‘Wonder Waste’ ไปทำความรู้จักแพลตฟอร์มสุดคูลผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ชวนตระหนักรู้การจัดการขยะอย่างถูกวิธี เพิ่มทางเลือกด้วยการนำขยะไปผลิตกระแสไฟฟ้า

ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า ปี 2565 ไทยมีขยะมูลฝอยเกิดขึ้นถึง 25.70 ล้านตัน หรือ 70,411 ตัน/วัน กระจายไปตามภูมิภาคต่าง ๆ ดังนั้น จึงเกิดโปรเจกต์นี้ขึ้น เป็นกระบวนการ ‘Design Thinking’ หรือคิดเชิงออกแบบ ใช้เพื่อการระดมความคิดเห็นและแก้ปัญหาด้วยกระบวนการสร้างสรรค์ร่วมกับประชาชนในพื้นที่ ในการพัฒนาสู่แนวคิดในการคัดแยกขยะ ซึ่งนำร่อง 4 พื้นที่ ย่านเจริญกรุง ย่านหนองแขม กรุงเทพฯ ย่านศรีจันทร์ จังหวัดขอนแก่น และย่านเมืองเก่า จังหวัดภูเก็ต โดยกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA โดยใช้เครื่องมือ แพลตฟอร์ม 4 ตัว ได้แก่

  1. PowerPick แพลตฟอร์มจัดการบรรจุภัณฑ์จากฟู้ดเดลิเวอรี สู่เชื้อเพลิง RDF-3 พร้อมจุดให้บริการแบบ Pop-Up ในชุมชน แพลตฟอร์มนี้เข้ามาช่วยบริหารคัดแยกบรรจุภัณฑ์ อาหาร และเครื่องดื่มประเภทพลาสติกเบา กระดาษในรูปแบบป๊อปอัป พร้อมเคาน์เตอร์เซอร์วิส และตู้อัตโนมัติที่ให้บริการรับถุงแยกขยะรีไซเคิล ก่อนจะนำขยะไปยังแล็บ เพื่อ บด ล้าง อบ และแพ็กขยะขนาดกะทัดรัดสู่การแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงขยะ ( RDF) ทำได้ในระดับครัวเรือนและชุมชน นอกจากนี้ ยังมีจักรยานไฟฟ้าบรรทุกให้บริการรับแยกขยะแบบเคลื่อนที่ตามนัดผ่านแอปพลิเคชัน
  2. Care4 ระบบการจัดการขยะ “แยก-รับ-พัก-ส่ง” เป็นแพลตฟอร์มระบบเก็บขยะเพื่อส่งเข้าโรงเผาขยะด้วยเทคนิคลดความชื้นขยะ นำความรู้ด้านวิศวกรรมและการออกแบบมาใช้ร่วมกับระบบคัดแยกให้มีความซับซ้อนน้อยลง ในการแยกขยะจะมีถุงและถังขยะที่ออกแบบให้เหมาะสม วางไว้ในแต่ละจุดของบ้าน โดยมีช่องใส่ขยะ 3 ประเภท คือขยะสร้างปุ๋ย ขยะสร้างพลังงาน และขยะสร้างเศรษฐกิจ ก่อนส่งเข้าสู่กระบวนการบริหารจัดการ ส่วนขยะเศษอาหารที่บรรจุมาในถุงแบบย่อยสลายได้จะถูกหมักและใช้กระบวนการบ่มให้เป็นปุ๋ยได้ด้วย
  3. บุญบุญ หุ่นยนต์แมวเก็บขยะ ที่สร้างแรงจูงใจและการมีส่วนร่วมของชุมชนในการคัดแยกขยะ พัฒนาโดย FabCafe Bangkok มาพร้อมแนวคิดหุ่นยนต์แมวเก็บขยะ ผู้ช่วยคนสำคัญที่พร้อมลดขยะในเมืองขอนแก่นไปด้วยกัน หุ่นยนต์แมวเก็บขยะใช้เทคโนโลยี Delivery Robot นำถังขยะมาหาคน เพื่อให้ถังขยะมีบทบาทเป็นสื่อกลางให้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับการแยกขยะ สร้างแรงจูงใจ และสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในการคัดแยกขยะ โดยมีสถานีคอยรับขยะจากหุ่นยนต์ทั้งภายในและภายนอก เพื่อให้มั่นใจว่าขยะที่รับจากการคัดแยกจะถูกนำไปจัดการ
  4. BABAWaste เป็นแพลตฟอร์มการจัดการขยะสำหรับธุรกิจคาเฟ่และบ้านเรือน โดยใช้ถุงสีแยกขยะตามประเภทเพื่อเป็นการสื่อสารระหว่าง (ครัวเรือน ร้านค้า) – กลางทาง (คนเก็บขยะ) – ปลายทาง (ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยรวม จังหวัดภูเก็ต) BABABIN ประกอบด้วย ถังขยะที่มีการแยกส่วนบรรจุภัณฑ์และเศษอาหารออกจากกัน และถังขยะแยกประเภท มีฟิลเตอร์กรองและแยกของเหลวตกค้างเพื่อลดความชื้น และถังบริเวณด้านนอก สำหรับนักท่องเที่ยว BABABAG ถุงขยะสีที่ช่วยแยกประเภทขยะ ขยะแห้ง ขยะเศษอาหาร ขยะรีไซเคิล ขยะอันตราย และ BABACONE ชุดแปรรูปเศษอาหารเพื่อนำไปทำเป็นปุ๋ยหมัก โดยนำไปวางไว้ในกระถางต้นไม้
  5. ทว่า โครงการ Wonder Waste คือต้นแบบของการส่งเสริมให้เกิดแนวคิดสร้างสรรค์รูปแบบหรือนวัตกรรมการคัดแยกขยะใหม่ ๆ ที่ชุมชนและผู้ประกอบการในพื้นที่มีส่วนร่วม และหวังให้เป็นต้นแบบในการนำไปสู่การใช้งานได้จริง และเพิ่มทางเลือกในการผลิตเชื้อเพลิงในอนาคต

รูปโดย Freepik