…“โดดอีกทีสิ เมื่อกี้ถ่ายไม่ทัน”…

บ่อยครั้งที่เราต้องเอ่ยประโยคนี้ไป เมื่อเพื่อนวานให้ถ่ายรูปตอนกระโดดให้ แต่เราถ่ายจังหวะที่เพื่อนลอยสวยอยู่ในอากาศได้ไม่ทัน เพราะ กว่าจะกดชัตเตอร์แล้วกล้องทำการบันทึกภาพ เพื่อนก็กลับลงมายืนอยู่บนพื้นพร้อมกับแววตาที่เปี่ยมไปด้วยความหวังว่าจะได้ภาพสวยๆ เรียบร้อยแล้ว

หนุ่มสาวนับสิบคนในอิริยาบถต่าง ๆ ขณะกระโดดเหนือพื้นทรายริมทะเล

วันนี้จึงชวนมาทำความรู้จักและทำความเข้าใจกันสักหน่อยครับ ว่าการพลาดจังหวะสำคัญแบบนี้เป็นเพราะการหน่วงของเวลาที่เกิดขึ้นจากการทำงานภายในตัวกล้อง เรียกว่า “Shutter Lag” (ออกเสียงว่า “ชัต-เตอร์-แล็ก”) ซึ่งก็คือ ช่วงระยะเวลาระหว่างที่เรากดปุ่มชัตเตอร์ไปจนถึงจุดที่กล้องทำการบันทึกภาพลงไปในหน่วยบันทึกความจำ (Memory Card) ซึ่งการหน่วงของเวลาดังกล่าวจะเริ่มจากจุดของเวลาที่เรากดปุ่มชัตเตอร์ (ไม่ว่าจะเป็นปุ่มชัตเตอร์ของกล้อง SLR ทั้งฟิล์มและดิจิทัล กล้องมิเรอร์เลส กล้องคอมแพ็กต์ หรือแม้กระทั่งกล้องมือถือ) ไปจนถึงจุดของเวลาที่กล้องทำการบันทึกภาพหรือชัตเตอร์เริ่มทำงานจนเสร็จ หน่วยที่ใช้วัดจะเป็น “มิลลิวินาที” (อังกฤษ: millisecond ตัวย่อ ms มีค่าเท่ากับหนึ่งในพันของวินาที)  ซึ่งกล้องแต่ละรุ่นแต่ละแบบก็จะมีหลายปัจจัยที่ทำให้ค่า Shutter Lag มากน้อยต่างกัน 

“Shutter lag is the time between pressing the shutter button and the recording of the image. This delay or lag is the time it takes the camera to perform the different functions of taking a picture: focusing, calculating exposure, releasing the shutter, and recording the image to the memory card.” (ที่มา: Sony Electronics Inc.)

กล้อง Canon EOS R6
ในกรอบสีน้ำเงินคือหน้าตาของ “ชัตเตอร์” ของกล้อง Canon EOS R6
ซึ่งหลังม่านชัตเตอร์ก็จะเป็นเซ็นเซอร์รับภาพนั่นเอง
ภาพ: canon.com

สำหรับกล้อง D-SLR กระบวนการทำงานของกล้องที่ทำให้เกิด Shutter Lag จะประกอบไปด้วยการโฟกัสภาพให้ชัด การวัดแสงและการคำนวณค่าของรูรับแสง ความเร็วชัตเตอร์ ความไวแสง การยกตัวของกระจกสะท้อนภาพ การหรี่รูรับแสงของเลนส์ และท้ายสุดคือการทำงานของชุดชัตเตอร์ จากนั้นจะเป็นการทำงานของเซ็นเซอร์รับภาพ ที่จะทำการแปลงค่าแสงที่ผ่านเข้าไปถึงตัวมันให้กลายเป็นสัญญาณดิจิทัล และประกอบร่างกันเป็นไฟล์ภาพ ถ้าเป็นกรณีของกล้องมิเรอร์เลส ก็จะตัดการทำงานในส่วนของกระจกสะท้อนภาพออกไป 

กล้อง Canon EOS-1N RS
กล้อง Canon EOS-1N RS น่าจะเป็นกล้อง SLR ที่มี Shutter Lag ที่น้อยที่สุดในโลก
ภาพ: canon.com

กล้องระดับกลางและระดับมืออาชีพส่วนใหญ่จะมี Shutter Lag ที่น้อยมาก ไม่ว่าจะเป็นกล้องฟิล์มหรือกล้องดิจิทัล ถ้าย้อนไปยุคกล้องฟิล์มยังรุ่งเรือง กล้อง Canon EOS-1N RS ซึ่งเป็นกล้องฟิล์มรุ่นท็อปของแคนนอนเมื่อเกือบสามสิบปีก่อน น่าจะมีค่า Shutter Lag ที่น้อยที่สุดอยู่ที่ 6 มิลลิวินาที เทียบกับกล้อง Canon EOS 1Dx Mark III ซึ่งเป็นกล้องดิจิทัล SLR รุ่นท็อปของแคนนอน ณ ปัจจุบัน มีค่า Shutter Lag อยู่ที่ 29 มิลลิวินาที ส่วนกล้องคอมแพ็กต์ดิจิทัลยุคแรก ๆ อย่างเช่น Nikon Coolpix L3 กล้องดิจิทัลราคาประหยัดที่ออกขายเมื่อปี ค.ศ. 2006 มีค่า Shutter Lag สูงมาก อยู่ที่ 1800 มิลลิวินาที (เกือบ 2 วินาทีกว่าจะบันทึกภาพ) ส่วนหนึ่งมีสาเหตุจากตัวประมวลผล (Processor) ที่มีความเร็วค่อนข้างต่ำนั่นเอง

กล้อง Olympus Camedia และ กล้อง Nikon Coolpix L3
ซ้าย: กล้อง Olympus Camedia C-765 Zoom มีค่า Shutter Lag อยู่ที่ 1.21 วินาที
ขวา: กล้อง Nikon Coolpix L3 มีค่า Shutter Lag อยู่ที่ 1.8 วินาที
ภาพ: dpreview.com

การถ่ายภาพกระโดดให้ได้จังหวะเหมาะเหม็ง เราต้องทำความคุ้นเคยกับกล้องของเราให้ดีจนสามารถรู้ได้ว่าจะต้องกดชัตเตอร์ตอนไหน เพื่อหลีกเลี่ยงผลของ Shutter Lag และให้ได้ภาพอย่างที่ต้องการ สุดท้ายที่อยากจะฝากไว้คือ กล้องในโทรศัพท์มือถือที่เรา ๆ ท่าน ๆ ใช้กันอยู่ตลอด ก็มี Shutter Lag เหมือนกันนะครับ เพราะฉะนั้นเราจะต้องซ้อมมือบ่อย ๆ เพื่อที่จะได้ไม่พลาดการเก็บภาพจังหวะสำคัญ

เรื่องโดย: จุลล์ จูงวงศ์