็นความร่วมมือของ Prada กับ Aquafil บริษัทสัญชาติอิตาเลียนที่เชี่ยวชาญด้านเส้นใยสังเคราะห์มากว่าครึ่งศตวรรษ

Credit: Prada
Credit: Prada

Aquafil เก็บรวบรวมขยะที่มีส่วนผสมของเส้นใยไนลอนต่าง ๆ เช่น แห อวน พรม วัสดุเหลือใช้ในอุตสาหกรรมต่าง ๆ พลาสติกตามกองขยะ และพลาสติกจากมหาสมุทรทั่วโลก จากนั้นส่งไปรีไซเคิลที่โรงงานในเมืองลูบลิยานา ประเทศสโลเวเนีย และโรงงานที่เมืองอาร์โกในอิตาลี ผลลัพธ์ที่ได้เป็นไนลอน ECONYL® ซึ่งทุก ๆ 10,000 ตันของเส้นใยชนิดนี้ จะช่วยลดการใช้น้ำมันปิโตรเลียมได้ถึง 70,000 ตัน ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 65,100 ตัน และช่วยลดผลกระทบจากกระบวนการผลิตไนลอนที่ส่งผลให้เกิดโลกร้อนได้สูงถึง 90 เปอร์เซ็นต์ 

นอกจากนี้ ในแฟชั่นโชว์แบบดิจิทัลของคอลเลกชันฤดูใบไม้ร่วง-ฤดูหนาว 2021 ยังได้ Rem Koolhaas สถาปนิกชาวดัตช์ หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท Office for Metropolitan Architecture (OMA) ซึ่งออกแบบอาคารที่ยกระดับสถาปัตยกรรมในศตวรรษที่ 21 มากมาย อาทิ CCTV Center ในปักกิ่ง Garage Museum of Contemporary Art ที่มอสโก และ Seoul National Museum of Art ที่กรุงโซล รวมทั้งเป็นสถาปนิกที่ได้รางวัล Pritzker Architecture Prize ซึ่งเทียบเท่ากับรางวัลโนเบลในแวดวงสถาปัตยกรรมมาออกแบบฉากให้

Credit: Prada

ฉากในแฟชั่นโชว์ซีซั่นดังกล่าวแบ่งเป็นห้องต่าง ๆ โดยใช้วัสดุเพียง 2 ชนิดคือขนสัตว์เทียมกับหินอ่อนเท่านั้น แต่กลับสร้างบรรยากาศหรูหราสไตล์ Prada ได้อย่างดีเยี่ยม เมื่อแฟชั่นโชว์จบลง วัสดุประกอบฉากทั้งหมดจะถูกนำเข้ากระบวนการนำสิ่งเหลือใช้มาชุบชีวิตใหม่ (Upcycling) เพื่อใช้เป็นฐานเพื่อจัดแสดงสินค้าภายในร้านและร้านป๊อปอัพต่าง ๆ ทั่วโลก 

ท้ายที่สุดแล้ววัสดุเหล่านี้จะถูกบริจาคให้แก่ Meta โครงการด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ซึ่งนำเสนอทางออกที่ยั่งยืนในการกำจัดขยะจากการจัดงานอีเวนต์ชั่วคราว ผ่านการจัดเก็บและกู้คืนวัสดุต่าง ๆ เพื่อนำไปจำหน่ายและให้ยืมต่อไป อีกทั้ง Meta ยังได้ทำงานร่วมกับ La Réserve des Arts สมาคมที่ให้บริการด้านการจัดเก็บและกู้คืนวัตถุดิบ ของเหลือจากการตกแต่งในงานแฟชั่นโชว์ เพื่อส่งต่อวัตถุดิบเหล่านี้ให้ช่างฝีมือและนักเรียนนักศึกษาด้านวัฒนธรรมอีกด้วย