Grid Brief

  • กัญชาในวันนี้ ไม่ได้ใช้เป็นเพียงยารักษาโรคเท่านั้น แต่ยังนำมาปรุงเป็นอาหารขึ้นโต๊ะ ช่วยในการเจริญอาหารและช่วยให้รู้สึกผ่อนคลาย
  • พืชสมุนไพรอย่างกัญชา นิยมนำมาสกัดเป็นสารที่เรียกว่า CBD มักจะนำมาทำเป็นน้ำมันกัญชาเพื่อใช้บรรเทาอาการเจ็บปวดเรื้อรัง
  • กัญชงกับกัญชาเป็นพืชในตระกูลกัญชาเหมือนกัน แต่มีความแตกต่างกันตรงปริมาณของสารสกัด CBD และ THC

ในอดีตกัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษชนิดหนึ่ง แต่ปัจจุบันกัญชาเป็นที่พูดถึงกันมาก เพราะใช้เป็นยาในการรักษาโรคบางชนิด ทั้งยังมีการนำมาใช้ปรุงอาหารเพื่อช่วยในการเจริญอาหาร ถึงแม้ว่าการบริโภคกัญชาจะค่อนข้างเสรีมากกว่าเดิม แต่ก็ยังมีข้อจำกัดในการบริโภคสำหรับบางคนเช่นกัน

กัญชาในพิธีกรรมทางศาสนา

กัญชาจัดเป็นพืชที่ปลูกกันมายาวนานมากที่สุดชนิดหนึ่งในทวีปเอเชียตะวันออก โดยในอดีตปลูกกัญชาเพื่อใช้ในทางการแพทย์และใช้ในพิธีกรรม ว่ากันว่า มีการเผากัญชาให้รมควันในเตาอั้งโล่ไม้ระหว่างพิธีฝังศพที่สุสาน Jirzankal ของภูมิภาคปามีร์ตะวันออก (Pamirs) ในทวีปเอเชีย เมื่อ 500 ปีก่อนคริสตศักราช รวมทั้งมีการใช้กัญชาในกิจกรรมทางศาสนาของจีนตะวันตกอย่างน้อยเมื่อ 2500 ปีที่ผ่านมา 

สำหรับการบริโภคกัญชาที่ใช้ในพิธีกรรมนั้น มีทั้งการกินและการสูดดมจากไอระเหยที่เกิดจากการเผาไหม้ เนื่องจากควันของกัญชามีสารที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทระดับสูง การใช้ในพิธีกรรมทางศาสนาสันนิษฐานว่าน่าจะเพื่อให้เกิดความผ่อนคลายจากอาการเศร้าโศกและคลายเครียดนั่นเอง


กัญชากับกัญชง 

หลายคนอาจสับสนระหว่างกัญชากับกัญชงว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไร  จริง ๆ แล้ว ทั้งสองชนิดนี้เปรียบเสมือนพืชฝาแฝดที่มีหน้าตาและลักษณะคล้ายกันจนแทบแยกไม่ออก เพราะเป็นพืชที่อยู่ในตระกูลกัญชาเหมือนกัน แต่ต่างกันที่สารสกัด โดยสารสกัดจากกัญชาหรือสารแคนนาบินอยด์ (Cannabonoid) ที่นำมาใช้ในทางการแพทย์ จะแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ THC (Delta-9 Tetrahydrocannabinol) กับ CBD (Cannabidol) การจะแยกว่าอันไหนคือกัญชงหรือกัญชา ต้องดูที่สารสกัดเป็นหลัก เช่น สาร THC สูง CBD ต่ำ จะเรียกว่า ‘กัญชา’ (Cannabis หรือ Marijuana) และหากสาร CBD สูง THC ต่ำ เรียกว่า ‘กัญชง’ (Hemp) แต่สำหรับฝั่งยุโรปการแยกพืชสองชนิดนี้มีหลักเกณฑ์ต่างออกไป คือหากพืชในตระกูลกัญชามีสาร THC ไม่เกิน 0.2 จะถูกเรียกว่ากัญชง แต่ถ้าสูงกว่านี้จะเรียกว่ากัญชา

