Grid Brief

  • ฟุจิโนะ โทมิยะ จิตแพทย์ชาวญี่ปุ่น เจ้าของหนังสือขายดีกว่าแสนเล่มเรื่อง ‘ช่างมันเถอะ! อีกไม่กี่ปีเราก็เป็นเถ้าธุลีกันหมดแล้ว’ ที่สอนมนุษย์ยุค Productivity ให้เลิกพยายามมากเกินไป และหยุดพักมารักตัวเองเสียบ้าง
  • หากเราหยุดพักไม่เป็น กดดันตัวเองมากไป เราอาจล้มป่วยทางกายและทางใจลงสักวัน

ฟุจิโนะ โทมิยะ จิตแพทย์ชาวญี่ปุ่น ผู้เขียน ‘ช่างมันเถอะ! อีกไม่กี่ปีเราก็เป็นเถ้าธุลีกันหมดแล้ว’ หนังสือที่สอนวิธีให้คนที่ ‘หยุดพัก’ ไม่เป็น และพยายามเหลือเกินที่ทำให้คนอื่นพอใจ ยกเว้นตัวเอง ซึ่งเหลือเชื่อว่าเป็นหนังสือที่ขายได้มากกว่าแสนเล่มในญี่ปุ่น และเมื่อแปลเป็นภาษาไทยก็ได้เสียงตอบรับที่ดี สะท้อนว่าผู้คนยุค Productivity นั้นขยันเอาใจคนอื่นกันมาก ชนิดที่หยุดพักไม่เป็นเลยทีเดียว 

อันที่จริงคุณหมอโทมิยะเป็นโรคคาวาซากิที่ส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่หัวใจ ซึ่งเป็นโรคประจำตัวที่รักษาไม่หาย แพทย์เจ้าของไข้พยากรณ์โรคไม่ได้ด้วยซ้ำว่า ‘เด็กชาย’ จะมีชีวิตจนถึงวัยที่เป็น ‘นาย’ หรือเปล่า 

เขาจึงโตมาด้วยความประคบประหงมจากครอบครัวที่ห้ามเขาทำโน่นทำนี่เต็มไปหมด เช่น ห้ามวิ่ง ห้ามออกกำลังกาย ห้ามใช้แรงมากเกินไป ห้ามทำให้ตัวเองเหนื่อย และต้องกินยาต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ 

โรคประจำตัวนี้ทำให้เขาครุ่นคิดถึงการอยู่กับการตายราวกับเป็นเรื่องธรรมดา และตระหนักเสมอว่าเขาอาจมีชีวิตสั้นกว่าคนอื่น หากจะเป็นเช่นนั้น ก็ขอให้ช่วงเวลาที่มีชีวิต ได้อยู่อย่างอิสระและมีความหมายที่สุดเถอะ จนกลายเป็นแรงผลักดันให้เขาหันมารับฟังความรู้สึกของตัวเองก่อน และไม่ผูกสัมพันธ์กับคนที่มาเติมยาพิษให้ชีวิต เพราะอาจทำให้เขาที่ป่วยทางกายอยู่แล้ว ต้องป่วยทางใจเพิ่มขึ้นมาก็เป็นได้

คุณหมอเขียนเตือนใจตนเองไปพร้อม ๆ กับปลอบโยนผู้อื่นในโซเชียลมีเดียอย่างสั้น ๆ จนรวบรวมได้เป็นเล่ม และใช้ชื่อในภาษาไทยว่า ‘ช่างมันเถอะ! อีกไม่กี่ปีเราก็เป็นเถ้าธุลีกันหมดแล้ว หนังสือที่อุทิศให้ทุกคนที่พยายามมากเกินไป และมักเป็นฝ่ายปรับตัวให้เข้ากับค่านิยมของคนอื่น 

หากคุณเป็นคนคนนั้นอยู่ คำแนะนำของคุณหมอฟุจิโนะ โทมิยะอาจเป็นใบสั่งยาที่คุณมองหาก็เป็นได้

25 ข้อคิดแด่เธอผู้พยายามมากเกินไป 

ข้อคิดและคำแนะนำจากหนังสือ ‘ช่างมันเถอะ! อีกไม่กี่ปีเราก็เป็นเถ้าธุลีกันหมดแล้ว’ โดยจิตแพทย์ชาวญี่ปุ่น ฟุจิโนะ โทมิยะ 

