ท่ามกลางขุนเขาที่ตั้งสูงตระหง่าน เหล่าทัพหน้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) กำลังครุ่นคิดถึงวิธีขนย้ายแท่งปูนหนักกว่าครึ่งตันขึ้นไปยังจุดหมายปลายทาง เพราะงานนี้ไม่เหมือนที่ผ่านมา

ทางลาดยางที่เคยราบเรียบกลับกลายเป็นดินลูกรังขรุขระ ถนนที่เคยกว้างเหลือเพียงทางแคบๆ ตามไหล่เขา พอให้รถกระบะขับผ่านได้ ระนาบพื้นที่เคยทอดยาว กลับลาดชันยิ่งนัก ดูแล้วงานนี้ยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา เพราะต้อง ‘แบกเสาขึ้นภูเขา’ นี่แหละ

ชาวบ้านหลายคนกำลังช่วยกันยกเสาไฟ

“รอคอยมาทั้งชีวิต ขอบคุณหัวหน้ามากๆ เลย”

ลุงคนหนึ่งเล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงชาวลัวะเสียงสั่นเครือ พร้อมยกมือพนมไว้เหนือหัว แววตาเปี่ยมความรู้สึก ทั้งคำขอบคุณ ความสุข และความหวัง บทสนทนาเป็นไปอย่างออกรสชาติ ลุงเล่าถึงความเป็นอยู่ที่แสนยากลำบาก วิถีชีวิตที่ไม่มีแสงไฟฟ้า ได้แต่รอคอยแสงจากฟากฟ้า เป็นความยากลำบากที่เราไม่เคยสัมผัส ฟังไปน้ำตาก็คลอเบ้าด้วยความสงสารจับใจ เมื่อได้ยินลุงพูดว่า “เจ็บป่วยที ก็รอแค่วันตาย” นั่นเพราะ

ภาพชาวบ้านผู้ชายยืนอยู่ที่หน้าต่าง ผูกลูกไว้ที่หลัง

วัคซีนจำเป็นต้องเก็บในที่อุณหภูมิต่ำพอ เมื่อไม่มีไฟฟ้าก็ไม่มีตู้เย็น ต่อเมื่อมีไฟฟ้าแล้ว สุขศาลา* ถึงเก็บวัคซีนไว้รักษาชาวบ้านได้ เราพลันหันไปเห็นกองฟืนมากมายวางเรียงรายอยู่ใต้ถุนบ้าน ฟืนที่ไว้ก่อไฟหุงข้าว แต่ถ้ามีไฟฟ้าใช้ ชาวบ้านก็หุงข้าวด้วยหม้อหุงข้าวไฟฟ้า การใช้ฟืนก็น้อยลง ต้นไม้ที่ถูกตัดก็คงลดลงตามไปด้วย

อีกแค่ 6 กิโลเมตรจากปลายสายที่ระบบจำหน่ายไฟฟ้าจะถึงหมู่บ้านขุนน้ำจอนและบ้านห้วยลัวะ ถนนตามไหล่เขาที่ใช้สัญจรไปมาแคบเกินกว่าที่จะนำรถเครนเข้าไปปฏิบัติงานได้ ทางองค์การบริหารส่วนตำบลนางพญาได้อาสาเข้ามาขุดถนนเกลี่ยดินเพิ่มความกว้างของถนนให้กองทัพมดงานของ PEA เข้าไปปฏิบัติงานในพื้นที่ต่อได้

115 ต้น คือจำนวนเสาคอนกรีตอัดแรงขนาด 12 เมตร ที่ปักลงในดินด้วยความลึก 2 เมตรจากน้ำพักน้ำแรงของทีมก่อสร้าง PEA และชาวบ้านเกือบ 200 ชีวิต

ผู้ตั้งตารอให้ไฟฟ้ามาถึงหมู่บ้านของตนจนทนแทบไม่ไหว ทั้งผู้ชาย ผู้หญิง คนเฒ่าคนแก่ แบ่งหน้าที่กันเป็นกิจจะลักษณะ บ้างขนเสา บ้างขุดหลุม บ้างกลบหลุมเสา บ้างแบกสมอ แต่งานที่ใช้คนเยอะสุดเห็นจะเป็นการลากสาย ด้วยความคดเคี้ยวของเส้นทาง รวมถึงแนวต้นไม้ใหญ่ที่สูงตระหง่านคอยขัดขวางการทำงานให้ยากขึ้นไปอีกเท่าตัว

ชาวบ้าน 200 ชีวิตร่วมมือร่วมใจกันลากสายขึ้นไปตามไหล่เขาอันเลี้ยวลดคดเคี้ยว ประหนึ่งงูยักษ์กำลังขดตัวผ่านลำห้วย หุบเหว และต้นไม้ใหญ่ไปยังจุดหมายปลายทางอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เว้นแม้แต่เด็กๆ ที่สนุกสนานกับการวิ่งเสิร์ฟน้ำให้พี่ๆ PEA เป็นภาพที่นึกถึงทีไรก็อดยิ้มไม่ได้เลยสักครา

