Grid Brief

  • เมื่อคนทั่วโลกหันมาใช้รถอีวีกันมากขึ้น ย่อมหมายถึงแบตเตอรี่รถอีวีที่หมดอายุจะมีจำนวนมากขึ้นตามไปด้วย ธุรกิจรีไซเคิลแบตเตอรี่รถอีวีจึงเป็นตลาดใหม่ที่มีมูลค่าราว ๆ 56,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2574
  • แบตเตอรี่ลิเทียม-อิออนที่นิยมใช้มากที่สุดในรถอีวีนำกลับไปใช้งานใหม่ได้ถึง 70-95% โดยรีไซเคิลได้ 3 วิธี คือ ใช้ความร้อนหลอมละลาย ใช้สารเคมีชะละลาย และซ่อมแซมวัสดุภายในแบตเตอรี่โดยตรง ซึ่งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 5-50%

ตลาดรถอีวีในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่แบตเตอรี่ลิเทียม-อิออน ซึ่งเป็นแบตเตอรี่ที่ใช้มากที่สุดในรถอีวีจะหมดอายุการใช้งาน และกลายเป็นขยะ ทว่า ก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ที่มีเงินหมุนเวียนมหาศาล และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์  

ค่ายรถรับผิดชอบรีไซเคิลแบตเตอรี่รถอีวี 

ลิเทียมเป็นธาตุหลักของแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน (Li-ion Battery) ที่นิยมติดตั้งในรถอีวี และมีอายุการใช้งานเฉลี่ย 8-10 ปี หรือชาร์จไปแล้ว 1,250 ครั้ง ผู้ผลิตรถมักแนะนำให้เปลี่ยนแบตเตอรี่เมื่อประสิทธิภาพในการกักเก็บพลังงานเหลือ 70% เ เพราะแรงไม่พอจะขับเคลื่อนยานยนต์ได้แล้ว แต่ยังมีชีวิตที่สองใช้งานด้านอื่นได้อีก เช่น ใช้เป็นแบตเตอรี่เก็บพลังงานในครัวเรือน บริษัท โรงงาน หรือโครงข่ายพลังงานสาธารณะ  

สหภาพยุโรปมองเห็นการณ์ไกลว่า เมื่อคนหันมาใช้รถอีวีกันมากขึ้น แล้วแบตเตอรี่ที่ใช้งานไม่ได้แล้วจะจัดการอย่างไร ใครจะคนรับผิดชอบ ตั้งแต่ปี 2554 จึงออกกฎหมายสิ่งแวดล้อมมีผลบังคับให้ผู้ผลิตรถอีวีต้องรับหน้าที่จัดการรีไซเคิลแบตเตอรี่ที่หมดอายุการใช้งาน โดยค่ายรถอาจจัดการเอง หรือให้บริษัทเข้ามาดำเนินการแทน แต่ค่ายรถต้องออกค่าใช้จ่ายในการเก็บแบตเตอรี่ที่หมดอายุเอง และมีกระบวนการรีไซเคิลที่นำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ไม่น้อยกว่า 50%

แยกชิ้นส่วนแบตเตอรี่ 

แบตเตอรี่ลิเทียม-อิออนที่หมดสภาพแล้วจะถูกส่งไปแยกแร่ธาตุ โลหะ และพลาสติกว่าส่วนใดรีไซเคิลได้หรือไม่ได้ ซึ่งมีองค์ประกอบที่นำกลับไปใช้งานใหม่ได้ถึง 70-95% โดยการรีไซเคิลแบตเตอรี่ทำได้ 3 วิธี ได้แก่

1. โลหะวิทยาความร้อนสูง (Pyrometallurgy) ใช้ความร้อนในการหลอมละลายวัสดุภายในแบตเตอรี่ วิธีการนี้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 4.8% เมื่อเทียบกับการผลิตแบตเตอรี่ใหม่  

2. โลหะวิทยาการละลาย (Hydrometallurgy) ใช้สารเคมีละลายวัสดุภายในแบตเตอรี่ วิธีการนี้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 33.47% เมื่อเทียบกับการผลิตแบตเตอรี่ใหม่  

3. ไดเร็กรีไซเคิล (Direct Recycle) ซ่อมแซมวัสดุภายในแบตเตอรี่โดยตรง วิธีการนี้ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 51.8% เมื่อเทียบกับการผลิตแบตเตอรี่ใหม่ แต่มักใช้ในการทดลองเล็ก ๆ เท่านั้น 

หลังจากผ่านกระบวนการต่าง ๆ เหล่านี้แล้วจะได้ผงที่ประกอบไปด้วยโลหะต่าง ๆ โดยมากแล้วแบตเตอรี่ลิเทียม-อิออนรถอีวีอาจมีส่วนผสมของโลหะ 200 กิโลกรัม แร่นิกเกิล 30 กิโลกรัม และโคบอลต์ 8 กิโลกรัม จากนั้นจึงทำให้เป็นแท่งเพื่อนำกลับไปใช้งานใหม่ 


รีไซเคิลแบตเตอรี่รถอีวี : ธุรกิจใหม่ที่เติบโตเร็ว 

เมื่อปีที่แล้วสหภาพยุโรปออกกฎหมายใหม่ที่ตั้งเป้าหมายในการรีไซเคิลขยะแบตเตอรี่ โดยแบตเตอรี่รถอีวีต้องรีไซเคิลโคบอลต์ได้ 16 เปอร์เซ็นต์ ลิเทียม 6 เปอร์เซ็นต์ และนิกเกิล 6 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งต้องแสดงฉลากระบุคาร์บอนฟุตปรินต์บนแบตเตอรี่รถอีวีทุกลูกด้วย 

แหล่งโรงงานรีไซเคิลแบตเตอรี่ลิเทียม-อิออนชั้นนำของโลกอยู่ในเยอรมนี สหรัฐอเมริกา และจีน ในปี 2566 ตลาดรีไซเคิลแบตเตอรี่รถอีวีมีมูลค่า 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดการณ์ว่าจะเติบโตขึ้น 25.8 เปอร์เซ็นต์ จนมีมูลค่าถึง 56,300 ล้านเหรียญในปี 2574