  1. เมื่อไรก็ตามที่รู้สึกว่า “ต้องพยายามมากกว่านี้” ให้ลองถามตัวเองด้วยว่า “นี่เรากำลังพยายามมากเกินไปหรือเปล่า” 
  2. หัดพูดว่า “ช่างมันเถอะ” กับเรื่องส่วนใหญ่ในชีวิตบ้างก็ได้
  3. แม้จะใช้ชีวิตอย่างล้มลุกคลุกคลานอยู่บ่อย ๆ แต่ก็ถึงเวลาที่ต้องโอบรับตัวเองแล้ว จงกล่าวขอบคุณ ให้กำลังใจ และใจดีกับตัวเอง 
  4. ใช้วิธีมองด้วยมุมกว้าง เช่น ครั้งแรกคุณทำพลาด แต่ทำสำเร็จในครั้งที่ 9 โดยรวมแล้วจึงถือว่าโอเค หรือเรื่องนี้ฉันอาจบกพร่อง แต่มีเรื่องอื่นอีกเยอะแยะที่ฉันทำได้ดี 
  5. แค่ได้รู้ว่า “มีทักษะแบบนี้ด้วย” ชีวิตเราก็เปลี่ยนไปจากเดิมนิดหน่อยแล้ว
  6. เมื่อเราขยายขอบเขตของคำว่า “เดี๋ยวก็มีทางออกเอง” สิ่งที่จะเกิดตามมาคือ “ความรู้สึกว่ายังไหวอยู่” และทัศนคติแบบนี้จะทำให้คุณเป็นคนที่มีความสุขได้ง่าย 
  7. “อารมณ์โกรธ” และ “การแสดงความโกรธ” เป็นคนละอย่างกัน หากรู้สึกโกรธขึ้นมา สิ่งสำคัญคือการหยุดอยู่นิ่ง ๆ สักพัก เพื่อจัดระเบียบความรู้สึกของตัวเอง แล้วพิจารณาต่อว่า “เราควรแสดงออกอย่างไรดี” 
  8. อารมณ์โกรธไม่ใช่เรื่องแย่ บางครั้งก็ถูกเรียกว่า “ความเจ็บปวดทางจิตใจ” 
  9. เป็นเพราะความไม่รู้ คุณถึงกังวลยังไงล่ะ ดังนั้นการลดทอนเรื่องที่ไม่รู้จึงสำคัญ 
  10. การใส่คำว่า “ฉันตัดสินใจ…” จะทำให้เราทำสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างอิสระ เช่น ฉันตัดสินใจว่าจะยอมรับตัวเองในแบบที่เป็น (ไม่ใช่บอกตัวเองว่า ฉันยอมรับตัวเอง) หรือถ้าคิดว่าเหนื่อยจัง ถึงจะต้องบังคับตัวเองสักหน่อย แต่ฉันก็ตัดสินใจว่าจะต้องหยุดพัก (ไม่ใช่บอกตัวเองว่า ฉันอยากหยุดพัก) 
  11. ส่วนใหญ่คนที่บอกว่าเหนื่อยกับชีวิต คือ คนที่พึ่งพาใครไม่เป็น จนตัวเองเริ่มอ่อนล้าลงเรื่อย ๆ แต่หากมีใครสักคนที่คุณสามารถพูดกับเขาได้ว่า “ช่วยฉันหน่อยสิ” เท่านี้ก็บรรเทาความอ่อนล้าไปได้มากแล้ว
  12. วิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้ใจสงบ คือ การแทบไม่คาดหวังกับใครเลยตั้งแต่แรก ไม่ว่ากับตนเองหรือคนอื่น ถึงเราจะไม่สมบูรณ์แบบ ไม่ได้สลักสำคัญ แต่ทำผิดพลาดบ้าง แต่ก็ไม่เป็นเป็นไรเลยนี่
  13. การรักตัวเองคือการยอมรับตัวเองอย่างไม่มีเงื่อนไข ไม่ใช่ว่าเราจะรักตัวเองด้วยเหตุผลว่า “เพราะฉันทำสิ่งนั้นสิ่งนี้เป็น” “เพราะฉันพยายามกว่าใคร” หรือ “เพราะฉันเก่ง ฉันดีเลิศกว่าใคร”