ทว่า แท่งปูนคอนกรีตยาว 8 เมตร หนักกว่าครึ่งตันอีกจำนวน 35 ต้นหลังจากนี้ รถสีส้มป้าย PEA ติดแขนยนต์อันใหญ่ที่มีไว้ยกเสาลงหลุมนั้นไม่สามารถขึ้นไปได้ ทางเดียวที่งานจะสำเร็จได้คือ ต้องแบกมันขึ้นไปด้วยแรงคนเท่านั้น ชาวบ้านไม่รอช้าช่วยกันหาอุปกรณ์ในการขนย้ายแท่งปูนอันหนักอึ้งประหนึ่งหินก้อมมหึมานี้ มาช่วยพนักงานก่อสร้างของ PEA อย่างว่องไว ไม่ว่าจะเป็นท่อนไม้ขนาดเท่าแขน เชือกเส้นใหญ่ หรือแม้แต่ยางนอกของรถมอเตอร์ไซค์ และอุปกรณ์เท่าที่หาได้มาช่วยกันแบกเสา กำลังคนเกือบ 100 ชีวิตส่งเสียงตะโกนให้จังหวะการยกและการก้าวเดินดังลั่นเขาแถบนั้นเป็นระยะๆ  ไม่ว่าใครได้ยินก็รู้สึกฮึกเหิมไปด้วยเหมือนกำลังจะออกรบเลยทีเดียว

“หัวหน้าไม่ต้องครับ ผมพาเสาขึ้นไปให้”  แม้น้ำเสียงอาจดูเหนื่อยล้าออกมาจากปากผู้นำหมู่บ้าน แต่เจ้าตัวยังฝืนว่ายังไหว เพื่อแสดงให้เห็นว่าพวกเขาสู้ขนาดไหน

“ไม่ได้หรอกครับ พวกเรามาช่วยกันน่าจะเสร็จไวกว่า” คำตอบที่ดูนอบน้อมนี้เป็นของชายหนุ่มเสื้อม่วงที่กำลังยกไม้คานอันหนักอึ้งขึ้นบ่า

บทสนทนาที่ได้ยินแล้วชวนให้รู้สึกอิ่มอกอิ่มใจนี้สร้างพลังใจให้ทุกคนสู้ไม่ถอย ทำงานแข่งกับแสงสว่างจากธรรมชาติ แต่ที่สุดตะวันก็ค่อยๆ เลือนลับจากขอบฟ้าไป พร้อมกับควันไฟที่ลอยเอื่อยๆ

จากกระท่อมหลังน้อยมาพร้อมกลิ่นหอมเย้ายวนชวนหิวยิ่งนัก กับข้าวหมู่บ้านนี้ถูกปรุงแต่งรสชาติด้วยน้ำใจของชาวบ้าน นำมาเสิร์ฟให้ชายหนุ่ม 9 คนที่สวมเสื้อที่มีตัวอักษร PEA อยู่บนหน้าอก ให้ทุกคนได้กินอิ่มในทุกๆ มื้อ น้ำใจที่มีให้กันเหล่านี้สร้างพลังใจให้พวกเขาได้สู้ในวันต่อๆ ไปนับตั้งแต่เมื่อแสงตะวันเริ่มสาดส่องขาทราย

นวัตกรรมในการยกเสาลงหลุมด้วยแรงคนเหล่านี้ ถูกสร้างขึ้นจากไม้ไผ่และเชือก นำมาวางเรียงรายพร้อมใช้งาน การนำเสาปูนลงหลุมแต่ละต้นเป็นไปอย่างทุลักทุเล แต่บรรยากาศการทำงานกลับมีความสุขมากกว่าที่คิด เสียงหัวเราะและรอยยิ้ม ทำให้ลืมความเหนื่อยล้าที่สะสมมาทั้งวันเป็นปลิดทิ้ง 

วันแล้ววันเล่าผ่านไปอย่างรวดเร็ว 45 วันในการบุกป่า ฝ่าดง ถางพง เพื่อเดินสายไฟเป็นอันเสร็จลุล่วง