รู้ก่อนใช้ สารสกัด CBD และ THC จากพืชตระกูลกัญชา

กัญชาเป็นสมุนไพรที่มีสารออกฤทธิ์มากกว่า 400 ชนิด แต่ที่นิยมใช้ในทางการแพทย์มีเพียง 2 ชนิด คือ CBD และ THC สารสกัดทั้งสองนี้มีส่วนที่เหมือนและต่างกัน ส่วนที่เหมือนกัน ได้แก่ การช่วยบรรเทาอาการปวดและลดอาการคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัดได้ ส่วนที่แตกต่างกันนั้น สาร THC หากใช้ในปริมาณมากมักทำให้เกิดอาการเคลิบเคลิ้มและมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการความจำเสื่อม ตื่นเต้นง่าย ตลอดจนอาจเกิดอาการทางจิตประสาท หรือการหวาดระแวง 

ในขณะที่สารสกัด CBD ไม่มีฤทธิ์ทำให้มึนเมาแต่ช่วยผ่อนคลายจากความวิตกกังวล และมักไม่พบผลข้างเคียงเหมือนกับสาร THC ปัจจุบันสารสกัด CBD  ใช้ผลิตเป็นยาที่ชื่อว่า ‘Epidiolex’ ซึ่งเป็นยาชนิดเดียวที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (FDA) สำหรับรักษาโรคลมชักชนิดที่ควบคุมด้วยยาไม่ได้ 


กัญชากับการเปิดกว้างในเมืองไทย

ในเมืองไทยดูเหมือนรัฐจะเปิดกว้างสำหรับการผลิตพืชตระกูลกัญชาเพื่อใช้ในทางการแพทย์มากขึ้น จากประกาศล่าสุด เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม พ.ศ.2563 ของกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า  ให้ยกเลิกวัตถุหรือสารต่าง ๆ ที่มีอยู่ในกัญชาว่าเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 โดยระบุไว้ว่า สารในกัญชาที่ไม่จัดว่าเป็นยาเสพติดให้โทษนั้น ได้แก่ ยาง น้ำมัน เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่งก้าน ราก ใบที่ติดยอดหรือช่อดอก 

สำหรับสารสกัดที่มี CBD เป็นส่วนประกอบ จะต้องมี THC ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก รวมทั้งกากหรือเศษที่เหลือจากการสกัดกัญชา และต้องมีสาร THC ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก ทั้งหมดนี้ไม่จัดว่าเป็นยาเสพติดให้โทษ ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 

อย่างไรก็ตาม การปลูกกัญชาสามารถปลูกและผลิตได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายโดยจำกัดเฉพาะบางหน่วยงานเท่านั้น เช่น หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยหรือใช้สำหรับการเรียนการสอนทางการแพทย์ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม เภสัชกรรม หมอพื้นบ้าน สถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่มีหน้าที่ศึกษาวิจัยและจัดการเรียนการสอนด้านการแพทย์หรือเภสัชศาสตร์ และเกษตรกรที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน หรือสหกรณ์การเกษตรที่จดทะเบียนตามกฎหมายและร่วมดำเนินการกับหน่วยงานรัฐหรือสถาบันอุดมศึกษา

 

ข้อห้ามของการใช้กัญชา

ถึงจะมีคุณประโยชน์ทางการแพทย์ แต่อีกด้านหนึ่งกัญชาก็มีโทษอยู่เหมือนกัน เช่น ทำให้เกิดอาการตอบสนองช้า คลื่นไส้ ง่วงนอน วิตกกังวล อัตราการเต้นของหัวใจสูงขึ้น ความดันเลือดต่ำ หวาดระแวง ซึ่งผลข้างเคียงเหล่านี้พบได้มากในสารสกัด THC ในขณะที่สาร CBD แทบไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ ทว่า กัญชาก็ไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคน กลุ่มที่ควรหลีกเลี่ยงการใช้กัญชา ได้แก่ ผู้ที่อายุต่ำกว่า 25 ปี ผู้มีปัญหาเรื่องตับและไตบกพร่อง ผู้ป่วยที่ใช้ยาละลายลิ่มเลือดวาร์ฟาริม ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด ตลอดจนหญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร ควรหลีกเลี่ยงอย่างเด็ดขาด 

Cover Illustration โดย Pattanaphoom P.