Grid Brief

  • การนอนหลับมากผิดปกติ (Hypersomnia) หมายถึง การนอนหลับที่มากเกิน 9 ชั่วโมงต่อวัน นอนเท่าไหร่ก็ไม่อิ่ม ขี้เซา ง่วงนอนตลอดเวลา และมักจะงีบกลางวันวันละหลายครั้ง
  • การนอนหลับมากผิดปกติอาจไม่ได้เกี่ยวกับพฤติกรรมเสมอไป แต่สะท้อนถึงปัญหาเชิงลึกด้านสุขภาพกายและจิตใจ
  • โรคนอนหลับมากผิดปกตินั้นไม่เพียงแต่ส่งผลเสียต่อสุขภาพทางกาย แต่ยังส่งผลร้ายต่อจิตใจด้วย

เคยมีอาการแบบนี้กันไหม นอนขี้เซา นอนเท่าไหร่ก็ไม่พอ รู้สึกง่วงนอนตลอดเวลา หรือมักแอบไปงีบกลางวันวันละหลายครั้ง หากว่าคุณมีอาการเข้าข่ายเหล่านี้ ลองตรวจสอบเพิ่มอีกนิดว่าในแต่ละวัน คุณนอนเกิน 9 ชั่วโมงด้วยหรือไม่ เพราะการนอนหลับที่มากเกินไปนั้น อาจมีสาเหตุจากปัญหาสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจ ใช่ว่าจะเกี่ยวกับพฤติกรรมเกียจคร้านเสมอไป 

Credit: Lookstudio

นอนเกิน 9 ชั่วโมงเสี่ยงเป็น Hypersomnia

การนอนมากไปก็ไม่ดี นอนน้อยไปก็ไม่ควร แล้วการนอนหลับที่พอดีนั้น ควรนอนวันละกี่ชั่วโมงกันแน่ 

ข้อมูลจากเว็บไซต์ Sleep Foundation ระบุว่า การนอนหลับที่มากเกิน 9 ชั่วโมงต่อวัน ถือเป็นการนอนที่มากเกินไป หรือทางการแพทย์เรียกว่า Hypersomnia ซึ่งอาจจะไม่เกี่ยวกับพฤติกรรมหรือบุคลิกภาพ แต่เป็นการเสพติดการนอนหลับที่ผิดปกติ และสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งวัยเด็กและผู้ใหญ่

อาการของโรคนี้ ผู้ป่วยจะง่วงเหงาหาวนอนอยู่ตลอดเวลา เหมือนคนนอนไม่เต็มอิ่ม ปวดศีรษะเพราะนอนมากเกินไป ไม่มีชีวิตชีวา มีอาการเฉื่อยชา ขาดพลัง ไม่ค่อยสดชื่น นอกจากนี้ ยังอาจมีอาการหงุดหงิดง่าย มึนงง สมองช้า จำอะไรไม่ค่อยได้ รวมไปถึงสภาพจิตใจอาจมีความวิตกกังวล เครียด และมีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย 

อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งต้องทำงานหนักติดต่อกันมาหลายคืนและทำให้พักผ่อนน้อยกว่าปกติ หรืออ่านหนังสือสอบจนไม่ได้นอน หรือการต้องเปลี่ยนแปลงเวลานอนกะทันหันจากการเดินทางไปต่างประเทศ ทำให้นอนไม่หลับ ปัจจัยเหล่านี้อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ร่างกายชดเชยการนอนที่หายไป จึงส่งผลให้นอนหลับยาวนานกว่าปกติได้เช่นเดียวกัน 

การนอนหลับมากผิดปกติอาจไม่ได้เกี่ยวกับพฤติกรรมเสมอไป แต่สะท้อนถึงปัญหาเชิงลึกด้านสุขภาพกายและจิตใจ

สุขภาพไม่ดี…มีผลต่อการนอนนานเกิน

ทางการแพทย์ระบุว่า สาเหตุของการนอนหลับมากกว่าผิดปกติอาจเกิดจากปัญหาทางด้านสุขภาพได้หลายสาเหตุ เช่น เกิดภาวะหยุดหายใจชั่วคราวขณะนอนหลับ ซึ่งผู้ป่วยที่มีอาการดังกล่าวมักจะกรนและสำลักในเวลากลางคืน ทำให้นอนหลับไม่สนิท และอาจมีอาการง่วงนอนในระหว่างวัน หรือมักจะงีบช่วงกลางวันนานเพื่อชดเชยการนอนหลับไม่เพียงพอในเวลากลางคืน 

นอกจากนี้ ยังพบว่าการป่วยเป็นโรคลมหลับ (Narcolepsy) ก็มีผลทำให้ผู้ป่วยมีอาการง่วงนอนตลอดเวลา และมักจะหลับในช่วงเวลาต่าง ๆ อย่างผิดปกติ รวมไปถึงผู้ป่วยอาจมีอาการคล้ายกำลังหลับ เช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง คอตก และถึงแม้ว่าจะนอนอย่างเต็มอิ่มแล้ว ก็จะยังมีอาการง่วงนอนอยู่ตลอดเวลา จนส่งผลกระทบทางด้านบุคลิกภาพ การทำงานและการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก

Credit: Sharon McCutcheon

นอนเกินไม่ดีต่อสุขภาพ

โรคนอนหลับมากผิดปกตินั้นไม่เพียงแต่ส่งผลเสียต่อสุขภาพทางกาย แต่ยังส่งผลร้ายต่อจิตใจอีกด้วย เช่น กลายเป็นโรคซึมเศร้าได้ง่าย สมองเฉื่อยชา คิดอะไรเชื่องช้า ไม่มีแรง ขาดความกระปรี้กระเปร่า ไม่อยากขยับตัวหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ นอกจากนี้ ยังส่งผลให้เกิดโรคอ้วนได้ง่าย เนื่องจากร่างกายใช้เวลาไปกับการนอนมากเกิน จนไม่เกิดการเผาผลาญ ตลอดจนมีอารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่ายกว่าคนปกติ รวมไปถึงเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเร็ว อันเนื่องมาจากร่างกายไม่ได้ขยับ ทำให้ออกซิเจนภายในตัวน้อยกว่าผู้ที่นอนหลับ 7-8 ชั่วโมงต่อวัน

อย่างไรก็ดี เพื่อป้องกันการนอนมากเกิน วิธีแก้ไขที่สามารถทำได้เบื้องต้น เช่น ควรหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ปรับเวลานอนให้ตรงเวลาทุกวัน และตื่นนอนให้เป็นเวลา เพื่อให้ร่างกายจดจำนาฬิกาชีวิต หากิจกรรมก่อนนอนเพื่อช่วยผ่อนคลาย ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือ อาบน้ำอุ่นก่อนนอน หรือหาเครื่องดื่มอุ่น ๆ รองท้อง เพื่อช่วยให้นอนหลับสบาย ทั้งนี้ หากพบว่ายังมีภาวะนอนเกินจนไม่สามารถแก้ไขได้ ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อหาทางรักษาให้หายขาด