จากแผนงานที่วางไว้ 60 วันนับตั้งแต่สำรวจเส้นทางได้เสร็จสิ้นพร้อมจ่ายไฟฟ้าให้กับชาวบ้านขุนน้ำจอนและบ้านห้วยลัวะ 2 หมู่บ้านสุดท้ายของอำเภอบ่อเกลือ จังหวัดน่าน ให้ได้มีไฟฟ้าใช้ตลอด 24 ชั่วโมง สร้างความอิ่มเอมใจให้ชาวบ้านยิ่งนัก ผู้นำหมู่บ้านทำพิธีบายศรีสู่ขวัญบอกกล่าวเจ้าป่าเจ้าเขาเจ้าของพื้นที่ให้ทราบถึงวันดีวันนี้ 4 มีนาคม 2563 วันที่ได้ใช้ไฟฟ้าที่มีความมั่นคงและมีคุณภาพสักที หลังจากอยู่ในความมืดมิดท่ามกลางป่าเขามาชั่วชีวิต จากนั้นก็มีพิธีบายศรีสู่ขวัญที่จัดให้พนักงานและลูกจ้าง PEA โดยพ่อหมอประจำหมู่บ้าน

การผูกด้ายสายสิญจน์ที่ข้อมือ เปรียบเสมือนการรับขวัญ ให้พร และการผูกสัมพันธ์กันในแบบความเชื่อโบราณ ว่าที่นี่ยินดีต้อนรับท่านผู้เปรียบเสมือนลูกหลานของที่แห่งนี้เสมอ

พิธีนี้เหมือนต้องมนต์บางอย่าง สะกดให้บรรยากาศเต็มไปด้วยน้ำตาที่เปี่ยมไปด้วยความสุข เต็มไปด้วยความผูกพัน น้ำตาแห่งผู้ให้และผู้รับ เป็นสายสัมพันธ์ระหว่างพนักงานและชาวบ้านที่เกิดขึ้นอย่างไม่รู้ตัว

ชาวบ้านผูกสายสิญจน์ที่ข้อมือให้พนักงาน PEA เป็นการผูกสัมพันธ์และต้อนรับเหมือนเป็นลูกเป็นหลาน

นับจากนี้ไปเด็กๆ จะมีแสงสว่างตอนกลางคืนให้ทำการบ้านอ่านหนังสือ มีโทรทัศน์เพื่อศึกษาหาความรู้ และสร้างความบันเทิง ชาวบ้านมีไฟฟ้าใช้หุงข้าว มีตู้เย็นไว้เก็บรักษาและถนอมอาหาร สุขศาลา…สถานพยาบาลได้มีตู้เย็นเก็บวัคซีน และความเจริญต่างๆ จะค่อยๆ ตามเข้ามา ทำให้คุณภาพชีวิตของคนที่นี่ดีขึ้น

ส่วน PEA จะยังคงยืนหยัดคู่ประชาชนชาวไทย ไม่ว่าจะใกล้หรือไกล เราสัญญาว่าจะนำแสงสว่างไปให้คนไทย เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของทุกคน

จากผู้เขียน

ภาพหลายภาพอาจเลือนหายไปบ้างตามกาลเวลา แต่ภาพบางภาพกลับถูกจดจำไปอีกนานแสนนาน มุมมองผ่าน Viewfinder ของผมช่วยหยุดเวลาและสร้างความทรงจำให้บุคคลแค่กลุ่มหนึ่ง แต่บทความชิ้นนี้ จะช่วยเปิดและย้ำเตือนความทรงจำให้อีกหลายคนว่าเรามาจากจุดไหน มีหน้าที่อะไร และกำลังทำอะไรอยู่ 

ผมตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้เห็นอะไรใหม่ๆ ภาพเหล่านี้บางคนอาจรู้สึกเฉยๆ เพราะเมื่อสมัยก่อนก็ทำกันแบบนี้ แต่สำหรับผมแล้วความพิเศษไม่ได้อยู่ที่วิธีการ แต่กลับอยู่ที่น้ำใจที่มีให้กัน ความสัมพันธ์ของช่าง PEA กับชาวบ้าน เกิดขึ้นจากความไว้ใจ เชื่อใจ และเข้าใจกัน เงินลงทุนการก่อสร้างราว 5 ล้านบาทที่ PEA ลงทุนไปอาจจะไม่มีวันได้คืนทุน แต่แลกกับการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้คนไทยด้วยกันแล้ว มันคุ้มเสียยิ่งกว่าคุ้ม งานนี้ PEA จึงทำเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวไทยอย่างแท้จริง

ล้อมกรอบ

100% เป็นคำศัพท์ทางเทคนิคของชาว PEA หมายถึง การมีไฟฟ้าใช้ได้แล้วในพื้นที่นั้นๆ*‘สุขศาลา’ เป็นชื่อเรียกสถานพยาบาลตามท้องที่ต่างๆ ในอดีต ซึ่งปัจจุบันกลายมาเป็นสถานีอนามัย โรงพยาบาลชุมชน หรือโรงพยาบาลอำเภอ

เรื่องและภาพถ่ายโดย กุลบุตร จินันทุยา PEA CREATOR