  14. เวลาไปงานเลี้ยงก็มีแต่คนที่อยากพูดเรื่องของตัวเอง แต่สิ่งจำเป็นในการสื่อสารไม่ใช่การฝึกพูด แต่เป็นการฝึกไม่พูดและเป็นผู้ฟังที่ดี
  15. การคบหาเฉพาะคนที่เราอยากคบด้วย คือ สิ่งสำคัญที่ทำให้เราไม่ต้องฝืนพยายามมากเกินไป และยังถือเป็นความสุขในแบบของตัวเองได้อีกด้วย
  16. หากกำลังมีปัญหาเรื่องการถูกเกลียด ลองคิดว่า “ถึงจะถูกคนคนนั้นเกลียด แต่ฉันก็ไม่รู้สึกเศร้า”  
  17. “เวลา” มีค่าเท่ากับ “ช่วงชีวิต” ดังนั้น จงอย่าสูญเสียช่วงชีวิตอันมีค่าของคุณไปกับคนที่ให้อภัยไม่ได้ 
  18. คำว่า “ก้าวไปข้างหน้า” ไม่รู้ใครเป็นคนกำหนดว่าทิศทางนั้นคือ “ข้างหน้า” เช่น การอดทนกับหัวหน้าที่หยาบคาย เรียกว่าเป็นความก้าวหน้าจริงหรือเปล่า 
  19. “ถ้าเหนื่อยก็พัก” บางคนกลับรู้สึกเหมือนกำลังทำผิดอะไรสักอย่าง แต่เราสามารถพักผ่อนหรือทำตัวสบาย ๆ ได้ทั้งนั้น เพราะเราต้องเก็บออมพลังงานไว้สำหรับวันดี ๆ ไงล่ะ 
  20. ถ้าทำสิ่งต่าง ๆ อย่างเกินกำลังเสมอ เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น คุณจะรู้สึกว่าทุกอย่างมันหนักหนาไปหมดจนเกินจะรับมือไหว
  21. สภาวะซึมเศร้ากับโรคซึมเศร้าไม่เหมือนกัน สิ่งที่ต้องทำเมื่อเป็นโรคซึมเศร้าคือไปหาหมอ ส่วนถ้าตกอยู่ในสภาวะซึมเศร้าคือ “พักก่อน” เนื่องจากจิตใจกำลังเหนื่อยล้าจจากการรับมือกับความผิดหวังเสียใจ 
  22. ตอนที่รู้สึกเหนื่อย เราจะเปลี่ยนการบอกตัวเองว่า “ฉันพยายามแล้ว” หรือ “วันนี้ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเลย” ไปเป็นการชมตัวเองที่ตื่นนอน ล้างหน้า แต่งตัว ไปทำงาน ฝืนยิ้มและคุยกับคนที่ไม่ชอบหน้า นั่งหน้าคอมพิวเตอร์และทำสิ่งต่าง ๆ ได้ “แค่นี้ก็เก่งมากแล้ว”
  23. บางคนรู้สึกผิดที่ต้องลาหยุด กลัวว่าจะทำให้คนอื่นงานโหลดขึ้น ถ้าหยุดพัก ครอบครัวจะขาดรายได้ ฯลฯ แต่ถ้ายังฝืนต่อไป คุณจะล้มป่วยในสักวัน 
  24. ถ้าดูทีวี อ่านหนังสือ หรือเล่นโซเชียลแล้วไม่รู้เรื่อง นี่อาจเป็นสัญญาณพฤติกรรมผิดปกติที่ร่างกายกำลังบอกว่า “เราอาจเหนื่อยหรือกดดันตัวเองมากเกินไปก็ได้” 
  25. คุณไม่จำเป็นต้องบังคับตัวเองให้ลองทำอะไรใหม่ ๆ หรืออ่านหนังสือเพื่อพยายามเปลี่ยนแปลงตัวเอง แม้แต่การอ่านบทความนี้เช่นกัน เมื่อไรที่รู้สึกเหนื่อยล้าก็แค่เข้านอนเลย 

รูปโดย: Freepik